“วัดแสนฝาง” หรือ “วัดแสนฝัง” ตั้งอยู่บนถนนท่าแพ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ชื่อวัดแสนฝาง มีความคล้ายคลึงกับนางเอกในละครเรื่องศิลามณี ที่ชื่อ “แสงฝาง” ละครย้อนยุคที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นนามปากกาของ “วราภา” การเดินทาง จากสนามบินเชียงใหม่ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 20 นาที เนื่องจากอยู่ห่างจากสนามบินเชียงใหม่เพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น ทำให้ง่ายและสะดวกแก่การเดินทางมาก วัดจะอยู่ติดริมถนน ตรงบริเวณทางแยกที่จะไปกาดหลวงหรือตลาดวโรรส ทางเข้าวัดตกแต่งด้วยพญานาคราช ทั้งซ้ายและขวา มีความงดงามมาก และประดับประดาด้วยศิลปะโคมทางเหนือทำให้เป็นจุดเด่นและสร้างความสนใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือน “วัดแสนฝาง หรือ แสนฝัง” เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมของพม่า ซึ่งมีเจดีย์ลักษณะคล้ายกับทรงชเวดากอง ลักษณะสีขาวทรงระฆังคว่ำ มีความงดงามออกแบบตกแต่งอย่างประณีต สันนิฐานว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอดีต ในรัชสมัยราชวงค์เม็งราย พระเจดีย์ มีชื่อนามว่า “พระเจดีย์มงคลแสนมหาชัย” เสน่ห์ของที่นี่คือ “พระวิหารหอคำ” เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมของล้านนาที่สวยงาม เนื่องจากมีลวดลายการแกะสลักที่อ่อนช้อย ตกแต่งและปิดทองอย่างงดงาม เมื่อต้องแสงแดดมีความระยิบระยับมาก วิหารแห่งนี้อดีตผู้ปกครองเชียงใหม่ คือ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ และ เจ้าทิพเกษร ได้ทรงโปรดให้นำพระตำหนักของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ มาก่อสร้างใหม่ เมื่อปี จุลศักราช 1240 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล หอไตรหลังเก่า ตามศิลปะกรรมล้านนา ตกแต่งด้วยกระจกสีและไม้ที่เป็นรูปแกะสลักทรงอ่อนช้อย วิจิตรงดงามยิ่งนัก ตั้งอยู่ด้านหลังของ “พระเจดีย์มงคลแสนมหาชัย” ลักษณะเป็นอาคารก่อสร้างแบบด้านล่างเป็นตึกและด้านบนเป็นไม้ ภายนอกรอบ ๆ บริเวณวัดมี “พระอุปคุต” ศิลปะตามแบบพม่า ผู้มีเลิศมากทางความเพียรและอิทธิฤทธิ์ กราบสักการะเพื่อให้มีจิตใจแน่วแน่และมีความเพียรพยายามในทุกสิ่ง “วัดแสนฝาง” ศิลปะล้านนาผสมพม่าที่มีความงดงามและลงตัวอย่างที่สุด แม้จะมีชื่อที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับละคร แต่ประวัติความเป็นอาจแตกต่างกัน แต่มาสถานที่แห่งนี้ทำให้หลงรักประวัติศาสตร์ ได้เห็นความสวยงามที่คนรุ่นอดีตได้รักษาและอนุรักษ์เอาไว้ให้ลูกหลาน ได้มากราบสักการะและระลึกในคุณงามความดีให้เป็นที่ประจักษ์ มาเชียงใหม่แวะ “วัดแสนฝาง” จะพบความงดงามที่ซ้อนตัวภายในเมืองเชียงใหม่ เครดิตภาพทั้งหมด “ภาพถ่ายโดยผู้เขียน”