“เก็บเรื่องมาเล่า โดยหนุ่ม สุทน” สุขสันต์วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม 2563เย้ ๆ วันศุกร์แล้วต้องหาโปรแกรมท่องเที่ยวสิครับ อาจมีคำถาม!!! ไปไหนดี หนุ่ม-สุทน ตอบให้ไปเที่ยวอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีสิครับ ถ้าอย่างนั้นไป “วัดเขาตะเครา” ริมแม่น้ำเพชรบุรี ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรี น่าสนใจมาก ๆ ผมขอเริ่มต้นความเป็นมาของวัดนี้ก่อน วัดเขาตะเคราหรือวัดเขาจีนเครามีเรื่องราวเล่าขานกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีและสันนิษฐานกันเองว่าบริเวณเขาเตี้ย ๆ ลูกนี่เป็นป่าหนาทึบต่อมาได้มีการสร้างวัดขึ้นมาโดยช่างชาวจีนมีหนวดเครารุงรังแต่เป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงชาวจีนสามพี่น้องในชุมชนเขายี่สาร พอเรือสำเภาชาวจีนสามพี่น้องที่จอดอยู่ในแม่น้ำย่านชุมชนเขายี่สาร ตำบลเขายี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เกิดเหตุล่มจมลงแม่น้ำเขายี่สารแล้วสามพี่น้องก็แยกย้ายกัน คนพี่คือหลวงปู่ศรีราชาอาศัยอยู่ย่านเขายี่สาร น้องคนที่ 2 มาอยู่บ้านแหลมเมืองเพชรบุรี ส่วนน้องคนที่ 3 ไปอยู่เขาอีโต้ ดังนั้นตามข้อสันนิษฐานเรื่องเล่าสืบมาว่าเมื่อจีนเคราหรือชาวจีนไว้หนวดเครา ชาวประชาจะเรียกจีนเครา เมื่อจีนเครามาช่วยกันสร้างวัดชาวบ้านย่านนี้ก็เลยเรียก “วัดจีนเครา” ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดเขาตะเครา” ตามเหตุผลคือชาวจีนผู้ร่วมสร้างวัดมีหนวดเคราบวกกับเขาโดดเดี่ยวที่ตั้งอุโบสถจึงเรียกวัดเขาตะเครา สำหรับภายในวัดเขาตะเคราประดิษฐานองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของสาธุชนทั้งหลายที่พากันมากราบบูชาขอพรคือองค์หลวงพ่อวัดเขาตะเคราหรือองค์ “หลวงพ่อทองเขาตะเครา” หนุ่ม-สุทนขอเล่าเรื่องราวความเป็นมา เรื่องที่ 1 ขององค์หลวงพ่อเขาตะเคราก่อน เราย้อนหลังกลับไปสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมีกองทัพพม่าเข้ามาตีหัวเมืองต่าง ๆ ของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาก็เลยทำให้ชาวบ้านแหลมส่วนใหญ่เป็นชาวประมงอพยพไปตั้งบ้านเรือนใกล้ ๆ วัดศรีจำปาเมืองแม่กลองหรือเมืองสมุทรสงครามต่อมาชาวประมงทะเลออกหาปลาโดยใช้อวนลากจับปลาปรากฏว่าติดองค์พระพุทธรูป 2 องค์ คือ 1 องค์พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรปัจจุบันประดิษฐานในอุโบสถวัดเพชรสมุทรวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนอีก 1 องค์ปางมารวิชัยนั่งขัดสมาธิราบ องค์ไม่ใหญ่มากมีหน้าตักกว้าง 21 นิ้ว ส่วนสูง 29 นิ้วมอบให้ญาติชาวบ้านแหลมเมืองเพชรบุรีแล้วอัญเชิญประดิษฐานวัดเขาจีนเคราหรือวัดเขาตะเคราเมื่อชาวบ้านกราบบูชาเรียก “หลวงพ่อวัดเขาตะเครา” มานานแสนนานเกิน 200 ปี สำหรับเรื่องที่ 2 เหตุผลเรียกว่าองค์หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครานั้นก็มีเรื่องเล่าอีกเรื่องราวในค่ำคืนหนึ่งตรงกับวันที่ 24 กันยายน ปี พ.ศ. 2527 หลวงพ่อสุขท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาตะเคราท่านเข้าจำวัดหรือภาษาชาวบ้านคือเข้านอนตามปกติ แต่เกิดนิมิตถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์มีพระภิกษุชราภาพ รูปหนึ่งได้นำถุงบรรจุทองมาถวาย? บอกคำสั้น ๆ ว่า “เอาไป” แล้วก็หายไปทันที ต่อมาในปีเดียวกันช่วงค่ำ ๆ ก็เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ในอุโบสถด้วยความร้อนระอุของไฟไหม้ทำให้ทองคำเปลวที่ญาติโยมนำมาปิดองค์หลวงพ่อเขาตะเคราละลายออกมามากมายทางวัดนำไปประกอบพิธีเป็นวัตถุมงคล ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านตั้งแต่นั้นมาเรียก “หลวงพ่อทองเขาตะเครา” ถึงทุกวันนี้ครับ น่าไปเที่ยวนะครับวัดเขาตะเคราเขตอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันทางวัดได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อทองเขาตะเคราลงมาจากอุโบสถประดิษฐานในมณฑปแล้วเขียนบอกองค์หลวงพ่อทองเขาตะเคราองค์จริง ส่วนองค์หลวงพ่อทองเขาตะเคราเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยนั่งขัดสมาธิราบศิลปะเชียงแสน ด้านซ้ายและขวามีองค์พระพุทธรูปยืนเรียกว่าทหาร มีความเก่าแกมากไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้างมีเพียงเรื่องเล่าขานเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้กราบบูชาพระบรมสารีริกธาตุและรูปหล่อหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด หนุ่ม-สุทนไปมาแล้วจึงได้เขียนเล่าเรื่องให้ชาวแฟนเพจทุกท่านฟังหาเวลาไปเที่ยวนะครับ วันนี้ขอบคุณและสวัสดี เรื่องและภาพโดย : หนุ่ม-สุทน รุ่งธัญรัตน์ แฟนเพจเฟสบุ๊ค : https://www.facebook.com/sutonfm100.5/ #ติดตามฟังเรื่องราวการเดินทางเที่ยวทั่วไทยทางคลื่นข่าว100.5fm ทุกวันอาทิตย์เวลา 10.10-11.00 น.