หลังจากที่เราได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับประตูชุมพลในบทความ เรื่องเล่าขานถึงประตูชุมพล (นครราชสีมา) บอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาและเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับประตูชุมพล ประตูเมืองหลักของคนโคราชไปแล้วแต่ประตูเมืองของคนโคราชจริง ๆ แล้วมีถึง 4 ประตูด้วยกันไม่ได้มีเพียงแค่ประตูชุมพลเท่านั้น วันนี้เลยอยากนำประตูเมืองทั้งหมดมารวมกันในบทความนี้ไปเลย เพื่อแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับความเป็นมาและที่ตั้งของประตูเมืองแต่ละทิศของโคราช โดยขอเริ่มต้นที่ ประตูชุมพล ประตูเมืองหลักของคนโคราชตั้งอยู่หลังลานอนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารี (คุณย่าโม) เป็นประตูเมืองที่ยังคงความเป็นประตูเมืองเก่าไว้ได้อย่างดี และได้รับการประดับตกแต่งให้สวยงามอยู่เสมอ เมื่อครั้งมีศึกสงครามประตูชุมพลจะเป็นประตูที่ทหารมารวมพลกันและเดินลอดประตูชุมพลออกไปเพื่อทำการรบกับข้าศึก ซึ่งคนโคราชสมัยก่อนเชื่อว่าหากเดินลอดซุ้มประตูชุมพลออกไปรบจะสามารถชนะและนำชีวิตกลับมาได้ ปัจจุบันประตูชุมพลก็ยังมีเรื่องกล่าวขานถึงอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับการเดินลอดซุ้มประตูชุมพลนี้ ประตูพลล้าน (ประตูทิศตะวันออก,ประตูทุ่งสว่าง) ประตูเมืองที่ถูกตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองโคราชซึ่งแต่เดิมหากออกจากประตูเมืองฝั่งนี้ไป จะเจอกับบึงขนาดใหญ่ชาวบ้านมักจะนำสัตว์เลี้ยงพวกวัว ควาย มาเลี้ยงทางฝั่งนี้เพราะอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำ ปัจจุบันบึงขนาดใหญ่กลายเป็นวัดทุ่งสว่างและมีชุมชนทุ่มสว่างที่มีคนอาศัยอยู่จำนวนมากทางออกของประตูพลล้านจะออกไปยังถนนเส้นราชสีมา – โชคชัย ส่วนชื่อของประตูพลล้านเท่าที่หาข้อมูลมาจากหลาย ๆ ที่รวมถึงปู่ย่า ตายาย เคยเล่าต่อ ๆ กันมาว่าตั้งชื่อประตูเอาไว้เพื่อข่มขวัญศัตรูไม่ให้กล้าบุกเข้ามาในตัวเมือง ประตูพลแสน (ประตูน้ำ) ประตูเมืองที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองโคราชเป็นประตูที่หันหน้าออกไปทางลำตะคอง และมีคูเมืองกั้นอีกชั้นหนึ่งก่อนที่จะมาถึงประตู แต่เดิมหากเดินทางมาจากทางน้ำจะต้องเข้าเมืองทางประตูพลแสนนี้รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าที่จะเข้ามาค้าขาย หากเดินทางมาจากทางน้ำก็จะต้องเข้าเมืองหรือออกจากเมืองทางประตูฝั่งนี้เช่นเดียวกัน ปัจจุบันเป็นทางออกมายังถนนมิตรภาพเพื่อตัดไปยังถนนอีกหลายเส้นทางของโคราช ในส่วนของชื่อนั้นถูกตั้งขึ้นมาเพื่อท้าทายข้าศึกว่าแม้มีกำลังมาเป็นแสนก็ไม่สามารถฝ่าเข้ามายังตัวเมืองได้ตามที่คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังมา ประตูไชยณรงค์ (ประตูผี) ต้องบอกก่อนเลยว่าแต่ก่อนแค่ได้ยินชื่อประตูนี้ก็กลัวแล้วเพราะยังไม่ทราบถึงความเป็นมาของประตูนี้เท่าไหร่ แต่หลังจากที่ได้เรียนและหาข้อมูลมาจึงทราบถึงประวัติของประตูนี้เป็นอย่างดีว่าทำไมคนถึงเรียกว่าประตูผี เพราะประตูแห่งนี้ตั้งอยู่ทิศใต้ของเมืองโคราชสมัยก่อนหากมีคนตายจะห้ามไม่ให้ฝั่งหรือเผาในบริเวณเมือง จึงต้องนำเอาศพคนตายไปฝั่งหรือเผานอกประตูเมืองและเอาศพออกทางประตูนี้เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันหากเดินทางออกทางประตูไชยณรงค์จะเป็นทางรถไฟที่ข้ามไปก็จะเป็นชุมชนต่าง ๆ และเป็นเส้นทางที่สามารถไปออกถนนราชสีมา – โชคชัยได้อีกด้วย ประตูเมืองทั้ง 4 ของโคราชก็จะมีความเป็นมาที่แตกต่างกันออกไปแต่การสร้างขึ้นนั้นสร้างไล่ๆ กัน ประตูเมืองที่คงสภาพประตูและกำแพงเมืองเอาไว้ปัจจุบันมีเพียงประตูชุมพลเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 3 ประตูได้ถูกบูรณะที่สร้างให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและการคมนาคมในปัจจุบันไปแล้ว หากสังเกตในภาพจะพอมองออกว่าประตูเมืองแต่ละฝั่งอาจจะเริ่มไม่ค่อยสวยงามแล้ว เพราะยังไม่ได้รับการบูรณะใหม่อีกครั้งไว้ถ้าใครอยากมาเที่ยวโคราชมาเก็บภาพสวย ๆ ตามประตูเมืองรอให้พ้นโควิด – 19 ไปก่อนแล้วเรียนเชิญคะอยากให้ลองมาสัมผัสเมืองเก่าแก่และประตูสู่ภาคอีสานอย่างจังหวัดนครราชสีมา (โคราช) กันคะ เพราะเร็ว ๆ นี้ประตูเมืองแต่ละด้านคงได้บูรณะและทำให้กลับมาสวยงามอีกครั้งแน่นอน เครดิตภาพทั้งหมดจากผู้เขียน