รีเซต

พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ สถานที่อันก่อเกิดตำนานรักดอกกุหลาบ...มัทนะพาธา

พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ สถานที่อันก่อเกิดตำนานรักดอกกุหลาบ...มัทนะพาธา
28 กุมภาพันธ์ 2556 ( 11:12 )
19.9K

 

รูปถ่ายเดินเท้า

เรื่องเล่าเดินทาง

โดยอักษรจรจัด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

    พระราชวังบางปะอิน จังหวัดอยุธยา เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวแห่งสำคัญ ที่ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ต่างเดินทางไปชม ศึกษา เรียนรู้ ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ซึ่งถ้าจะดูให้ครบถ้วนจริงๆ อาจจะต้องไปศึกษาอย่างใกล้ชิดนานเป็นสัปดาห์เลยทีเดียวครับ

 

 

    ในพระราชวังแห่งนี้ มีพระที่นั่งองค์หนึ่ง เป็นที่รู้จักกันดี ด้วยเพราะรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แปลกออกไป ทำให้ “พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ” หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่า “พระที่นั่งเก๋งจีน” กลายเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของพระราชวังบางปะอินไปโดยปริยาย

 

 

 

    พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญนี้มีนามเป็นภาษาจีนว่า “เทียน หมิง เต้ย” (แปลว่า พระที่นั่งฟ้าสว่าง) พระยาโชฎึกราชเศรษฐี(ฟัก) ข้าราชการกรมท่าซ้าย เป็นนายงานสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ.2432 ใช้เวลาในการสร้างประมาณ 10 ปี และเป็นพระที่นั่งองค์สุดท้ายที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5  โดยมีหลวงสาทรราชายุกต์ (ยม พิศลยบุตร) และ หลวงโภคานุกุล (จื๋ว) เป็นผู้ควบคุมในการก่อสร้าง และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองแถม กรมหมื่นสรรพศาสตร์ศุภกิจ เป็นผู้ควบคุมดูแลการสร้าง และเมื่อพระที่นั่งสร้างเสร็จ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ จัดให้มีพระราชพิธีเฉลิมขึ้นพระที่นั่งตามแบบจีนเมื่อวันที่ 27 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2432  จุดประสงค์ในการสร้างถวายคือเพื่อใช้เป็นพระที่นั่งสำหรับประทับในฤดูหนาว พระที่นั่งนี้เคยใช้เป็นที่รับรองเจ้านายต่างประเทศหลาย คราวในสมัยรัชกาลที่ 5

 

 

 

 

 

    พระที่นั่งเวหาศจำรูญ เป็นพระที่นั่งสองชั้น ชั้นล่าง  ใช้เป็นห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่ง และใช้เป็นท้องพระโรง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ท้องพระโรงล่าง และท้องพระโรงบน โดยบริเวณทางขึ้นท้องพระโรงบนนั้นมีแผ่นหินอ่อนเป็นตราสัญลักษณ์ลัทธิเต๋าของจีน รูปหยินหยางประดับไว้ มีพระราชอาสน์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดเกล้าฯ ให้คัดลอกแผ่นป้ายคำโคลงสรรเสริญข้าราชการที่ทำคุณความดี 9 บท 17 แผ่นป้าย มาประดับไว้ด้วย ส่วนท้องพระโรงบนนั้น เป็นห้องประชุมเสนาบดี และใช้เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 5 โดยมีการตั้งป้าย 8 เหลี่ยมซึ่งเขียนเป็นภาษาจีนว่า “เทียน หมิง เต้ย” อันเป็นนามแห่งพระที่นั่ง และคำว่า “ว่าน ว่าน ซุย” ซึ่งแปลว่า ทรงพระเจริญหมื่น ๆ ปี และที่เพดานท้องพระโรงมีอักษรไทยที่เขียนเลียนแบบอักษรจีนเป็นคำว่า “กิม หลวน เต้ย” ซึ่งแปลว่า โอรสจากสวรรค์

 

 

 

 


    
    ในขณะที่ชั้นบนของพระที่นั่งเวหาศจำรูญ ประกอบด้วย 4 ห้องใหญ่ ได้แก่ ห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ห้องบรรทมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ห้องทรงพระอักษร และห้องพระป้าย

    สำหรับความสำคัญของห้องทรงพระอักษรนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 ทรงใช้เป็นที่ทรงพระอักษร พระราชนิพนธ์บทละครคำฉันท์เรื่องที่เยี่ยมที่สุดในประเทศไทยเรื่องหนึ่งคือ “มัทนะพาธา” หรือที่ถูกเรียกขานกันว่า “ตำนานรักดอกกุหลาบ” นั่นเอง

   

    ส่วนห้องพระป้ายนั้น อยู่ติดกับห้องทรงพระอักษรเป็นที่ประดิษฐานพระวิมาน 3 องค์ติดต่อกัน เรียงจากทิศตะวันตก ไปตะวันออก ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายต่าง ๆ ลงรักปิดสีทองอร่าม

        ช่องตะวันตกเป็นสถานที่ประดิษฐานพระป้ายจารึก (อักษรจีน) พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 4 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433
    

    ช่องกลางเป็นสถานที่ประดิษฐาน พระพุทธรูป ในการประกอบพระราชพิธีสังเวยพระป้าย
 

 

     ช่องตะวันออกเป็นสถานที่ประดิษฐานพระป้ายจารึก(อักษรจีน) พระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระนามาภิไธย สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470

    นอกจากนี้ เสาด้านหน้าพระวิมานได้แขวนป้ายสุภาษิตจีนได้ โดยด้ายซ้ายแปลว่า “ในหมู่ชนจะหาความสามัคคีธรรมเสมอพี่น้องได้ยาก” และด้านขวา แปลได้ว่า “ในใต้หล้าจะหาความผิดในพ่อแม่ไม่มี”

    ทั้งนี้ ยังมีห้องอีก 2 ห้อง ได้แก่ ห้องบรรทมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชินีนาถ โดยห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชินีนาถนั้น ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่ง ภายในมีพระแท่นบรรทม 2 องค์ สำหรับทรงใช้ในฤดูร้อนและฤดูหนาว เพดานเหนือพระแท่นมีการแกะสลักลายมังกรดั้นเมฆ ซึ่งหมายถึง พระมหากษัตริย์ที่คอยปกป้องคุ้มครองพระมเหสี