ย้อนกาลล้านนา ณ หอศิลปวัฒนธรรม เชียงใหม่
อักษรเดินเท้า
เรื่องเล่าเดินทาง
BY อักษรจรจัด
เป็นยามบ่ายที่อบอ้าวร้าวระอุทีเดียวครับ สำหรับวันแรงงานในปีนี้ เจออากาศแบบนี้ทำให้ผมไพล่นึกไปถึงยามเย็นที่ลมพัดเอื่อยๆ อุ้มเอากระไอความฉ่ำจากผิวหน้าของน้ำปิงขึ้นมาโบกพัดให้สบายเนื้อสบายตัว อากาศที่เชียงใหม่ในปีนั้นช่วงเดือนพฤศจิกายนไม่หนาวมากอย่างที่หวัง แต่ก็ไม่อบอ้าวอย่างกรุงเทพฯฯ แสงไฟจากหลอดไฟนับร้อยจาก “กาดหลวง” หรือตลาดวโรรสส่องกระทบสายน้ำวิบๆ วับๆ ชวนให้อยากเดินเอื่อยๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อชมชีวิตและวิถีเชียงใหม่ที่เนิบช้ากว่าชีวิตอันรีบเร่งในเมืองหลวงที่จำเป็นต้องไหลไปตามกระแสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
แต่ก็บ่อยครั้งที่มักจะได้ยินประโยคที่คล้ายๆ กันทั้งจากคนเชียงใหม่เอง หรือคนที่มาเยือนเชียงใหม่บ่อยๆ จนสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
“เชียงใหม่ไม่เหมือนเดิม”
“เชียงใหม่ทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก”
หรืออะไรทำนองนั้น…แต่อย่างที่เราๆ ท่านๆ ทราบกันดีเต็มอก ไม่ว่า “อะไร” – “สิ่งใด” หรือแม้แต่ “ใคร” ก็ไม่เคยอยู่พ้นสัจธรรมที่มีชื่อว่า “ความเปลี่ยนแปลง” จริงไหม? แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ๆ ที่ยังอยากเห็น อยากสัมผัส อยากทราบถึงประวัติความเป็นมา และซึมซับถึงความเป็น “ล้านนา” ในยุคก่อน แม้ว่าวิถีเชียงใหม่ทุกวันนี้หมุนเร็วขึ้นมาบ้างแล้ว ทว่าความเป็นดั้งเดิมที่ยังคงรักษาไว้และสามารถไปเห็น ไปซึมซับ และไปศึกษาเรียนรู้ได้…อยู่ที่นี่ครับ…
…ที่หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่…
จำได้ว่าครั้งสุดท้ายที่สะพายเป้ขึ้นหลัง ตวัดกล้องคล้องสายสะพายไหล่ ออกเดินทางไปเยี่ยมเยือนทักทายเชียงใหม่นั้นก็เมื่อสามปีที่แล้ว และที่ประทับใจที่สุดคือ หนึ่งวันเต็มๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็นที่ตั้งใจจะไปถ่ายภาพตามวัดต่างๆ กลับต้องเปลี่ยนแผนเพราะผมบังเอิญไปเริ่มต้นวันของผมที่หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่
บนถนนพระปกเกล้า ไม่ไกลจากวัดพระสิงห์ หากเดินตรงมาที่บริเวณที่ถูกเรียกขานว่า “กลางเวียง” คุณจะพบกับ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ (พระบรมรูปของพระยามังราย พญาร่วงแห่งสุโขทัย และพญางำเมืองจากพะเยา) คุณจะเห็นอาคารเก่าแก่ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมอันงดงามเด่นเป็นสง่าตั้งอยู่ อาคารหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชการที่ 6 เคยเป็นศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพ และเป็นศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
บริเวณที่ตั้งศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเดิมนี้เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ถึงเจ้าเทพไกรสรพระธิดาซึ่งเสกสมรสกับเจ้าอินทนนท์ต่อมาเจ้าอินทนนท์ได้เป็นเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่คนที่ 7 เมื่อเจ้าอินทวิชยานนท์ถึงแก่พิราลัยจึงตกเป็นมรดกของเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ต่อมาเมื่อทางกรุงเทพฯส่งข้าหลวงมาจัดการปฏิรูปการปกครองตามระบบเทศาภิบาล เจ้าดารารัศมี จึงให้ใช้พื้นที่กลางเวียงแห่งนี้เป็น “ศาลารัฐบาล” หรือที่ทำการรัฐบาล ต่อมาเมื่อจังหวัดเชียงใหม่ได้เริ่มใช้ศาลากลางหลังใหม่บนถนนโชตนา เป็นศูนย์ราชการจังหวัด จึงได้ย้ายหน่วยงานต่างๆ ออกไปยังศูนย์ราชการแห่งใหม่ ซึ่งหน่วยงานสุดท้ายได้ย้ายออกไปเมื่อปี พ.ศ. 2539 และทิ้งร้างไว้ โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปใช้ประโยชน์ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2540 เทศบาลเมืองนครเชียงใหม่จึงได้ขอปรับปรุงอาคารเพื่อใช้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2542 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
สนนราคาค่าเข้าชมสำหรับบุคคลทั่วไปเพียง 20 บาทเท่านั้นครับ ในขณะที่ราคานักเรียนนักศึกษาอยู่ที่คนละ 10 บาท ถือเป็นค่าเข้าชมที่ถูกและคุ้มค่าเหลือเกิน เพราะสรุปในวันนั้น แม้ผมจะใช้เวลาทั้งวันภายในนั้น ก็ดูเหมือนจะยังไม่พอสำหรับกับเสพย์ซึมซับเรื่องราว ข้อมูล และศิลปวัฒนธรรมที่จัดแสดงอยู่มากมายภายในนั้น
นิทรรศการถาวรมีถึง 15 ห้องด้วยกันครับ เริ่มจาก…
ห้องที่ 1. ห้องฉายวีดีทัศน์ เรื่อง “เชียงใหม่วันนี้” เพื่อเกริ่นนำภาพรวมของเชียงใหม่จากอดีตจนถึงปัจจุบัน”
ห้องที่ 2. ก่อนจะเป็นเมืองเชียงใหม่ แสดงร่องรอยอารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในดินแดนล้านนา
ห้องที่ 3. อารยธรรมสองลุ่มแม่น้ำ กล่าวถึงรัฐในหุบเขาลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำปิง ที่มีอิทธิพลต่อการก่อตั้งเมืองลำดับเหตุการณ์
ห้องที่ 4. สร้างบ้านแปงเมือง แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1. แสดงคติความเชื่อเรื่องความมีตัวตนของเมือง ส่วนที่ 2. ชัยภูมิเมืองเชียงใหม่ สื่อถึงแนวความคิดและความเชื่อในเรื่องไชยมังคละ 7 ประการ ของทำเลที่สร้างเมืองใหม่ ส่วนที่ 3. สร้างเมืองเชียงใหม่ แสดงลักษณะเด่นต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ เช่นผังเมืองรูปทรงเลขาคณิต และ ส่วนที่ 4. พิธีกรรมและประเพณีอันเนื่องมาจากความเชื่อเรื่องความมีตัวตันของเมือง
ห้องที่ 5. ความสัมพันธ์กับภูมิภาค แสดงถึงวัฒนธรรมร่วม อิทธิพลและความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่แบภูมิภาคใกล้เคียง
ห้องที่ 6. ร้อยปีล่วงแล้ว แสดงภาพป่าไม้ หุ่นจำลองการทำป่าไม้ การจำลองอุโมงค์ขุนตาลพร้อมหัวรถจักรรถไฟ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่เมืองเชียงใหม่
ห้องที่ 7. สิ่งดีงามของเชียงใหม่ แสดงเอกลักษณ์อันน่าภูมิใจที่ชาวเชียงใหม่ได้รักษาไว้และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ห้องที่ 8. ประวัติอาคาร แสดงความเป็นมาและความสำคัญของพื้นที่ในบริเวณที่ตั้งอาคาร
ห้องที่ 9. เจ้าหลวงเชียงใหม่ กล่าวถึงวัฒนธรรมการปกครองของระบบเจ้าเมืองเชียงใหม่ นับตั้งแต่พญามังรายจนถึงเจ้าครองนครองค์สุดท้าย
ห้องที่ 10. ชีวิตริ่มฝั่งแม่น้ำปิง จัดแสดงการตั้งถิ่นฐานของพ่อค้าเชื้อสายต่างๆ ริมฝั่งน้ำปิง นอกกำแพงเมือง
ห้องที่ 11. คนในเวียง แสดงกาดจำลองที่หน้าวัดพระสิงห์ อันเป็นตลาดเก่าแก่และมีความสำคัญในอดีต
ห้องที่ 12. พุทธศาสนากับคนเมือง จำลองวิหารในพุทธศาสนาอันเป็นวิถีชีวิตของชาวเชียงใหม่พร้อมการฉายวีดีทัศน์
ห้องที่ 13. ห้องบายศรีทูลพระขวัญ จำลองพิธีบายศรีทูลพระขวัญซึ่งเป็นประเพณีชาวล้านนาที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนพระราชอาคันตุกะ
ห้องที่ 14. สังคมเกษตรกรรม แสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชนในสังคมเกษตรกรรมรอบเมือง
และห้องสุดท้าย ห้องที่ 15. คนบนดอย แสดงสภาพภูมิประเทศ วิถีชีวิตของชุมชนบนที่สูง
ผมใช้เวลาหลายชั่วโมงไปกับ 15 ห้องดังกล่าว และถึงบ่ายคล้อย บังเอิญเดินทางที่อาคารส่วนหลัง ได้พบ “ห้องสมุดล้านนา” นักเดินทางและนักเขียนสมัครเล่น แต่เป็นนักอ่านระดับเข้าสายเลือดอย่างผม จึงแทบจะกระโจนเข้าไปใช้บริการ (ฟรี) ทันที มีหนังสือหายากและน่าสนใจมากครับ ผมตะลุยอ่านตั้งแต่บ่ายจนถึงเวลาปิดอย่างลืมตัว ครับ…ในเย็นวันนั้น ผมเป็นผู้มาเยือนคุณสุดท้ายที่กล่าวคำลาและคำขอบคุณในความเอื้ออารีของคุณบรรณารักษ์สาว (สวย) ที่ยิ้มเก่งอย่างสาวเหนือแท้ๆ แบบอายๆ ที่มัวแต่ก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ล้านนาหลายเล่มจนความมืดโรยลงมารอบๆ อย่างไม่รู้ตัว
หนาวนี้…หากมีเวลา ผมจะกลับไปเยือนหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่อีกสักครั้ง แล้วถึงตอนนั้น อาจจะบางอย่างในเชียงใหม่เปลี่ยนไปอีก แต่ผมเชื่อว่า ห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ในหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ จะยังคงถูกหยุดไว้เป็นข้อมูลที่น่าศึกษา เป็นอดีตที่น่าหลงใหล เป็นวัฒนธรรมที่น่าภาคภูมิใจเฉกเช่นเดิมครับ
หมายเหตุ หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ เปิดทำการ 08.30-17.00 วันอังคาร-อาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ปิดทำการวันจันทร์ ค่าเข้าชม 20 บาท นักเรียนนักศึกษา 10 บาท รายละเอียดติดต่อโทร. 0 5321 7793, 0 5321 9833 โทรสาร 0 5321 9833 หรือ www.chiangmaicitymuseum.org