จังหวัดน่านเป็นอีกจังหวัดทางภาคเหนือที่มีเอกลักษณ์และเสน่ห์ไม่เหมือนที่ใด เป็นจังหวัดที่เหมือนซ่อนตัวอยู่กลางภูเขา ไม่ได้เป็นจังหวัดทางผ่านเหมือนที่อื่นๆ ต้องตั้งใจไปเท่านั้นถึงจะไปถึง ผู้เขียนเคยไปอยู่ที่นั่นถึง 3 ปี จากความตั้งใจแค่ไม่กี่เดือน เพราะอาสาไปเป็นครูสอนหนังสือให้กับโรงเรียนพระปริยัติธรรมหรือโรงเรียนมัธยมสำหรับสามเณร แต่ไปๆ มาๆ กลับได้อยู่ยาวถึง 3 ปี เพราะความหลงใหลในบรรยากาศและวิถีชีวิตวัฒนธรรมของน่าน จนหลายๆ คนพูดวลีติดปากกันว่า "น่านนะสิ" อีกด้วย คำขวัญประจำจังหวัดน่าน คือ "แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง" ถือว่าเป็นจังหวัดที่ 2 ที่นอกจากจังหวัดกาญจนบุรีอันเป็นบ้านเกิดของผู้เขียนที่สามารถจำได้ แม้ว่าเคยไปอยู่ในจังหวัดอื่นๆ มาเหมือนกันแต่ก็จำไม่ได้เหมือนจังหวัดน่านนี้เลยและก็ได้สัมผัสกับทุกอย่างตามคำขวัญประจำจังหวัดเลย ทั้งการดูการแข่งเรือช่วงกลางพรรษายาวไปจนช่วงพฤศจิกายน เห็นงาช้างสีดำที่พิพิธภัณฑ์ในตัวเมืองน่าน ภาพกระซิบรักที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดน่านบนฝาผนังจิตรกรรมวัดภูมินทร์ มีพันธุ์เปลือกส้มสีทองที่นี่ รวมทั้งมีวิธีการแกะผลส้มแบบคนน่านที่เป็นลักษณ์เฉพาะตัวอีกด้วย คือ แบ่งแยกผลส้มออกมาเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน แต่ยังไม่แยกออกจากกัน แล้วค่อยแกะเปลือกออกด้านที่จะกินก่อนให้หมดหรือจะแบ่งปันอีกส่วนให้คนอื่นก็ทำได้ง่าย และรวมไปถึงการได้ไปกราบสักการะพระธาตุที่วัดพระธาตุแช่แห้งอีกด้วยจังหวัดน่านมีทั้งหมด 15 อำเภอ ผู้เขียนไปมาเกือบทุกอำเภอแล้ว ไปมากกว่าอำเภอในจังหวัดของตนเองอีก มีโอกาสได้ไปอยู่ที่อำเภอปัว ซึ่งอยู่ทางโซนเหนือๆ ของจังหวัดน่าน ไปอยู่ที่บ้านเสี้ยว เป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่มีความอบอุ่นตามวิถีชีวิตชนบทแบบชาวเหนือ สิ่งแรกที่เป็นความใหม่ในการต้อนรับคนต่างถิ่นก็คือ "ภาษาเหนือ" หรือ "การอู้กำเมือง" คนน่านนิยมที่จะอู้กำเมืองกับทุกๆ คน ไม่ว่าจะมาจากไหน เพราะเป็นวิถีชีวิตของเขา จนทำให้คนต่างถิ่นสามารถเข้าใจสิ่งที่ต้องการสื่อสารได้เมื่ออยู่นานๆ และเพิ่งเข้าใจว่า คำว่าคนใต้สำหรับคนเหนือก็คือ คนที่อยู่ภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาคเหนือก็นับเป็นคนใต้ทั้งหมดเพราะภูมิภาคอื่นอยู่ทางใต้กว่าทั้งหมด ไม่ใช่แค่คนจากภูมิภาคทางภาคใต้อย่างเดียว แน่นอนว่าภาษาเหนือ ภาษาน่านที่ผู้เขียนได้ยินเมื่อแรกเริ่มก็สร้างความสับสนหลายๆ ครั้ง เช่น เรียกสามเณรว่า "พระ" หรือ "พระน้อย" ส่วนเรียกพระว่า "ตุ๊" เรียกผ้าว่า "ครัว" เช่น ไปซักครัว แต่อาจจะเข้าใจผิดว่าเป็น ทำความสะอาดครัวได้ หรือคำว่า "ยามก่อน" เราอาจจะคิดว่า ย่ำหรือเดินไปก่อน แต่มีความหมายว่าให้รอก่อน (เหมือนยาม หรือ รปภ.ที่ต้องรอ, เฝ้า) รวมทั้งคำว่า "ดุ" เช่น กินดุ ก็เข้าใจว่า กินน่ากลัว แต่หากแต่เป็นการกินจนน่ากลัวต่างหาก คือ กินเก่ง กินมาก เป็นต้น กว่าจะเข้าใจ เข้าถึงภาษาเหนือได้ก็ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ เช่นกัน ตอนที่ไปอยู่น่านเมื่อปี 2551 หรือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว จำได้ว่ายังไม่มีร้านสะดวกซื้อ (7-11) ด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะที่อำเภอปัว มีอะไรก็มักจะต้องลงในตัวเมือง เช่น ไปซื้อหนังสืออ่านเล่นหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายๆ อย่างก็ต้องไปที่ตัวเมืองน่านเพราะมีห้างโลตัส (แต่ยังไม่มีโรงภาพยนตร์) ห่างจากตัวอำเภอปัวก็ราว 60 กิโลเมตร สามารถนั่งรถโดยสารประจำทางหรือรถเมล์ไปกลับได้อย่างสบายๆ เพราะหมู่บ้านเสี้ยวก็ติดถนนหลัก เวลาจะไปขึ้นก็สามารถเดินไปนั่งรอรถเมล์หน้าปากซอยทางเข้าหมู่บ้านได้ วิถีชีวิตชาวบ้านก็ทำเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะทำนา มีโอกาสได้ไปร่วมดำนาด้วย และมีอีกอย่างที่เข้าใจผิดมาตลอดก็คือว่า การทานข้าวเหนียวมีแต่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) แต่ก็เพิ่งมารู้ว่าทางภาคเหนือก็นิยมทานข้าวเหนียวเป็นหลักเช่นกัน จึงสงสัยว่าทำไมที่นี่มีไฟฟ้าใช้แล้วยังคงต้องใช้ฟืน (หลัว) กัน เพราะไว้หุงข้าวเหนียวนี่เองด้วยความที่รู้สึกประทับใจกับหลายๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ ทั้งภาษา บรรยากาศ วิถีชีวิต เทศกาล ความเชื่อ และอัธยาศัยที่ดีของชาวน่านจึงได้เขียนบันทึกเรื่องราวๆ ต่างๆ ทำเป็นรูปเล่มไว้ถึง 2 เล่มเลยใช้ชื่อเรื่องว่า "ไม่นาน...ที่เมืองน่าน" กับเล่มที่ 2 "เริ่มนาน ... ที่เมืองน่าน" ปีละเล่มใน 2 ปีแรก และตั้งใจจะทำเล่มที่ 3 "เนิ่นนาน...ที่เมืองน่าน" แต่ก็ยังไม่ทันได้ทำก็เลยต้องย้ายกลับมาก่อน จึงมาเขียนเป็นบทความนี้แทน เพราะว่ายังมีหลากหลายเรื่องราวให้บันทึกและจดจำกับการไปใช้ชีวิตในเมืองเหนือที่ชื่อว่า "จังหวัดน่าน" ที่ต่างบริบท ต่างวัฒนธรรมแห่งนี้ มีโอกาส ต้องไปเยือนกันให้ได้ แล้วจะพบความสุขใจ ประทับใจกลับมา จนต้องกล่าวคำว่า "น่าน...นะสิ" อย่างแน่นอน หมายเหตุ ทั้งหมดเป็นประสบการณ์ และความเข้าใจส่วนตัว บางอย่างอาจคลาดเคลื่อนไปจากความจริงที่ ก็ต้องขออภัยคนพื้นที่ด้วยนะครับทุกภาพประกอบ โดยผู้เขียน และหนานดุนย์ จังหวัดน่านขอบคุณ Canva ตกแต่งภาพปก อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !