รีเซต

ฮิกันบานะ ดอกไม้แห่งความตาย สีสันจัดจ้าน สัญญาณก่อนใบไม้เปลี่ยนสีญี่ปุ่น

ฮิกันบานะ ดอกไม้แห่งความตาย สีสันจัดจ้าน สัญญาณก่อนใบไม้เปลี่ยนสีญี่ปุ่น
Muzika
18 ตุลาคม 2567 ( 11:45 )
31.8K

     หนึ่งในดอกไม้ที่ถ้าใครเป็นคอซีรีย์ หรืออนิเมะญี่ปุ่นน่าจะเคยเห็นอยู่บ่อยๆ สำหรับ ฮิกันบานะ (彼岸花) โดยจะบานสะพรั่งดูงดงามช่วงปลายเดือนกันยายน ต้นตุลาคม ที่ญี่ปุ่นกำลังโบกมืออำลาหน้าร้อน ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง เป็น สัญญาณก่อนใบไม้เปลี่ยนสี นั่นเอง แต่เราจะไม่ค่อยเห็นคนญี่ปุ่นเขาไปเที่ยวชมทุ่งดอกฮิกันบานะเหมือนอย่างดอกไม้ชนิดอื่นๆ กันซักเท่าไหร่ นั่นเพราะความเชื่อแต่โบราณว่ามันคือ "ดอกไม้แห่งความตาย" นั่นเอง

 

ดอกฮิกันบานะ สัญญาณก่อนใบไม้เปลี่ยนสีญี่ปุ่น

 

     ดอกฮิกันบานะ (Higanbana / ภาษาอังกฤษ : Spider Lily) มีชื่อเรียกภาษาไทยว่าดอกพลับพลึงแดง จะบาน 2 ครั้งในหนึ่งปี คือช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของฤดูใบไม้ผลิ (18 - 23 มีนาคม) ครั้งที่สองจะอยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของฤดูใบไม้ร่วง (ราวๆ 18 - 23 กันยายน) ซึ่งสองช่วงนี้เขาจะเรียกว่าวัน "วสันตวิษุวัต" เป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกอย่างพอดิบพอดี ทำให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนนั่นเอง

 

 

     ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกวันวสันตวิษุวัตว่า ฮิกัน ดอกฮิกันบานะจึงหมายถึง ดอกไม้ที่บานในช่วงวันวสันตวิษุวัต นอกเหนือจากนั้นแล้ว มันยังมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกมากมาย ได้แก่

 

  • มันจูชาเกะ (曼珠沙華) แปลว่า ดอกไม้แห่งสวรรค์
  • ชิบิโตะบานะ (死人花) แปลว่า ดอกไม้คนตาย
  • จิโกคุบานะ (地獄花) แปลว่า ดอกไม้นรก
  • ยูเรบานะ (幽霊花) แปลว่า ดอกไม้วิญญาณ

 

 

     ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นชื่อเรียกน่ากลัวๆ ทั้งนั้น ยกเว้นชื่อ มันจูชาเกะ เป็นชื่อที่มาจากเรื่องในพระไตรปิฎกของศาสนาพุทธ แต่ก็มักจะหมายถึงดอกพลับพลึงขาวเสียมากกว่า

 

ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับความตายของฮิกันบานะ

 

 

     ดอกไม้สีสวยขนาดนี้แต่เหตุใดจึงถูกนำไปเชื่อมโยงกับความตายได้ล่ะ? อันนี้คงต้องเล่าย้อนกลับไปสมัยที่ชาวญี่ปุ่นยังจัดพิธีศพด้วยการฝังดิน เมื่อยังไม่มีการเผาก็ต้องปล่อยให้ซากนั้นเน่าเปื่ยผุผังอยู่ภายใต้ผืนดินนั่นเอง เสี่ยงต่อการที่จะมีสัตว์ป่ามาขุดซากไป ทั้งหมาป่า แร็คคูน ตัวตุ่น หรือสัตว์กินเนื้อต่างๆ ซึ่งนี่คือการมาของดอกฮิกันบานะนั่นเอง เพราะมันสามารถกันสิ่งมีชีวิตอื่นเข้ามใกล้มันได้ เพราะทุกๆ ส่วนนั้นล้วนมี "พิษ" ครับ ไม่เพียงปลูกไว้ตามสุสานเท่านั้น ยังนิยมปลูกรอบทุ่งนาเพื่อป้องกันหนู และแมลงศัตรูพืชด้วย

 

     นอกจากนี้สมัยก่อนนั้นยังเชื่อกันว่าสีแดงของดอกฮิกันบานะมาจากการที่ดอกไม้ดูดเลือดของศพขึ้นมาด้วย น่าสยองไปกันใหญ่ (แต่ไม่เป็นความจริงครับ)

 

 

     ดอกฮิกันบานะจะมีสารพิษที่เรียกว่าแอลคาลอยด์ พบมากในส่วนกระเปาะ หากกินเข้าไปจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง แต่หากโดนพิษมากๆ ก็อาการหนักถึงขั้นอัมพาต และเสียชีวิตได้

 

     มีอยู่สมัยหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นขาดแคลนอาหาร จนถึงขั้นต้องขุดเอาส่วนหัวซึ่งอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตของดอกฮิกันบานะขึ้นมากิน แต่หากล้างไม่สะอาด พิษยังออกไปไม่หมด ก็ทำให้เจ็บป่วยได้เช่นกัน

 

อยากไปชมดอกฮิกันบานะสวยๆ ในญี่ปุ่น ไปที่ไหนได้บ้าง?

 

 

     ถ้าไม่อยากจะต้องไปหาดูตามสุสานให้รู้สึกขนลุกขนพอง ก็ต้องไปดูที่ สวนคินชาคุดะ-มันจูชาเกะ (Kinchakuda Red Spider Lily Park) ที่เมืองฮิดากะ จังหวัดไซตามะครับ จะมีดอกฮิกันบานะให้ดูเป็นทุ่งกว่า 5 ล้านดอกเลย ถ้ามาในช่วงนอกฤดูกาลก็จะมีดอกไม้ชนิดอื่นๆ ให้ได้ชมกันทั้งปีแทนครับ เช่น ดอกนาโนะฮานะ และดอกคอสมอสที่จะบานตามฤดูกาลนั้นๆ

 

  • ที่ตั้ง : 125-2 Komahongo, Hidaka 350-1251 Saitama Prefecture
  • เปิดบริการ : 08.00-17.00 น. (ช่วงเทศกาลฮิกันบานะเปิดให้เข้าตั้งแต่ 07.00 น.)
  • สถานีรถไฟ : นั่งรถไฟสาย Seibu จากสถานี Seibu Ikebukoro ลง Hanno เปลี่ยนสายมาลง Koma เดินอีกประมาณ 10 นาทีจะถึงสวน
  • ค่าเข้า : 300 เยน ( ค่าเข้าฟรีแล้วแต่ฤดูกาล แต่ฤดูท่องเที่ยวไม่ฟรี)
  • เว็บไซต์ : http://www.kinchakuda.com (ภาษาญี่ปุ่น)

===============