รีเซต

ภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม เก็บยังไง รู้ไว้ไม่เสียหาย

ภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม เก็บยังไง รู้ไว้ไม่เสียหาย
aichan
18 กุมภาพันธ์ 2558 ( 05:39 )
146.9K

ช่วงนี้หลายคนไปเที่ยวเมืองนอกเมืองนา ช้อปปิ้งซื้อของกลับมามากมาย ทั้งของที่ระลึก ของฝาก และของที่ซื้อมาใช้เอง โดยเฉพาะของแบรนด์เนมราคาสูงที่เดี๋ยวนี้นิยมกันมาก บางคนซื้อไปฝากเพื่อน บางคนเพื่อนฝากซื้อ ขากลับจึงหอบหิ้วมาหลายใบ ซึ่งของที่เราไปช้อปปิ้งมานั้น แม้ว่าจะไม่ได้นำเข้าเพื่อการค้าก็ตาม หากนำเข้ามาในประเทศ ก็ต้องทำตามกฎระเบียบในการนำของเข้าประเทศให้ถูกต้องด้วยนะคะ

 

นักท่องเที่ยวที่กลับจากต่างประเทศ เมื่อถึงสนามบินจะต้องผ่านจุดศุลกากร เป็นจุดที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะต้องตรวจสอบสิ่งของ สัมภาระ ที่เรานำกลับมาด้วย ซึ่งหากพบของที่มีมูลค่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอนุญาต ก็จะต้องเสียภาษีอากร แต่หากเป็นของต้องห้าม ก็จะต้องเสียค่าปรับหรือถูกริบของค่ะ ซึ่งที่สนามบิน กรมศุลกากรจะจัดช่องทางไว้ 2 ช่อง คือ

1.ช่องตรวจสีเขียว : ผู้โดยสารที่ไม่มีสิ่งของที่ต้องเสียภาษีอากร ไม่มีสิ่งของต้องห้าม สามารถเดินผ่านช่องนี้ได้เลยค่ะ

2.ช่องตรวจสีแดง : ผู้โดยสารที่มีสิ่งของที่ต้องเสียภาษีอากร หรือของต้องห้ามติดตัวเข้ามา ต้องนำมาแสดงกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรในช่องนี้ และสำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าของที่นำเข้ามานั้นต้องเสียภาษีหรือไม่ ให้เดินเข้าช่องนี้ได้เลยค่ะ

 

ของติดตัวผู้โดยสารที่ได้รับการยกเว้นการเสียภาษี

• ของใช้ส่วนตัว ปริมาณเหมาะสม มูลค่ารวมทั้งหมดไม่เกิน 20,000 บาท

• ของใช้ส่วนตัว หรือของที่ใช้ในวิชาชีพ ที่ซื้อจากร้านค้าปลอดภาษี ที่ตั้งอยู่ในสนามบินศุลกากร มีราคารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท

• ของใช้ในบ้านเรือน จากการย้ายภูมิลำเนาเพื่อเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร โดยซื้อจากร้านค้าปลอดอากรที่ตั้งอยู่ในสนามบินศุลกากรมีราคารวมกันไม่เกิน 50,000 บาท

• บุหรี่ไม่เกิน 200 ม้วน หรือ ยาสูบ ไม่เกิน 250 กรัม หรือน้ำหนักรวมทั้งหมดทุกประเภท ไม่เกิน 250 กรัม หากนำมาเกินกว่าปริมาณที่กำหนดต้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ ช่องแดง

• เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาตร ไม่เกิน 1 ลิตร

ของติดตัวผู้โดยสารที่ต้องเสียภาษี

• ของที่นำเข้ามา มีปริมาณเกินกว่าที่จะใช้สำหรับส่วนตน มูลค่ารวมกันทั้งหมดเกิน 10,000 บาท รวมไปถึงสิ่งของที่นำเข้ามาเพื่อการค้า หรือมีลักษณะทางการค้า

• หากของที่นำติดตัวมามีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 80,000 บาท ต้องทำเอกสารปฏิบัติพิธีการศุลกากร

• ของต้องห้าม คือของที่ห้ามไม่ให้นำเข้าส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เช่น สารเสพติด วัตถุหรือสื่อลามก ของลอกเลียนแบบละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ธนบัตร หรือเหรียญกษาปณ์ปลอม สัตว์ป่าสงวน การฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เช่น มีไว้ในครอบครองหรือมีไว้เพื่อเสพ หรือเป็นผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ขนส่ง อาจมีโทษถึงประหารชีวิต

• ของต้องกำกัด คือของบางชนิดที่กฎหมายควบคุมการนำเข้าและส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การนำเข้าและการส่งออกของต้องกำกัด ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องนำมาแสดงให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรด้วย ตัวอย่างเช่น

– พระพุทธรูป ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ โดยกรมศิลปากร

– อาวุธปืน กระสุน วัตถุระเบิด โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

– พืช และส่วนต่างๆของพืช โดยกรมวิชาการเกษตร

– สัตว์มีชีวิต และซากสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์ หรือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

– อาหาร ยา โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

– ชิ้นส่วนยานพาหนะ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม

– บุหรี่ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกรมสรรพสามิต

– เครื่องมือวิทยุสื่อสาร อุปกรณ์โทรคมนาคม โดยสำนักการอนุญาตกิจการเฉพาะกิจ สำนักงาน คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช)

ดังนั้นหากเราไปเที่ยวช้อปปิ้งกลับมา แล้วนำของแบรนด์เนมหรือสินค้ามูลค่ารวมทั้งหมด เกิน 20,000 บาท เข้ามาในประเทศ จะต้องเดินเข้าช่องตรวจสีแดงที่จุดศุลกากร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประเมินการเสียภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งสินค้าฟุ่มเฟือยนั้นมีอัตราภาษี 30% ของมูลค่าสินค้าค่ะ

แม้ว่าทางกรมศุลกากรจะไม่ได้ตรวจสัมภาระของผู้โดยสารทุกคน แต่ใช้การสุ่มตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ แต่นักท่องเที่ยวทั้งหลายก็ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบนะคะ เพราะหากมีของที่ต้องแสดงต่อเจ้าหน้าที่ แล้วเราหลีกเลี่ยง ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม หากเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบ จะถือเป็นความผิดค่ะ และจะถูกปรับเป็น 4 เท่าของมูลค่าของ บวกค่าภาษีและอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และของที่หลีกเลี่ยงการชำระอากรก็จะถูกริบเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายศุลกากรทันที

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมศุลกากร

ภาพ: ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับงานบทความใน “ทรูไลฟ์” และ “H Travel” เท่านั้น ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด

 

ติดตาม travel.truelife.com อีกช่องทางที่

ทุกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาหาร และที่พัก คลิกที่ http://travel.truelife.com