เราเคยไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์แล้วหลายที่ แต่พิพิธภัณฑ์พระตำหนักสายสุทธานภดลแตกต่างจากที่อื่น เนื่องจากเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในรั้วสถานศึกษาคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งจากประวัติแล้วทราบมาว่าสถานที่นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างเป็นสถานที่รำลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือ พระนางเรือล่ม พระอัครมหสีอันเป็นที่รักยิ่งในพระองค์ และเพื่อใช้เป็นที่พักให้เจ้าจอมมารดา และข้าราชบริพาร ในรัชสมัยของพระองค์ เนื่องจากพระองค์ทรงเกรงว่า หากมีการปลี่ยนแผ่นดินแล้ว เจ้าจอมมารดา และข้าหลวงทั้งหมด จะไม่มีที่พำนัก พระองค์จึงทรงสร้างสถานที่นี้ขึ้น และพระราชทานนามว่า วังสวนสุนันทา เมื่อเข้าไปสู่รั้ววังสวนสุนันทาแล้ว สถานที่แรกที่ผมต้องไปให้ได้คือ พระตำหนักสายสุทธานภดล เพราะได้ยินกิตติศัพท์เรื่องความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยยังเก็บกลิ่นอาย และความงามเสมือนจริงไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษา ไม่รอช้าเดินเข้าสู่ประตูพระตำหนักสายสุทธานภดล เราจะได้เห็นถึงบรรยากาศที่ชวนให้น่าศึกษาทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง เดินเข้าไปสู่ด้านใน จะเจอบันไดวนสร้างด้วยไม้ที่หาชมได้ยากแล้วในสมัยนี้ รอบด้านจัดเต็มรายล้อมไปด้วยของใช้เก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 อีกทั้งเมื่อเดินขึ้นไปชั้น 2 ของพระตำหนัก จะได้เห็นหลายสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจมาก ๆ แต่สิ่งที่ควรทำอื่นใดคือ การกราบแสดงความเคารพต่อรูปภาพของเจ้าของตำหนัก นั่นคือ พระวิมาดาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราช ปดิวรัดา พระมเหสีอีกพระองค์ผู้ภักดีต่อรัชกาลที่ 5 หลังจากนั้นมีหลายอย่างที่ทำให้อยากเดินถ่ายรูปไปเรื่อย ๆ ตลอดทั่วทุกพื้นที่ทั้งสอง 2 มุขของพระตำหนัก มีการจัดวางข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้เดินชมมากมายหลายสิ่ง แต่ทุกอย่างยังคงจัดและเน้นกลิ่นอายความเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งไม่ผิดหวังเลยที่ได้มาเที่ยวที่นี่ มาเที่ยวตำหนักสายสุทธานภดล คุณจะได้ศึกษาถึงวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งของใช้ต่าง ๆ ในสมัยนั้น ทำให้เห็นถึงรากเหง้าของวัฒนธรรมไทยผสมผสานกับความร่วมสมัย เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ท่านยกเลิกทาสและมีวัฒนธรรมต่างชาติที่เจริญเข้ามาด้วย สมควรมาเที่ยวชมและศึกษาวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง หากใครสนใจอยากมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์พระตำหนักสายสุทธานภดล สามารถมาได้ทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดตั้งแต่เวลา 09.30 – 16.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เว็บไซต์ http://www.culture.ssru.ac.th/ หรือ โทรศัพท์ 02-160-1348 ภาพโดย : ผู้เขียน