สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านจ๋า วันนี้ส้มน้อยจะมาถามเพื่อนๆ ทุกคนที่เคยไปดำน้ำตื้นสน็อกเกิ้ล ตามเกาะ สถานที่เที่ยวต่างๆ ที่ตัวเองเคยไป (ตอบตัวเองในใจนะคะ) ว่าที่เราไปดำน้ำกัน ปลาทะเล สัตว์ทะเล ที่เราพบเห็น เรารู้จักชื่อ รู้จักเรื่องราวของเจ้าตัวนั้นบ้างไหม? อ่า..เริ่มอยากรู้แล้วสิคะ สำหรับเพื่อนๆที่ไปดำน้ำมาแล้ว ก็มารู้จักไปพร้อมๆกันเลยนะคะ (ขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับเกาะพีพีนะคะ เพราะว่ารู้ดี อิอิ ไปอยู่มานาน ) #เจอแน่ที่เกาะพีพี ในบทความนี้ จะพูดถึงสัตว์ทะเล ไปเที่ยวเกาะพีพี แล้วต้องเจอแน่นอน!! ยิ่งถ้ามีไกด์ท้องถิ่น หรือกัปตันเรือท้องถิ่น ไปด้วยนะ จะบอกเลยค่ะว่าคุ้มสุดๆ ถามได้ถามไปเลย อยากรู้อะไรเกี่ยวกับเกาะพีพี ถามให้หมด อย่ากั๊ก55 มาเที่ยวทั้งที ต้องรู้ให้ครบ!! 1. ปลาการ์ตูนส้มขาว หรือที่พวกเรารู้จักกันดีในหนังการ์ตูนอันโด่งดังในชื่อว่า "นีโม" ปลาการ์ตูนชนิดนี้ ชื่อจริงๆเป็นภาษาอังกฤษ คือ False Clown Anemonefish เจ้าตัวนี้เป็นอีกหนึ่งชนิดที่เป็นที่รู้จักกันดี ในเผ่าพันธุ์ปลาการ์ตูนหลากสีที่มีมากถึง 28 ชนิดทั่วโลก และในประเทศไทยพบปลาการ์ตูนประมาณ 10 ชนิด ปลาการ์ตูนส้มขาว ลำตัวจะมีสีส้มเข้ม มีแถบสีขาวสามแถบจะพาดอยู่บริเวณส่วนหัว ลำตัว และหาง ขอบนอกของครีบเป็นสีขาว ขอบในครีบเป็นสีดำ อาศัยอยู่ในทะเลลึก ตั้งแต่ 1-15 เมตร พบบ่อยที่สุดในทะเลอันดามัน ขนาดลำตัวยาวโตเต็มที่ 10 เซนติเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลที่ชื่อว่า Heteractis magnifica และ Stichodactyla gigantea ในแต่ละกอของดอกไม้ทะเลจะพบปลาการ์ตูน 6-8 ตัว ใน 1 กอของดอกไม้ทะเล จะมีตัวเมียเพียง 1 ต้ว โดยตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ และมีหน้าที่เป็นผู้นำ แต่ปลาการ์ตูนมีความสามารถเปลี่ยนเพศตัวเองได้ ถ้าตัวเมียตายจะมีตัวผู้ตัวใดตัวหนึ่งเปลี่ยนเพศของตัวเอง เพื่อทำหน้าที่สืบพันธุ์ต่อไป แม่ปลาสามารถวางไข่ ได้เดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละหลายร้อยฟอง ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยมีพ่อปลาเป็นผู้ดูแล หลังจากที่ไข่ฟักออกมาแล้ว ตัวอ่อน ของปลาทะเล ก็จะล่องลอยไปตามกระแสน้ำ เพื่อไปหาดอกไม้ทะเล เพื่อเป็นแหล่งที่พักอาศัยต่อไป 2. ปลาการ์ตูนลายปล้อง (Clark'S Anemonefish) ปลาการ์ตูนลายปล้องมีหลายสายชนิดแต่เจ้าตัวนี้ ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง ชื่อภาษาอังกฤษของเจ้าตัวนี้คือ Sebae Anemonefish ลำตัวมีสีดำเข้ม มีครีบอก และหางสีเหลืองทอง มีแถบสีขาวสามแถบ ที่บริเวณ ส่วนหัว ลำตัว และโคนหาง ปลายปากล่างจะเป็นเหลืองทอง หรือสีส้มสด ปลาการ์ตูนชนิดนี้เมื่อโตเต็มที่มีขนาดยาวได้ถึง 14 เซนติเมตร โดยทั่วไปจะอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิดพรหมทะเล Stichodatcyla Haddoni พบมากในทะเลฝั่งอันดามัน ที่ความลึก 2-25 เมตร ปลาชนิดนี้มักอยู่กับลูกๆเป็นครอบครัวเล็กๆ 3-5 ตัว 3. ปลานกแก้ว ชื่อภาษาอังกฤษ Parrotfish เป็นปลาทะเลขนาดกลางที่มีสีสันสวยงามมากๆ เป็นปลาชนิดกระดูกแข็ง เมื่อโตเต็มที่มีขนาดลำตัวยาวถึง 30-80 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีเกล็ดขนาดใหญ่ จะงอยปากสามารถยืดได้หดได้ เหมือนปากนกแก้ว อาศัยอยู่ตามแนวประการังเขตร้อน และเขตอบอุ่น พบมากในทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน อาหารของ ปลานกแก้ว คือสาหร่าย และซากปะการัง ออกหาอาหารในเวลากลางวัน และนอนในเวลากลางคืนตามปะการังเพื่อหลบภัย ปลานกแก้วเป็นปลาที่มีสีสันสวยงามแปลกตา จึงทำให้โดนจับมาเลี้ยงไว้ดูเล่น หรือจับมาทำขาย เป็นอาหาร ทำให้จำนวนประชากรปลานกแก้วลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ระบบนิเวศน์ทางทะเลเสียสมดุลไปด้วยอย่างมาก เพราะปลานกแก้วมีส่วนสำคัญช่วยให้ ปะการังที่ฟอกสีกลับฟื้นสมบูรณ์ได้เร็วขึ้น ช่วยกันอนุรักษ์ด้วยนะคะ #ไม่ซื้อไม่กินปลานกแก้ว 4. เต่าทะเล (Sea Turtle) เต่าทะเล จัดเป็นประเภทสัตว์เลื้อยคลานที่หายาก และใกล้จะสูญพันธุ์ ด้วยจำนวนที่ลดน้อยลง ทั่วโลกตระหนักถึงและต้องอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้ มีการค้นพบ เต่าทะเล ทั่วโลกมีถึง 8 ชนิด แต่พบในน่านน้ำไทย 5 ชนิด เต่าตะนุ เต่าหญ้า เต่ากระ เต่าหัวค้อน (พบได้น้อยมาก) และเต่ามะเฟือง (เต่าทะเลทุกชนิด ถือว่าเป็น สัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535) เต่าทะเลจัดว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีระดับสายตาสั้นเมื่ออยู่บนบก แต่สายตาจะตอบสนองได้ดีเมื่ออยู่ในน้ำ เนื่องจากการหักเหของแสงในน้ำ เพราะว่าแสงไฟมีผลต่อสายตาของเต่าทะเลอย่างมาก ในฤดูกาลวางไข่ เต่าทะเลตัวเมียจะขึ้นมาวางไข่ ทุกช่วงสัปดาห์ จนกว่าจะวางไข่จนหมดท้อง อาจจะมีมากถึง 1,000 ฟอง เลยทีเดียว แล้วจะกลับมาวางไข่อีกครั้ง ในอีก 2-4 ปี แต่จำนวนลูกเต่าทะเลที่รอดชีวิตมีจำนวนน้อยมาก ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง ทั้งพื้นที่การวางไข่ ฝนตก น้ำท่วม อุณหภูมิในหลุมฟักไข่ ภัยจากสัตว์อื่นๆ ลูกเต่าทะเลต้องอาศัยแสงของขอบฟ้ารำไร เป็นเสมือนเข็มทิศกำหนดทิศทางมุ่งหน้าออกทะเล เพราะฉะนั้นจึงได้มีกฏหมายเพิ่ม อนุรักษ์เต่าทะเลมากขึ้น แหล่งว่าไข่ของเต่าทะเลหลายแห่ง อุทยานแห่งชาติ ประกาศให้เป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล และได้ออกกฏหมายห้ามทำการประมงลากอวนใกล้ชายฝั่งในระยะ 3,000 เมตร จากชายฝั่งเพื่อป้องกันไม่ให้ ลูกเต่าทะเล ว่ายไปติดอวนของชาวประมง (เพื่อนๆไปดำน้ำเจอเต่าทะเล อย่าเอาไฟไปส่องตา หรือจับแตะต้องตัวน้องเต่านะคะ ช่วยกันอนุรักษ์กันไว้ ให้ระบบนิเวศน์ทางทะเลสมบูรณ์ และเพื่อให้ลูกหลานของเรารุ่นต่อไปได้เห็นกัน) 5. ฉลามครีบดำ หรือ ฉลามหูดำ (Blacktip reef shark) เป็นฉลามที่มีรูปร่างเพรียวยาว ปากกว้าง และที่ได้ชื่อนี้ เพราะว่ามีแถบสีดำ ที่ครีบไขมัน ครีบหลัง ครีบกัน และครีบหางตอนล่าง นิสัยไม่ดุร้าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงตามแนวชายฝั่ง กินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร หากินในเวลากลางคืน และจะพักผ่อนในเวลากลางวันตามแนวปะการัง สามาถเข้ามาหากินใกล้บริเวณชายฝั่งแม้ระดับน้ำสูงแค่เพียง 1 ฟุต แต่จะหากินในน้ำลึกไม่เกิน 100 เมตร ขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ 2 เมตร ตัวเมียตั้งท้อง 18 เดือน ออกลูกเป็นตัว ครั้งละ 2-4 ตัว ฉลามหูดำ พบในทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน เป็นที่ชื่นชอบ ตื่นตาตื่นใจของการดำน้ำกันเลยทีเดียวค่ะ - เป็นยังไงกันบ้างคะ กับข้อมูลที่ Somnoi เอามาฝาก เริ่มรู็จักสัตว์ทะเลพวกนี้...มากขึ้นแล้วใช่ไหมคะ ที่เราไปเที่ยวดำน้ำกันมามา สำหรับเพื่อนๆ ที่ยังไม่เคยไปดำน้ำ ก็รู้ข้อมูลไว้ก่อนล่วงหน้าได้เลย #ไทยเที่ยวไทย #เที่ยวอย่างสุขใจ ถูกต้องที่สุด คือช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลกันด้วยนะคะ #เกาะพีพี #เกาะพีพีเล บทความโดยผู้เขียน : Somnoi ภาพโดยผู้เขียน : จากเพจ som phiphi island tour ภาพปก และ ภาพประกอบหัวข้อที่ 1/4/5 ขอบคุณรูปภาพ : จาก Pixabay ภาพประกอบหัวข้อที่2 / ภาพประกอบหัวข้อที่ 3