รีเซต

ร่วมสืบสาน ประเพณีสงกรานต์ ที่ ล้ง 1919 จรุงวัฒนธรรมในแบบฉบับไทย-จีน

ร่วมสืบสาน ประเพณีสงกรานต์ ที่ ล้ง 1919 จรุงวัฒนธรรมในแบบฉบับไทย-จีน
เอิงเอย
9 เมษายน 2561 ( 03:13 )
899

       เทศกาลในเมืองไทยมีมากมาย แต่ที่เห็นจะเป็นไฮไลต์ของปี คงหนีไม่พ้น เทศกาลสงกรานต์ หรือ ปีใหม่ของคนไทย ที่เวียนมาบรรจบในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ในปีนี้ก็เช่นกันที่โครงการ ล้ง 1919 ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมสืบสานประเพณีในแบบฉบับไทย จัดสงกรานต์ครั้งแรกของล้งขึ้นกับงาน “SONGKRAN @ LHONG 1919” (สงกรานต์ แอท ล้ง 1919) พร้อมชวนศิลปินรุ่นใหม่ แทน โฆษิตพิพัฒน์ ร่วมออกแบบเจดีย์ทรายที่มากล้ำด้วยความหมาย โดยจะเริ่มกิจกรรมพร้อมเปิดให้คนทั่วไปได้มาร่วมชมและสืบสานประเพณี ตั้งแต่วันที่ 11 – 15 เมษายน 2561 ณ โครงการล้ง 1919

 

      คุณรุจิราภรณ์ หวั่งหลี ผู้บริหารโครงการล้ง 1919 กล่าวว่า “ชิโน พอร์ท ในฐานะผู้พัฒนาโครงการล้ง 1919 ถือเป็นเกียรติมากที่ได้เข้าร่วมในโครงการ Water Festival 2018 เทศกาล วิถีน้ำ...วิถีไทย โดยเราได้รับเลือกให้เป็นท่าไฮไลต์น้องใหม่ของงาน ดังนั้นเมื่อเป็นเทศกาลสงกรานต์ครั้งแรกของล้ง 1919 จึงต้องเตรียมความพิเศษไว้ให้ประชาชนคนไทยที่สนใจในการร่วมสืบสานประเพณีอันงดงามครั้งนี้ขึ้น

 

      โดยทุกคนสามารถมาร่วมงานสงกรานต์ @ ล้ง 1919 โดยมีกิจกรรมไฮไลต์ที่เราตั้งใจร่วมทำเพื่อเป็นมงคลในประเพณีปีใหม่ไทยขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การลอดอุโมงค์มะลิ ที่มีละอองน้ำมนต์จากพิธี เทวาภิเษกของสมเด็จพระวันรัต, กิจกรรมสรงน้ำพระสมปรารถนา จากวัดพิชยญาติการามวรวิหาร หรือวัดพิชัยญาติ ที่ชาวคลองสานเคารพสักการะ, ทานข้าวแช่สูตรโบราณที่หาทานได้ยาก และร่วมชม เจดีย์ทราย ที่มากล้ำด้วยแนวความคิด ออกแบบโดย แทน โฆษิตพิพัฒน์ โดยทั้งหมดนี้ ล้ง 1919 ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงาม ให้อยู่คู่กับผืนแผ่นดินไทย แม้เราจะเป็นพื้นที่ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ในรูปแบบจีน แต่ก็อยากจรุงวัฒนธรรมของแผ่นดินไทยไว้ร่วมกันอย่างงดงาม ไม่ใช่เพียงเทศกาลนี้ แต่ยังร่วมสืบสานความเป็นพี่น้องไทย – จีน เรื่อยไปตราบนาน”

 


      ด้านศิลปินรุ่นใหม่มากความสามารถ แทน โฆษิตพิพัฒน์ ลูกชายของ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่มาร่วมออกแบบเจดีย์ทรายในรูปแบบที่สะท้อนแนวความคิด เล่าว่า “เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากในการทำงานครั้งนี้ แต่จากแนวคิดในเรื่อง ประเพณีเจดีย์ทรายที่มีที่มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง โดยคนไทยผูกโยงประเพณีนี้เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อ พระเจดีย์ทรายถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์

      จากจุดนี้เองจึงเป็นที่มาของการออกแบบ เจดีย์ความสูงกว่า 4 เมตร ฐานกว้าง 3 เมตร และสามารถชมได้แบบ 360 องศา โดยดึงเอาแนวความคิดเรื่องของเม็ดทรายแต่ละเม็ดที่มาประกอบกัน เปรียบเสมือนกับคนไทยที่แม้จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่เราในฐานะคนไทยที่อยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน ก็สามารถรวมกันเป็นปึกแผ่นอยู่ภายใต้วัฒนธรรมเดียวกัน นอกจากนั้นยอดของเจดีย์ ยังแตกต่างกันตามยุคสมัยของแผ่นดินทองของไทยในแต่ละยุค อาทิ ช่วงยุคสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 18), ช่วงยุคอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 19 - 23) และ ช่วงยุคธนบุรี (ช่วงพุทธศตวรรษที่ 23) มาออกแบบ โดยทรงของเจดีย์ในแต่ละยุคมีความประณีตงดงามที่แตกต่างกันออกไป จึงอยากนำความงดงามเหล่านั้น กลับมาเล่าอีกครั้งหนึ่ง”

     นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสเหล่าเยาวชนในเขตคลองสานมาร่วมแต่งแต้มสีสันบนผืนผ้าใบแคนวาสในช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย ซึ่งจะตั้งโชว์ภายในบริเวณล้ง 1919 ตลอดช่วงเทศกาล พร้อมร่วมฟังดนตรีในบรรยากาศยามเย็นจาก Symphony Swing ที่จะร่วมบรรเลงทุกวัน

 

 

อัพเดทที่พักสุดชิลล์ ที่เที่ยวสุดมันส์ ที่กินสุดฮิป

ติดตาม travel.trueid.net ได้ที่

Facebook
Add friend ที่ ID : @TrueID

และ แอปพลิเคชั่น

TrueID Application