ย้อนอดีตของชำร่วยครั้งแรกแห่งสยาม ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน
รูปถ่ายเดินเท้า
เืรื่องเล่าเดินทาง
โดย อักษรจรจัด
พระที่นั่งวโรภาษพิมาน ปีพ.ศ.2556
พระที่นั่งวโรภาษพิมาน เป็นพระที่นั่งในพระราชวังบางปะอิน จังหวัดอยุธยา สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2419 เป็นท้องพระโรงอยู่ทางตอนเหนือของ “สะพานเสด็จ” ซึ่งเป็นท่าน้ำสำหรับเสด็จพระราชดำเนินขึ้นลง
เดิมพระที่นั่งองค์นี้ เป็นเรือนไม้สองชั้น เป็นที่ตั้งประทับและท้องพระโรงร่วมกัน ต่อมารัชกาลที่5 โปรดฯให้รื้อสร้างใหม่เป็นอาคารทรงวิหารกรีก ภายในพระที่นั่งมีท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกว่าราชการ และใช้เป็นที่ประทับ ภายในห้องทรงพระสำราญ และห้องโถงรับรอง ประดับภาพเขียนสีน้ำมัน ภาพเขียนสีฝุ่น และพระราชพงศาวดารจากวรรณคดีไทยหลายเรื่อง
ในรัชกาลปัจจุบัน พระที่นั่งวโรภาษพิมานยังใช้เป็นที่ประทับ เมื่อมีการเสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระราชวังบางปะอิน แต่ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้โดยไม่สามารถถ่ายภาพภายในพระที่นั่งได้ และสุภาพสตรีต้องสวมกระโปรงเข้าชม
พระที่นั่งวโรภาษพิมาน ปีพ.ศ.2461 อันเป็นปีที่ใช้สถานที่แห่งนี้ประกอบพระราชพิธิอภิเษกสมรส
นอกจากนี้ ความสำคัญของพระที่นั่งองค์นี้ ที่เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งสยาม คือเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (พระยศขณะนั้น ภายหลังได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7) กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (พระยศขณะนั้น ภายหลังได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ) โดยพระราชพิธีอภิเษกดังกล่าว จัดขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461
พระทะเบียนสมรส
ซึ่งพระราชพิธีอภิเษกสมรสในครั้งนี้ ถือเป็นพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรก หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ ในการพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งนี้ เป็นการแต่งงานแบบตะวันอย่างแท้จริง กล่าวคือมีการถามความสมัครใจของคู่บ่าวสาว และมีการพระราชทาน “ของชำร่วย” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม กล่าวกันว่าของชำร่วยที่พระราชทานแก่แขกเหรื่อ ตลอดจนข้าราชบริพารผู้เข้าร่วมงานพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งนี้คือ “แหวนเพชร”