เมื่อกล่าวถึงเมืองลับแล หลายคนคงจะเข้าใจ และเคยได้ยินมาก่อนแล้วในชีวิต ว่าคือเมืองที่เร้นลับไปไม่ถึง หรืออยู่ในจินตนาการวรรณคดีต่างๆ และมีผู้คนอีกจำนวนหนึ่งที่นึกถึง "อำเภอลับแล" หนึ่งในอำเภอขึ้นชื่อของจังหวัดอุตรดิตถ์ มีภูมิภาคพื้นที่ราบสลับภูเขาสูงอาณาเขตทิศเหนือติดกับอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ทิศตะวันตกติดกับอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ด้วยพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้หนาทึบในอดีตกาล จึงถูกเล่าขานจนกลายเป็นตำนาน ว่าเป็นเมืองลึกลับที่ยากแก่การ เข้าถึงจึงถูกขนานนามว่าเป็นเมืองลับแล แต่ในปัจจุบันที่ความเจริญแผ่ซ่านเข้าถึงทุกพื้นที่แล้วนั้น การเข้าถึงจึงไม่ได้ยากเย็นอะไรต่อไป เพียงขับรถผ่านตัวเมืองเข้าไปไม่กี่กิโลเมตร ก็พบกับเมืองลับแลที่มีสถานที่ท่องเที่ยว เช่น น้ำตก แม่พูล จุดถ่ายรูปตลาดสดเทศบาลศรีนพมาศ อาหารขึ้นชื่อประเภทของทอด และที่หนีไม่พ้นเลยก็คือทุเรียนหลงลับแลอันเลื่องชื่อ และแตกสายพันธุ์ต่างๆ ออกไปมากมาย เมืองลับแล แท้จริงแล้วอยู่ที่ไหนกันแน่?....ผมมีโอกาสไปทำงานอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นระยะเวลาราว 5 ปี จึงมีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับสถานที่แห่งหนึ่ง ที่ซึ่งไม่มีถนนเข้าถึง ระบบไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปไม่ถึง สำหรับคำจำกัดความว่า เมืองลับแล ในโลกแห่งความเจริญยุคปัจจุบันนี้แล้วนั้น ผมขอยกให้เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อว่า "บ้านห้วยต้า" ทันทีที่ผมก้าวขาขึ้นเรือเทียบฝั่งของเขื่อนสิริกิติ์ ณ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมคณะ เพื่อปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการคุมสอบ O-Net ปีการศึกษา 2560 ช่วงปลายฤดูหนาวในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเรือดังกล่าวเป็นเรือยนต์ขนาดใหญ่จุคนได้ราวๆ 40 คน กระแสลมที่หอบเอาไอความชื้น พัดโบก มาจากอ่าวขนาดใหญ่ในตัวเขื่อนกระทบที่ผิว จนทำให้รู้สึกได้ถึงความผ่อนคลายอย่างบอกไม่ถูก แม้นว่าแสงแดดจะสาดส่องทั่วท้องน้ำในเขื่อนยามบ่ายก็ตามที เสียงเครื่องยนต์จากเรือ ยังคงดังทั่วบริเวณ ประกอบกับเสียงคลื่นน้ำที่ซัดมากระทบท้องเรือ ทำให้รู้ถึงอารมณ์ของคนที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการสัญจรทางน้ำคณะกรรมการของเราไปกันทั้งสิ้น 7 คน จึงไม่เบียดเสียดกันมากนัก เรานั่งกันสบายๆ และเริ่มใส่เสื้อชูชีพให้แนบแน่นพอดีกับลำตัว ความตื่นตัวที่รับรู้ได้ตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ประกอบกับความสุขใจจากการเสพธรรมชาติ คณะเดินทางจึงสื่อสารต่อกันกันด้วยภาษาเหนือท้องถิ่น ปะปนกับภาษาไทยภาคกลางอย่างเซ็งแซ่ เมื่อเรือเคลื่อนออกจากฝั่งเพื่อมุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านห้วยต้า กระแสลมผสมกับความชื้น พัดแรงยิ่งขึ้น กระทบใบหน้าและร่างกายของผม ให้รู้สึกเย็นจนเริ่มหนาว แสงอาทิตย์ที่ปลดปล่อยมากระทบผิวน้ำสะท้อน ลำลูกคลื่นทีละลูก ตกกระทบมาถึงม่านตาของผมนั้น ช่างงดงามอย่างไร้ที่ติ เรือได้วิ่งเลาะเกาะแก่งไปเรื่อยๆ ราว 20 นาที จะผ่านพ้นออกจากเกาะ ไปยังอ่าวอันเวิ้งว้างกว้างไกล เห็นแต่ภูเขาลูกที่อยู่ห่างไกลออกไป ซึ่งเป็นพื้นที่ของอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอนาหมื่นจังหวัดน่าน 1 ชั่วโมงเศษ หลังจากเรือวิ่งอยู่ในอ่าว ก็ไปถึงยังหมู่บ้านเล็กๆ ที่เรียกว่าเมืองลับแล ซึ่งหมู่บ้านนี้ ก็ได้รับการช่วยเหลือจากทางรัฐบาล และหน่วยงานเอกชนมาโดยตลอด ช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ผมมองเห็นนั้น คือ ถนนลูกรังสลับกับบางช่วงที่เป็นคอนกรีต ผมและคณะได้นั่งรถอีแต๊ก ซึ่งก็คือรถไถขนาดเล็กที่ต่อลำพ่วงท้ายสำหรับนั่ง เป็นรถที่ใช้ในการสัญจรภายในหมู่บ้าน เสียงรถอีแต๊กวิ่งอยู่บนพื้นถนนคอนกรีตผสมลูกรังบางช่วง พร้อมกับแรงสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ จนเขย่าอวัยวะในร่างกายของเราไปทุกส่วน ถนนนี้เป็นเพียงถนนเส้นเดียวที่ตัดผ่านหมู่บ้าน บ้านเรือนที่อยู่ริมฝั่งถนนสองข้างนั้น ยิ้มแย้มแจ่มใส และใช้ชีวิตเหมือนชาวบ้านทั่วไปหมู่บ้านห้วยต้า ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานโซลาเซลล์ แสงไฟส่องสว่างในยามวิกาลมาจากเครื่องปั่นไฟ ซึ่งจะหมดลงในเวลา 23:00 น.และเริ่มต้นใหม่ในเช้าวันถัดไปในยามค่ำคืนของหมู่บ้านห้วยต้านั้น สงบเงียบ และเยือกเย็น ยานพาหนะที่ใช้ ก็คือรถมอเตอร์ไซค์และรถอีแต๊กคันงาม มีรถกระบะเก่าๆ เอาไว้ขนอุปกรณ์ก่อสร้าง และรถไถ บางส่วน ที่ใช้ในการทำสวน อาชีพส่วนใหญ่ของชาวห้วยต้า ก็คือ ชาวไร่ ชาวสวนทุเรียน และชาวประมงในเขื่อนสิริกิติ์ ผมขาดการเยือนหมู่บ้านห้วยต้ามาแล้วเป็นเวลาราว 3 ปีแล้ว เพียงครวญนึกถึงในใจว่า วันนี้จำนวนรถในหมู่บ้าน และโฮมสเตย์ จะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่ที่แน่ๆ ยังคงไม่มีถนนทางหลวงตัดผ่านเพื่อไปถึง ผมจะไปเยือนในทันทีที่มีโอกาสนะครับ "ห้วยต้าเมืองลับแล" ชาวห้วยต้าต้องการชีวิตที่สะดวกสบายเหมือนคนข้างนอกแต่สำหรับผมที่เสมอเหมือนเป็นคนข้างนอกนั้น กลับต้องการให้ห้วยต้าเป็นเมืองลับแลที่น้อยคนจะได้รู้จักและได้ไปถึงสรวงสวรรค์อันล้ำค่านั้นฃต้นซาง 14 มกราคม 2566เครดิตภาพปก : ต้นซาง (ผู้เขียน)ภาพประกอบที่ 1 - 8 : ต้นซาง (ผู้เขียน)🗺 แชร์ที่เที่ยวใหม่ๆ ไม่ว่าจะเที่ยวสายไหนก็มาแวะแชร์กับทรูไอดีคอมมูนิตี้ “ท่องเที่ยว”