รีเซต

มหัศจรรย์แห่งลุ่มเจ้าพระยา ประมวลภาพซ้อมใหญ่กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

มหัศจรรย์แห่งลุ่มเจ้าพระยา ประมวลภาพซ้อมใหญ่กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
7 พฤศจิกายน 2555 ( 11:51 )
18.9K


By อักษรจรจัด


มหัศจรรย์แห่งลุ่มเจ้าพระยา
ประมวลภาพซ้อมใหญ่กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

 

ทัพสื่อมวลชนที่มาปักหลักรอตั้งแต่ก่อนเที่ยง

อีกหนึ่งมุมที่มีช่างภาพไปตั้งกล้องรอคือบริเวณดาดฟ้าหอประชุมกองทัพเรือ

 

 

 

 

 

หน้าสุดคือเรือประตูหน้านำริ้วขบวน คือเรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าิบิ่น

 

สังเกตสีพายในกระบวนฯ จะมีทั้งสีทอง สีเงิน และีสีดำ พายดำนี้สำหรับเรือชั้นนอกสุด จำพวกเรือดั้ง

 

ที่เห็นโขนเรือสีขาวรูปลิงนั้นคือ เรือรูปสัตว์ “กระบี่ปราบเมืองมาร”

 

“กระบี่ปราบเมืองมาร” สังเกตพายสีเงิน เรือชั้นในอย่างเรือที่มีโขนเป็นรูปสัตว์ จะใช้พายสีนี้

 

 

เรือที่โขนเป็นครุฑแดงนี้คือ “ครุฑเตร็ดไตรจักร”

 

 

 

 

 

 

 

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์คล้อยๆ ชะลอมาตามลำน้ำอย่างแช่มช้าและงดงาม

เรือคู่ชักเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ “เรือเอกชัยเหินหาว-เรือเอกชัยหลาวทอง”

 

ลิงหรือขุนกระบี่สีเขียวนี้ เป็นโขนของเรือ “พาลีรั้งทวีป”

 

ตามมาด้วยเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

 

 

 

 

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งลำแรกที่ต่อขึ้นในรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

 

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

 

 

  

    ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับการซ้อมใหญ่เสมือนจริงพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2555 ที่ผ่านมา ก่อนวันจริง ในวันที่ 9 พ.ย. 2555 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค

    อนึ่ง กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ เป็นการจัดกระบวนแบบใหญ่ ประกอบด้วย 5 ริ้วขบวน ใช้เรือจำนวนทั้งสิ้นจำนวน 52 ลำ ความยาวของริ้วขบวนเรือยาวกว่า 1,500 เมตร ใช้กำลังพลฝีพาย และเจ้าหน้าที่ประจำเรือทั้งหมด 2,311 นาย  ฝึกซ้อมมานานกว่า 9 เดือน โดยเรือสำคัญในกระบวนฯ ประกอบไปด้วย ดังนี้

เป็นเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ซึ่งจัดเป็นเรือทรงผ้าไตร

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ จัดเป็นเรือพระที่นั่งทรง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ซึ่งจะประทับบนเรือพระที่นั่งลำนี้

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 จัดเป็นเรือพระที่นั่งรอง

–  เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ จัดเป็นเรือพระที่นั่งรอง

นอกจากนี้ยังมีเรือรูปสัตว์อีกทั้งหมด 8 ลำ หรือ 4 คู่ ได้แก่

เรือครุฑเหินเห็จ คู่กับ เรือครุฑเตร็จไตรจักร
เรือพาลีรั้งทวีป คู่กับ เรือสุครีพครองเมือง
เรือกระบี่ปราบเมืองมาร คู่กับ เรือกระบี่ราญรอนราพณ์
–  เรืออสุรปักษา คู่กับ เรืออสุรวายุภักษ์

สำหรับบรรยากาศซ้อมใหญ่เสมือนจริงเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่บริเวณหอประชุมกองทัพเรือ คลาคล่ำไปด้วยสื่อแขนงต่างๆ จากทั่วโลกและรวมทั้งสื่อมวลชนไทยด้วยเป็นจำนวนมาก ต่างจับจองพื้นที่และมุมในการบันทึกภาพและบรรยากาศการซ้อมใหญ่เสมือนจริงนี้อย่างคับคั่ง ไม่เว้นแม้แต่บริเวณดาดฟ้าของหอประชุมที่เต็มไปด้วยช่างภาพหลายสิบชีวิต

จนเมื่อเวลา 14.00 น. ได้มีการสาธิตการพายท่า “นกบิน” หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ท่าหงส์เหิน” อันเป็นท่าพายเฉพาะเรือพระที่นั่ง ให้ผู้ที่มารอชมการซ้อมเสมือนจริงกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่หอประชุมกองทัพเรือได้ชมกัน สลับการกับแสดงเดี่ยวแซคโซโฟนและขลุ่ยของอ.ธนิศร์ ศรีกลิ่นดี ในเพลง ความฝันอันสูงสุด เรือนแพ และทานตะวัน

จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.30 น. ก็ถึงเวลาที่ประชาชนทุกคนที่มารออยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยารอคอย เมื่อเสียงเห่เรือลอยมาไกลๆ และชัดขึ้นทุกที เมื่อกระบวนเรือฯ เข้ามาใกล้ขึ้น และเป็นที่อัศจรรย์ในอย่างยิ่ง เพราะจากเดิมที่ท้องฟ้ามืดครึ้มและมีเม็ดฝนโปรยลงมาบางๆ จนสื่อมวลชนทุกคนกังวลใน เกรงฝนจะตกระหว่างพิธีซ้อมใหญ่ จนต้องเก็บกล้องลงกระเป๋าหนีเม็ดฝนกันไปรอบหนึ่งแล้ว ก็กลับฟ้าเปิด มีแสงแดดพอที่จะเก็บภาพได้อย่างงดงาม และสภาพอากาศก็เป็นใจให้สื่อมวลชนทุกสำนัก ได้เก็บบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์นี้อย่างไม่มีอุปสรรคใดๆ

หน้าสุดของกระบวนเรือ คือเรือประตูหน้า เป็นเรือนำริ้วกระบวน ประกอบด้วยเรือสองลำ คือ เรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น จากนั้นจึงเป็นเรือพิฆาต จัดเป็นเรือรบ ซึ่งหัวเรือเป็นรูปเสือ ประกอบด้วยเรือสองลำเช่นกัน คือ เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธ์ ส่วนเรือรอบนอกสุดของริ้วกระบวนที่ประกบอยู่ทั้งสองฝั่งนั้นคือเรือดั้ง ถัดมาเป็นเรือที่ประกบกับเรือพระที่นั่งทั้งสองฝั่ง คือ เรือรูปสัตว์ มีทั้งหมด 8 ลำ หรือ 4 คู่  และมีเรือพิเศษอีกคู่หนึ่งคือ เรือเอกไชยเหินหาว เรือเอกไชยหลาวทอง เป็นเรือคู่ชักสำหรับไว้ชักเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

ถัดจากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ คือเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช , เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และปิดท้ายกลุ่มเรือพระที่นั่งด้วยเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ตามลำดับ

จากนั้นจึงปิดท้ายขบวนด้วยเรือตำรวจ และเรือแซง  เป็นอันจบกระบวนพยุหยาตรามทางชลมารคแบบใหญ่

ส่วนกาพย์เห่เรือที่ใช้เห่ในกระบวนฯ แบ่งออกเป็น 3 บท ใช้กาพย์เห่เรือ อันเป็นพระราชนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง เป็นบทเริ่มต้นการเห่ จากนั้นจะเป็น บทสรรเสริญพระบารมี , บทชมเรือขบวน และบทชมเมือง นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย เป็นผู้ประพันธ์ , นาวาโทณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ เป็นพนักงานเห่เรือ

 
      

 

     

 

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ตอนขากลับ