รีเซต

ประวัติ อิสราเอล ดินแดนแห่งพันธสัญญา คานาอัน

ประวัติ อิสราเอล ดินแดนแห่งพันธสัญญา คานาอัน
Muzika
19 พฤษภาคม 2564 ( 17:59 )
13.9K

     อิสราเอล ประเทศในตะวันออกกลางที่หลายๆ คนน่าจะพอเห็นในหน้าข่าวทุกๆ วันนี้ ว่ายังคงอยู่ในสภาวะที่อยู่ในการสู้รบแทบจะตลอดเวลานับตั้งแต่การก่อตั้งประเทศในปี 1947 อะไรคือสิ่งที่ทำให้ประเทศเล็กๆ ที่ถูกรายล้อมด้วยชาติอาหรับใหญ่ๆ รอบด้านยังคงยืนหยัดต่อสู้มาจนถึงวันนี้ เรามาลองย้อนดูประวัติประเทศอิสราเอลไปด้วยกันครับ

 

 

เรื่องราวของชาวยิว กลุ่มชนเริ่มต้นก่อนจะเป็นอิสราเอล

 

การบุกโจมตีเยรูซาเล็มของจักรวรรดิโรมัน

 

     ก่อนจะเล่าไปถึงการก่อตั้งประเทศ สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจเป็นอันดับแรกก็คือ ชาวยิว หรือเดิมทีคือ ชาวฮีบรู (Hebrew) นั่นเองครับ จุดเริ่มต้นใหญ่ๆ อยู่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 2 ที่ชาวยิวต้องตกอยู่ในสภาพระหกระเหเร่ร่อนไปทั่วทั้งแผ่นดินยุโรปไปหลายพันปี เพราะถูกกวาดล้างโจมตีจากจักรวรรดิโรมัน ที่เข้าถล่มเมืองเยรูซาเล็มจนราบคาบ 

 

     จากสภาวะที่ต้องอพยพอยู่ตลอดเวลา และการถูกจำกัดสิทธิ์ต่างๆ นานา ก็มาถึงยุคที่ชาวยิวเริ่มมีอิสรภาพมากขึ้น นั่นคือในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งตรงกับสมัยของนโปเลียนปกครองฝรั่งเศส นโปเลียนยกศาสนายิวให้เป็นศาสนาประจำชาติร่วมกับคริสต์นิกายต่างๆ เมื่อนโปเลียนขยายอาณาเขตออกไปถึงไหน เขาก็จะปลดปล่อยยิวในเขตที่เขาตีได้ด้วย ชาวยิวจึงได้เริ่มที่จะมีสถานะแบบชนปกติขึ้นมา

====================

 

ขบวนการไซออนิสต์ จุดเริ่มต้นก่อนหวนคืนมาตุภูมิ

 

Theodor Herzl (1860-1904)

 

     แม้จะเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นแล้ว แต่ปัญหาการเหยียดชาวยิวก็ยังคงมีอยู่ นั่นจึงทำให้ ธีโอดอร์ เฮิร์ซล์ (Theodor Herzl) ชาวยิวในออสเตรีย-ฮังการี ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาของชาวยิวได้ คือการให้ยิวมีประเทศของตนเองซะ เขาจึงเริ่มเผยแพร่แนวคิดนี้ออกไป ต่อมาแนวคิดนี้คือรากฐานของอุดมการณ์ ไซออนนิสต์ นั่นเอง

 

     แม้การมีประเทศของตนเองนับเป็นความฝันของชาวยิวมาตลอด แต่ก็มีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เพราะชาวยิวนั้นบางส่วนก็ต้องการที่จะผสมกลมกลืน อาศัยอยู่ร่วมกับสังคมที่ตนอยู่ หรือบางส่วนก็เชื่อว่าการกลับอิสราเอลเป็นการฝ่าฝืนพระเจ้า แต่อย่างไรก็ตาม เฮิร์ซล์ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากนายทุนใหญ่ต่างๆ ทำให้เขาตัดสินใจจัดตั้ง องค์กรไซออนนิสต์ (Zionist Organization หรือ ZO) ขึ้นมาในปี 1897 โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ดินแดนปาเลสไตน์ อันถือเป็นดินแดนแห่งพันธสัญญาโบราณนั่นเอง 

====================

 

รุกคืบแผ่นดินปาเลสไตน์ 

 

การประชุมครั้งแรกของไซออนนิสต์

 

     ด้วยความที่ในปาเลสไตน์เองก็มีประชากรชาวยิวอาศัยอยู่บ้าง ซึ่งในยุคนั้นปาเลสไตน์อยู่ใต้การปกครองของชาวเติร์ก ชาวยิวจึงเริ่มต้นด้วยการ "ซื้อที่ดิน" จากชาวอาหรับ โดยไม่เกี่ยงว่าที่ตรงนั้นจะเป็นทะเลทรายเพาะปลูกอะไรไม่ขึ้นก็ตาม จุดมุ่งหมายมีเพียงการเพิ่มพื้นที่ให้ชาวยิวให้ได้มากที่สุด อันที่จริงรัฐบาลเติร์กเองก็รู้ว่าชาวยิวกำลังเข้ามากว้านซื้อที่ดินประเทศตัวเอง แต่ด้วยความที่ต้องรับศึกหลายทาง เกิดปฎิวัติในประเทศบ่อยครั้ง จึงไม่ได้มีเวลามาโฟกัสกับชาวยิวแต่อย่างใด

 

     จุดเปลี่ยนสำคัญจริงๆ อยู่ในช่วงสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ดินแดนปาเลสไตน์ตกอยู่ในอาณัติของประเทศอังกฤษ โดยที่อังกฤษได้ทำข้อตกลงกับไซออนนิสต์ไว้ก่อนหน้านั้น ว่าจะช่วยสร้างถิ่นอาศัยของชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์ เพื่อจูงใจให้ไซออนนิสต์เข้ามาช่วยทำสงคราม แน่นอนว่าเมื่ออังกฤษชนะสงครามปุ๊บ ก็ตั้งยิวไซออนนิสต์คนหนึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ปกครองแดนปาเลสไตน์ทันที

 

ทหารชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 1

 

     หลังจบสงครามปาเลสไตน์ต่างเป็นหนี้ท่วมหัว จนสุดท้ายต้องยอมขายที่ดินให้กลุ่มทุนชาวยิวเพื่อยังชีพ ชาวยิวก็กว้านซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นได้อีกมากมาย บ่มเพาะความเกลียดชังของชาวอาหรับที่มีต่อยิวมากขึ้น ซึ่งสำหรับอังกฤษแล้วนี่เป็นสิ่งที่ดี เพราะยิ่งอาหรับเกลียดยิวมากเท่าไร ก็ยิ่งปกครองง่ายขึ้นเท่านั้น

 

     ยิ่งมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยิวในยุโรปถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นจำนวนมาก ทำให้ยิ่งหลบหนีมายังปาเลสไตน์มากขึ้น ลัทธิไซออนนิสต์จึงกลายเป็นแนวคิดกระแสหลักของสังคมชาวยิวไปในที่สุด

====================

 

จัดตั้ง อิสราเอล

 

 

     หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการตั้งองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ขึ้นมา โดยมีเจตนาให้เป็นองค์กรที่ชาติทั้งหลายมาประชุมกัน เพื่อออกประชามติตัดสินเรื่องราวต่างๆ ในโลก แน่นอนว่าปัญหาการแบ่งแยกดินแดนของยิวกับอาหรับในปาเลสไตน์ก็เป็นหนึ่งในปัญหานั้น ฝ่ายอาหรับไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน เพราะคิดว่าผู้อพยพใหม่อย่างชาวยิวไม่ควรมีสิทธิใดๆ ด้านยิวนั้นมุ่งสนับสนุนให้แบ่งแยก เพราะนี่เป็นโอกาสที่จะได้จัดตั้งประเทศที่เป็นของตนเองจริงๆ เสียที 

 

     ในที่สุด คณะกรรมการของสหประชาชาติแบ่งดินแดนออกมา ให้ยิวได้แผ่นดิน 54% ของทั้งหมด ส่วนอาหรับได้ 46% โดยในดินแดนส่วนของยิวนั้นมีชาวอาหรับอาศัยอยู่เกือบครึ่ง และทำการโหวตกันในวันที่ 29 พฤศจิกายน 1947 ได้ผลออกมาคือ สนับสนุนแผนแบ่งดินแดน 33 เสียง โหวตค้าน 13 เสียง ไม่ออกเสียง 10 เสียง และไม่โหวต 1 เสียง ส่งผลให้ชาวยิวได้รับแผ่นดินแห่งพันธสัญญาในที่สุด

 

*สำหรับประเทศที่ไม่โหวต 1 เสียงนั้นก็คือประเทศไทยนั่นเองครับ

 

 

     ในเมื่อฝ่ายอาหรับเป็นผู้เสียประโยชน์โดยตรงจากการแบ่งแยกดินแดนในครั้งนี้ จึงเกิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้นในทันที ชาวอาหรับปาเลสไตน์นับแสนพากันหนีออกนอกประเทศ ขณะที่ไซออนนิสต์ก็ลำเลียงชาวยิวพลัดถิ่น รวมถึงชาวยิวที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุโรปอีกนับแสนเข้ามาอยู่แทนที่ ในที่สุดกลุ่มชาติอาหรับที่อยู่รายล้อม ไม่ว่าจะอียิปต์ จอร์แดน ซีเรีย ก็เข้ามาร่วมวงโจมตีชาวยิวจากทุกทิศ ขยายกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศในที่สุด

 

ผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ ปี 1948

 

     สุดท้ายสงครามจบลงด้วยชัยชนะของชาวยิว และยึดดินแดนได้มากกว่าที่ UN ให้มาตอนแรกที่ 54% ซะอีก ส่วนอาหรับปาเลสไตน์ถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วน ฉนวนกาซา ที่อียิปต์ยึดครองทางตะวันตก และส่วน เวสต์แบงค์ ที่จอร์แดนยึดครองทางตะวันออก 

 

 

     ทางด้านองค์กรไซออนนิสต์ก็ประกาศการตั้งรัฐของยิวขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยตั้งชื่อว่า อิสราเอล นั่นเอง และเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วยคะแนนเสียงฝ่ายข้างมากในวันที่ 11 พฤษภาคม 1949

 

 

 

ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<