ที่ วัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นภาพ แม่พระธรณีบีบมวยผม ที่ถือว่า สวยงดงามที่สุดในโลก ซึ่งเป็นการวิจารย์และลงความเห็นของอาจารย์ในแวดวงศิลปะหลายต่อหลายท่าน ซึ่งจะสวยงามยังไง เดี๋ยวผมจะพาไปเยี่ยมชมกันครับ ปัจจุบันสามารถเดินทางไปได้สะดวก ยิ่งมีรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็ยิ่งไปง่ายดายมาก ลงที่สถานีสะพานพระนั่งเกล้า แล้วนั่งสองแถวที่มีป้ายเขียน วัดชมภูเวก ปากซอยและหน้าวัด ก็มีป้ายข้อความประมาณเดียวกันกับบทความนี้เลย แม่พระธรณีบีบมวยผมสวยที่สุดในโลก แสดงว่าเป็นวัดที่ ป๊อบปูล่าร์ เอาการอยู่ ต้องขอเรียนให้ทราบก่อนว่า บทความของ Boo Planet ผมอาจจะมีบทความที่เกี่ยวกับวัดอีกมาก แต่จะไม่เน้นไปในทาง หวย เลขเด็ด หรือ ผี ๆ สาง ๆ (ต้องขออภัยด้วย) ถ้าเรื่องไหว้พระทำบุญก็ละไว้ในฐานที่เข้าใจ เราเข้าวัดก็ทำบุญกันอยู่แล้ว แต่ผมจะพาไปดูสิ่งที่น่าสนใจในด้าน สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประวัติบ้าง เท่าที่ผมรู้หรือค้นหามาได้ แต่ผมไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์ หรือ จิตรกร หรือ จบศิลปะอะไรมา ก็จะอธิบายด้วยคำพูดง่าย ๆ แล้วกันครับ วัดนี้มีประวัติที่น่าสนใจทีเดียวครับ เพราะสร้างมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา โดยชาวมอญที่เข้ามาตั้งรกรากบริเวณนี้ ชม หมายถึง ดี ประเสริฐ ภู หมายถึง ภูเขา แผ่นดิน เวก หมายถึง วิเวก สงบร่มเย็นนั่นเอง เข้าไปที่วัด ก็จะเห็น มีโบสถ์ใหม่สร้างอยู่คู่กันกับโบสถ์หลังเก่า หลังโบสถ์เก่าก็จะมีวิหาร ซึ่งเก่าพอๆกัน มีเจดีย์แบบมอญหรือ พระมุเตา รูปแม่พระธรณีบีบมวยผมอยู่ในโบสถ์หลังเก่าครับ โบสถ์เก่า สร้างทรงวิลันดา (มาจากการสร้างเลียนแบบอาคารที่พวกฮอลันดาสร้างเป็นร้านค้าคลังสินค้าในสมัยอยุธยา) ผนังจะไม่ตรงตั้งฉากกับพื้น แต่จะเอียงสอบเข้า หน้าบันไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่ใช้ปูนปั้น หน้าบันก็มีกระเบื้องถ้วยชามประดับลวดลายศิลปะแบบผสม ไม่ได้แบบไทยแท้ การสร้างแบบนี้ก็ถือว่าประหยัดงบประมาณสำหรับวัดสไตล์"บ้านบ้าน" ไม่ใช่วัดหลวง ด้านหน้ามีหลังคาลดชั้นลาดลงมาหรือ "จั่นหับ" จะพบเห็นได้ในวัดเล็กๆ หลายวัด เอาไว้กันแดดกันฝนหรือเตรียมตัวก่อนจะเข้าโบสถ์ เพราะโบสถ์มีขนาดเล็ก โบสถ์เก่าวัดชมภูเวก นี้มีประตูเข้าออก ด้านหน้าเพียงประตูเดียว หรือที่เรียกกันว่า มหาอุด ซึ่งว่ากันว่าเป็นลักษณะที่เหมาะสำหรับปลุกเสกเครื่องรางของขลัง แต่ก็มีเหตุผลทางวิศวกรรมด้วย คือ วิทยาการสมัยโน้น การสร้างอาคารใช้ผนังรับน้ำหนัก ไม่สามารถเจาะหน้าต่างประตูใหญ่ ๆ หลาย ๆ ช่อง แบบยุคต่อมาที่ใช้เสาใหญ่ ๆ รับน้ำหนัก หรือ มีคอนกรีตเสริมเหล็กเข้ามาประมาณสมัยรัชการที่ 5 ภายในโบสถ์ ก็ถือว่า อะเมสซิ่ง มีเพดานไม้และมีดาวเพดาน ภาพวาดจิตกรรมฝาผนัง เลือนลางไปตามกาลเวลา จริง ๆ จิตรกรรมฝาผนังที่วาดจากสมัยอยุธยา เหลือมาให้เราดู ก็จะแทบนับวัดได้เลย ก็จะซีด ๆ โทรม ๆ อย่าว่าแต่สมัยอยุธยาเลยครับ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งถือเป็นยุคเรเนซองส์ มีการสร้างวัดมากมายและมีศิลปินจิตรกรระดับสูงส่ง ไม่ได้มีสงครามมาทำลาย แต่ด้วยสภาพอากาศ วิทยาการหรือความเข้าใจในการอนุรักษ์จิตรกรรม รวมถึงเทคนิคการสร้างอาคารการวาด รวม ๆ กัน ทำให้ บางวัดจิตรกรรมใยยุครัตนโกสินทร์ไปก่อน จิตรกรรรมของวัดสมัยอยุธยาที่เก่ากว่าเสียอีก ในขณะที่บางคนไปต่างประเทศรู้สึกประหลาดใจที่บางงานศิลปะมีอายุเก่าแก่กว่าของบ้านเราแต่ยังคงสภาพดี ของเราความชื้นมาก่อนเลย แต่บางวัดที่ไม่ใช่วัดที่เป็นวัดดังหรือมีนักท่องเทียวเข้าไปชม อุโบสถ หรือ โบสถ์ มักจะปิด ต้องรอพระทำวัดหรือวันพระ การปิดนาน ๆ ความชื้น ก็เกิดได้ หรือ บางวัดมีการบูรณะด้วยการฉาบปูนด้านนอก หรือแม้แต่การเทปูนที่พื้นรอบโบสถ์ ก็ก่อให้เกิดความชื้นได้ นอกจากนี้เรื่องเทคนิคการวาด การลงสี หรือ การเตรียมผนังก่อนการวาด ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละยุคสมัยแต่ละช่าง ส่งผลหมด บางวัดสีลอก กระเทาะออก เป็นแผ่น ๆ บางวัดก็ติดแน่น รายละเอียดค่อนข้างเยอะเอาแค่นี้ก่อนนะครับเรื่องนี้ ใกล้มาถึงไฮไลท์ของเราแล้ว ต้องบอกว่า โบสถ์ในประเทศไทย ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ พระประธานจะเป็นปางมารวิชัย และฝาผนังในโบสถ์ก็จะมีประเพณีนิยม ด้าน ผนังสกัด ผนังหุ้มกลอง (หมายถึงด้านหน้าและด้านหลังของพระประธาน) ด้านหน้าพระประธาน คือด้านที่เราลอดประตูเข้าไปแล้วหันหลังมามองกลับไปที่เหนือประตูส่วนใหญ่อีกเหมือนกัน จะเป็นภาพ พิชิตมาร บรรยายถึงตอนที่ พระพุทธเจ้าตั้งจิตอธิฐานบำเบ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระยามารและบริวารมากมายได้พยายามทำการรบกวนสมาธิเพื่อไม่ให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้สำเร็จ แม่พระธรณี (บางตำราก็เรียก นางธรณี เพราะไม่ใช่เทวดา) จึงได้แสดงปาฏิหาริย์ปราบมารด้วยการ บีบน้ำจากมวยผมเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้เหล่ามารต่างๆพ่ายแพ้ไปในที่สุด ถ้าเราไปวัดที่มีขนาดใหญ่ จำนวนมารที่หนีทุลักทุเลไปกับน้ำ ก็จะมีมากนับร้อยก็มี โบสถ์ที่นี่มีขนาดเล็กก็เลยเห็นภาพมารไม่เยอะ น้ำที่ออกมาจากมวยผมของแม่พระธรณีก็คือน้ำที่เราทำบุญกรวดน้ำ ก็จะไปเก็บอยู่ที่นีเอง เอาล่ะครับ ดูกันให้ดี ๆ ว่า ภาพวาดแม่พระธรณีวัดชมภูเวก สวยขนาดไหน จากที่เทียบกับจิตรกรรมฝาผนังด้านอื่น ๆ ที่ดูลอกเลือนไป แต่ ด้านรูปแม่พระธรณีบีบมวยผม นั้นค่อนข้างชัดสมบูรณ์ ซึ่งหมายความว่า มีการซ่อมแซมเขียนใหม่แน่นอน หลาย ๆ ท่าน ลงความเห็นว่าเป็นฝีมือสกุลช่างนนทบุรี สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งก็ค่อนข้างชวนสงสัย เพราะ เป็นการบอกแค่โลเกชั่น วัดนี้ก็อยู่เขตนนทบุรีอยู่แล้วนี่น่า ไม่เหมือนอย่าง ถ้าเราบอกว่าว่า สกุลช่างอยุธยา หรือ สกุลช่างเพชรบุรี มันจะบอกได้ถึงพีเรียดหรือช่วงเวลาเฉพาะเจาะจงได้พอประมาณ และจุดเด่นของศิลปะด้วย มีอาจารย์ท่านนึงบอกว่า เป็นฝีมือช่างในยุค ธนบุรี น่าสนใจทีเดียวแต่ผมก็ยังหาหลักฐานอื่นมายืนยันไม่ได้ การวาดจิตรกรรมก็ถือว่าเป็นการทำบุญสร้างกุศล ไม่นิยมเขียนชื่อคนวาดอะไรลงไปขนาดวัดหลวงใหญ่ ๆ นานเข้า ยังหาหลักฐานไม่ได้ว่าเป็นผลงานของใครเยอะไป นับประสาอะไรกับวัดเล็กวัดบ้าน ภาพนี้มันสวยยังไง เริ่มตั้งแต่ เป็นภาพแม่พระธรณีบีบมวยผม ที่เป็นท่านั่ง คือส่วนใหญ่ก็มีทั้งนั่งทั้งยืน ขึ้นอยู่ขนาดความสูงของผนังโบสถ์ อยู่ในซุ้มโค้งแหลมคล้ายกลีบบัว การใช้สีซึ่งสมัยนั้นก็ยังมีไม่กี่สีแต่มีการเลือกการลำดับอย่างลงตัว ลายเส้นชัดเจน สัดส่วนรูปร่างสวยงามแขนขวามีลักษณะเหมือนงาช้าง นิ้วมือแต่ละนิ้วที่บีบมวยผมใส่ลายละเอียดชัดเจน ลายผ้าเครื่องประดับ ท่วงท่าดูอ่อนช้อยเหมือนเคลื่อนไหวได้จริง จิตรกรสมัยก่อนไม่มีความรู้เรื่อง ANATOMY(กายวิภาคศาสตร์) หรือเรื่อง PERSPECTIVE (การวาดภาพแบบมีแนวลึก) ถึงแม้ภาพจะออกมาไม่สมจริงตามหลักที่ว่า แต่เราก็รับรู้ถึงความสวยงามได้ไม่มีปัญหา สมเป็นงานศิลปะระดับสูงที่คนยกย่องจริง ๆ ถ้าที่ผมบรรยายมาแล้วยังไม่เข้าใจ ผมก็ยืนยันว่า เท่าที่เคยดูภาพแม่พระธรณีบีบมวยผมมาหลาย ๆ วัด หลาย ๆ จังหวัดแล้ว วัดชมภูเวก คือ สุดยอดที่สุดจริง ๆ ถ้ายังไม่เชื่อ ก็ต้องมาดูเองที่วัดแล้วครับ เรื่องและภาพทั้งหมด โดย Boo Planet