ตำนานตุ๊กตาไล่ฝน เรื่องเล่าชวนสะพรึงเบื้องหลังเครื่องรางญี่ปุ่น
ช่วงที่ฝนฟ้าไม่ค่อยจะเป็นใจ อยากจะไปไหนมาไหนก็ไม่ถนัด จะซักผ้าก็ไม่ได้ เป็นเรื่องชวนหงุดหงิดใจซะจริงๆ คนไทยอย่างเราคงใช้วิธีปักตะไคร้เพื่อให้ฝนไม่ตก แต่ถ้าเป็นชาวญี่ปุ่นล่ะก็เขาจะมีเครื่องรางที่เอาไว้สำหรับขอพรเรื่องนี้โดยเฉพาะอยู่ สิ่งนั้นเรียกว่า เทะรุ เทะรุ โบสุ (Teru teru bouzu) หรือ ตุ๊กตาไล่ฝน นั่นเองครับ
รู้จักตุ๊กตาไล่ฝน คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง?
คำว่า เทะรุ เทะรุ โบสุ ถ้าจำแนกคำออกมาจะมีความหมายว่า หัวล้านแดดออก (เทะรุ แปลว่า แดดออก และ โบซุ แปลว่า หัวล้าน(ในที่นี่หมายถึง พระสงฆ์ ก็ได้)) เป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆ ทำจากผ้าสีขาว หัวกลมโต วาดหน้าตาไว้อย่างง่ายๆ นิยมแขวนไว้นอกหน้าต่างหรือหน้าประตูบ้าน เด็กๆ ญี่ปุ่นนิยมแขวนไว้ในวันก่อนที่จะมีวันสำคัญๆ เช่น วันออกทัศนศึกษา วันงานกีฬาสี ฯลฯ และถ้าหากว่าวันต่อมาฝนไม่ตกจริงๆ ล่ะก็ จะต้องแขวนกระดิ่งหรือเทสาเกให้กับตุ๊กตาไล่ฝน เพื่อเป็นการขอบคุณด้วย และในทางกลับกัน ถ้าเกิดอยากให้ฝนตกล่ะก็ ให้แขวนตุ๊กตาไล่ฝนกลับหัวจะช่วยได้เหมือนกัน วิธีนี้ส่วนมากชาวนาญี่ปุ่นจะทำกันเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
ต้องอธิบายซักนิด ว่าที่ญี่ปุ่นนั้นเวลาฝนตกจะแตกต่างจากที่ไทยมากครับ บ้านเขาเวลาตกทีจะมาเรื่อยๆ ปรอยๆ ทั้งวัน เป็นระยะเวลานาน (ไม่ใช่แค่มาแรงๆ โครมเดียวสักพักแล้วหยุดอย่างในไทย) บางทีตกต่อกันยาวๆ สามสี่วันก็มี เรียกได้ว่าเลิกคิดเรื่องตากผ้าได้เลย
นอกเหนือจากคนทั่วๆ ไปแล้ว ตามวัดหรือศาลเจ้าก็นิยมแขวนตุ๊กตาไล่ฝนก่อนวันที่จะมีพิธีกรรมสำคัญๆ เพื่อจะได้ทำพิธีอย่างราบรื่น นอกจากนี้ยังพกติดตัวเป็นเครื่องรางได้ด้วย ด้วยความเชื่อว่ามันจะนำความสดใส ปลอดโปร่งมาให้เจ้าของ
ที่มา ตำนานตุ๊กตาไล่ฝน ความโหดร้ายน่ากลัวที่ซุกซ่อนอยู่
หากว่ามองข้ามความน่ารักกระจุ๋มกระจิ๋มไปแล้ว ดูดีๆ มันก็มีความคล้ายกับรูปร่างของคนถูกแขวนคออยู่เหมือนกัน ใช่แล้วครับ ตำนานของมันมีความน่ากลัวอย่างนั้นจริงๆ เรื่องเล่ามีอยู่ว่า ญี่ปุ่นในสมัยโบราณนั้นมีพระสงฆ์อยู่รูปหนึ่ง เป็นที่รู้จักว่าท่านสามารถทำพิธีปัดเป่า บันดาลให้ฝนหยุดตกได้ ไดเมียวจึงนิมนต์ท่านมาทำพิธีหยุดฝนให้ แต่ปรากฏว่าท่านไม่สามารถทำได้ ฝนยังคงตกอย่างต่อเนื่อง จึงถูกลงโทษด้วยการตัดคอ นำผ้าสีขาวไปห่อศีรษะแล้วเอาไปแขวนไว้ แต่บางตำนานก็ว่าไม่ได้ตัด แต่แค่จับพระห่อผ้าสีขาวแล้วแขวนคอเลย
และแล้วผลก็ปรากฎในวันต่อมาครับ นั่นคือท้องฟ้าแจ่มใสขึ้นมาในทันที จากนั้นชาวบ้านเลยเชื่อกันว่า ถ้าทำตุ๊กตาไล่ฝนหัวกลมเหมือนดั่งพระภิกษุ แล้วนำไปแขวนไว้ จะทำให้ฟ้าของวันรุ่งขึ้นนั้นสดใสปลอดโปร่ง ซึ่งก็โชคดีว่าไม่ต้องแขวนคอพระองค์อื่นๆ ต่อนะเนี่ย ไม่งั้นหมดวัดแน่นอน
ตำนานเรื่องนี้พ้องกันกับเพลงกล่อมเด็กโบราณของญี่ปุ่นครับ ชื่อเพลง เทะรุ เทะรุ โบสุ นี่แหละ ซึ่งเนื้อหาที่แปลออกมาก็จะได้ประมาณว่า เจ้าตุ๊กตาไล่ฝนเอ๋ย ช่วยทำให้วันพรุ่งนี้มีอากาศแจ่มใสที ถ้าทำได้ฉันจะให้กระดิ่งทอง ถ้าทำได้ก็มาจิบสาเกหวานกัน แต่ถ้าทำไม่ได้ ฉันจะตัดคอของเจ้าเสีย!
บอกอีกครั้งว่านี่เป็นเนื้อหาจากเพลงกล่อมเด็กนะครับ เรียกได้ว่าโหดร้ายเลยล่ะ
ตำนานสาวฟ้าใส เซ่าฉิงเหนียง เรื่องราวใกล้เคียงที่สืบทอดมาจากจีน
ถ้าคุณคิดว่าตำนานข้างต้นโหดร้ายเดินไปล่ะก็ มีอีกตำนานหนึ่งของตุ๊กตาไล่ฝนที่เนื้อหาซอฟท์ลงมาบ้าง แต่จบลงที่การสูญเสียเช่นเดียวกัน นั่นคือ เซ่าฉิงเหนียง (แปลว่าหญิงสาวผู้ปัดกวาดเมฆฝน) เป็นตุ๊กตาไล่ฝนตามความเชื่อของชาวจีน และชาวญี่ปุ่นเองก็รับมาอีกทีหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตกาลที่เมืองหนึ่งของประเทศจีน มีหญิงสาวงามคนหนึ่งทำงานตัดกระดาษ ในปีหนึ่งมีพญามังกรทะเลตะวันออก ได้บันดาลให้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักจนเกิดเป็นอุทกภัย หญิงสาวได้ยินเสียงจากสวรรค์ว่า “หากเสียสละชีวิตของเจ้า ฝนจะหยุดตก หากไม่ทำเช่นนั้นจะเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่” นางจึงตัดสินใจ สละชีพตนเองเพื่อวิงวอนต่อพญามังกรให้ฝนหยุดตก ก่อนเดินทางขึ้นสู่สวรรค์นางได้กำชับชาวบ้านว่า หากวันใดมีฝนตกหนัก ให้ตัดกระดาษเป็นรูปตัวของนางแขวนไว้กับหลังคาบ้าน จะช่วยทำให้ท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใส เรื่องราวความเชื่อนี้เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นในสมัยเฮอัน และหลอมรวมเข้ากับความเชื่อพื้นบ้านในที่สุด
หลายคนน่าจะคุ้นๆ กับเรื่องของสาวฟ้าใสอยู่บ้างจากอนิเมะเรื่อง Weathering with You นั่นเอง เพราะเป็นการเอาความเชื่อเรื่องสาวฟ้าใสอันนี้มาผสมผสานด้วยนั่นเองครับ
จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเวอร์ชั่นไหนก็จบลงด้วยความสูญเสียทั้งสิ้น โชคยังดีว่าสำหรับชาวไทยเรามีวิธีการปักตะไคร้ที่ทำได้ง่ายกว่ามากจริงๆ
====================
รวมที่เที่ยว ที่พัก อัพเดทเทรนด์ ฟินทั่วไทยและต่างประเทศ
อ่านง่าย สบายกว่าที่เคย! บนแอปพลิเคชัน ทรูไอดี