หากพูดถึงวัดที่ผู้คนนิยมมาขอพรหรือบนบานต่าง ๆ วัดพระธาตุดอยคำคือหนึ่งในวัดที่หลาย ๆ คนนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ วันนี้ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไหว้หลวงพ่อทันใจที่วัดพระธาตุดอยคำค่ะ วัดพระธาตุดอยคำเป็นวัดที่มีความเก่าแก่และมีความสำคัญอีกวัดหนึ่งของเชียงใหม่ มีอายุกว่า 1,300 ปี ตั้งอยู่บริเวณดอยคำ หลังอุทยานหลวงราชพฤกษ์ อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 10 กิโลเมตร เดิมวัดพระธาตุดอยคำมีชื่อว่า "วัดสุวรรณบรรพต" ค่ะ สร้างในสมัยพระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) โดยพระโอรสทั้ง 2 พระองค์เป็นผู้สร้าง วัดพระธาตุดอยคำเคยเป็นวัดร้างจนเมื่อปี พ.ศ.2509 กรุแตกชาวบ้านจึงได้พบโบราณวัตถุหลายชิ้นทั้ง พระรอดหลวง พระสามหมอ (เนื้อดิน) พระหินทรายปิดทององค์ใหญ่ เมื่อมาถึงวัดพระธาตุดอยคำ เราก็จะเจอ "ศาลปู่แสะ ย่าแสะ" ตั้งอยู่ตรงทางเลี้ยวก่อนขึ้นสู่วัด ปู่แสะ ย่าแสะ จะเป็นสถานที่กราบไหว้ขอพรเป็นที่แรกเมื่อเรามาถึงวัดค่ะ ก่อนที่เราจะขอพร เราต้องกล่าวคำสักการะปู่แสะ ย่าแสะก่อนค่ะ ควายเผือกกีบเพิ้ง (ควายเผือกกีบเท้า) ดูจากรูปจะเห็นเขาสีน้ำผึ้ง สร้างถวายปู่แสะ ควายดำกีบเพิ้งสีน้ำผึ้ง สร้างถวายย่าแสะ รอบ ๆ ศาลจะมีคนเอารูปปั้นควายมาถวายกันเต็มไปหมดค่ะ ป้ายเล่าถึงประวัติประเพณีเลี้ยงดง ปู่แสะ ย่าแสะ ก่อนหน้านี้พื้นที่ของวัดพระธาตุดอยคำเคยเป็นที่อยู่อาศัยของยักษ์สองผัวเมีย ชื่อจิคำและตาเขียว ต่อมาชาวบ้านได้เรียกยักษ์ทั้งสองนี้ว่า "ปู่แสะ ย่าแสะ" ปู่แสะ ย่าแสะมีลูกชื่อ "สุเทวฤาษี" ชื่อ "ดอยคำ" มาจากศุภนิมิตที่ยักษ์ทั้งสองได้รับพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้า ทำให้ฝนตกหนักหลายวันจนน้ำฝนเซาะและพัดพาเอาแร่ทองคำบนไหล่เขาและลำห้วยไหลลงสู่ปากถ้ำจำนวนมากจึงได้ชื่อว่า "ดอยคำ" ยักษ์ทั้งคู่จะช่วยปกป้องดูแลป่าบริเวณดอยคำ ศาลปู่แสะ ย่าแสะจึงเป็นที่แห่งแรกที่ใครที่มาวัดจะให้ความเคารพค่ะ ส่วนประเพณีเลี้ยงดงผู้เขียนขอพูดถึงแค่บางส่วนนะคะ "ประเพณีเลี้ยงดง" คือ พิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับการเลี้ยงผีปู่แสะ ย่าแสะ ปู่แสะ ย่าแสะเป็นยักษ์สองผัวเมียที่เชื่อกันว่าเป็นต้นเค้าบรรพบุรุษของชาวลัวะที่กลายมาเป็นผู้พิทักษ์รักษาเมืองเชียงใหม่ เมื่อครั้งพุทธกาลมีเมืองชื่อบุพนครเป็นเมืองของชนเผ่าลัวะ ประชาชนต่างอพยพหนีออกจากเมืองเพราะถูกยักษ์สามตน พ่อ แม่ ลูกจับกิน ต่อมาพระพุทธเจ้าเสด็จพร้อมสาวกและได้ให้พระอานนท์ไปตามยักษ์ทั้งสามตนมาพบ จึงทรงแสดงอภินิหารให้ยักษ์สามตนได้เห็น ยักษ์จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา พระองค์ยังได้แสดงธรรมให้ฟังและให้ยักษ์ทั้งสามตนถือศีล 5 และห้ามฆ่าสัตว์ แต่ยักษ์ขอพระพุทธเจ้ากินเนื้อสัตว์ แต่พระพุทธเจ้าทรงไม่อนุญาต ยักษ์จึงไปขอเจ้าเมืองบุพนคร เจ้าเมืองลัวะตกลงให้กินปีละตัว ยักษ์ปู่ขอกินควายเผือกเขาดำ ยักษ์ย่าขอกินควายดำกลีบเผิ้ง โดยเจ้าเมืองมีข้อแม้ว่ายักษ์ต้องรักษาพระพุทธศาสนาไปห้าพันปีและต้องรักษาบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป ส่วนยักษ์ลูกได้บวชเป็นพระและลาสิกขาออกมาเป็นฤาษีนามว่า "สุเทพฤาษี" ซึ่งก็คือที่มาของดอยสุเทพนั่นเองค่ะ เมื่อสิ้นยักษ์ปู่และยักษ์ย่า ชาวบ้านก็ยังเกรงกลัวยักษ์อยู่จึงยังคงทำพิธีเซ่นสรวงดวงวิญญาณ ก็คือ "ประเพณีเลี้ยงดง" ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 เหนือ 2 ค่ะ (ประเพณีเลี้ยงดงผู้เขียนเคยได้ยินค่ะ แต่ไม่เคยเห็นพิธีจริง ๆ ด้วยตาตัวเองนะคะ ต้องยอมรับว่าผู้เขียนไม่กล้าดูจริง ๆ ค่ะ) นี่คือ หลวงพ่อทันใจ พระพุทธรูปหลวงพ่อพูดได้ พระพุทธรูปขนาดใหญ่ตั้งอยู่ที่หน้าวัดพระธาตุดอยคำค่ะ หลวงพ่อทันใจสร้างขึ้นในสมัยพญากือนา กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา หลวงพ่อทันใจมีชื่อเสียงมากในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ขอพร บนบานอะไรก็สมดั่งใจหวัง ทำให้มีผู้คนมากราบไหว้ขอพรและนำมะลิมาแก้บนเป็นจำนวนมาก ทางเข้าวัดจะมียักษ์อยู่ด้านหน้าค่ะ หลวงพ่อทันใจ ที่ผู้คนเดินทางมาขอพร บนบานแล้วได้ดั่งใจหวัง ก็จะมาแก้บนด้วยพวงดอกมะลิ ทำให้ทั่วบริเวณก็จะเห็นคนนำพวงมาลัยดอกมะลิจำนวนมากมาแก้บน บ้างก็มีไข่ต้ม (ไข่ต้มจำนวนเยอะมากค่ะเป็นร้อย ๆ ลูกเลยค่ะ) รอบ ๆ บริเวณจะอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของดอกมะลิจำนวนมากมายมหาศาล เยอะมากจริง ๆ ค่ะ ภายในวัดจะไม่มีดอกมะลิขายนะคะ ดอกมะลิเหล่านี้ต้องเตรียมมาเองหรือจะซื้อจากริมทางก่อนถึงทางขึ้นวัดพระธาตุดอยคำก็ได้ค่ะ ส่วนผู้เขียนซื้อดอกมะลิสำหรับไหว้หลวงพ่อทันใจและกรวยดอกไม้สำหรับไหว้พระประทาน ชุดละ 40 บาทค่ะ เราต้องซื้อดอกมะลิที่ร้านข้างล่างก่อนขึ้นมาด้านบนค่ะ เพราะด้านบนจะไม่มีขายนะคะ ด้านบนจะมีขายแต่พวกเสื้อผ้า ของกินและแผงขายหวยค่ะ ดูจากจำนวนดอกมะลิก็สามารถบอกถึงความศรัทธาได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ คนที่มาที่วัดพระธาตุดอยคำส่วนใหญ่ก็จะนิยมมาขอพร บนบาน ขอให้ถูกหวย วิธีการขอพรจะใช้ธูป 3 ดอก แล้วก็อธิษฐานขอเรื่องที่ต้องการ พร้อมกับบอกท่านว่าจะนำพวงมาลัยดอกมะลิมาถวายตั้งแต่ 50 พวงขึ้นไป จุดนี้จะเป็นจุดชมวิวด้านหลังของวัดพระธาตุดอยคำค่ะ สามารถมองเห็นเมืองเชียงใหม่และสนามบินเชียงใหม่และอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จุดนี้คนเยอะค่ะหลาย ๆ คนมักจะแวะมาถ่ายรูปที่จุดนี้เยอะค่ะ นี่คือทางเดินขึ้นลงบันไดนาคค่ะ ผู้เขียนเลือกเดินขึ้นบันไดประมาณ 300 ขั้น ทำเอาผู้เขียนถึงกับหอบเลยล่ะค่ะ แต่ก็ถือว่าได้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพค่ะ ส่วนใครที่ไม่อยากขึ้นลงบันไดสามารถขับรถขึ้นไปจอดด้านบนได้ค่ะ ผู้เขียนมาวัดพระธาตุดอยคำครั้งนี้ครั้งที่ 2 แล้วค่ะแต่ผู้เขียนแค่มาไหว้พระเท่านั้นค่ะ ไม่ได้ขออะไรเป็นพิเศษ ผู้เขียนชอบไหว้พระทำบุญค่ะ เพราะทุกครั้งที่ได้มาวัดและทำบุญทำให้รู้สึกสุขใจ และจิตใจสงบค่ะ วัดพระธาตุดอยคำ เป็นวัดที่มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาขอสิ่งใดก็สมดั่งใจปรารถนา จึงมีผู้มาขอพรจำนวนมากและ เมื่อสมหวังแล้วก็จะมาแก้บนด้วยดอกมะลิ ซึ่งผู้เขียนเคยได้ยินมาว่าบางคนนำดอกมะลิมาแก้บนเป็นแสนพวงเลยล่ะค่ะ แต่ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่านะคะ แต่จากที่เห็นจำนวนดอกมะลิที่นำมาขอพรและแก้บนกัน พวงมาลัยดอกมะลิกองสูงมากค่ะ วัดพระธาตุดอยคำตั้งอยู่ที่ 108 หมู่ 3 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนการเดินทางเดินทางไปตามเส้นทางเลียบคลองชลประทาน จะมีป้ายบอกข้ามคลองไปทางตำบลแม่เหียะ ขับไปเรื่อย ๆ จะพบทางขึ้นเขาไปยังวัดพระธาตุดอยคำค่ะ เครดิตภาพ : ภาพถ่ายโดยผู้เขียน