ใกล้เข้ามาแล้ว สำหรับงานประเพณีปอยส่างลอง โดยจะจัดในห้วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่เด็ก ๆ กำลังปิดเทอมพอดี เป็นประเพณีบวชเณรของชาวไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลานาน เป็นประเพณีที่งดงาม ด้วยสีสันของเครื่องแต่งกาย ความสนุกสนาน และศรัทธาอันเปี่ยมล้นของประชาชนที่เข้าร่วมประเพณีนี้ เรียกได้ว่าประเพณีปอยส่างลองเป็นสีสันของฤดูร้อน ที่พลิกฟื้นจิตใจจากความห่อเหี่ยวจากสภาพอากาศที่ร้อน ด้วยเสียงดนตรีที่มีเพียงไม่กี่อย่าง กล้อง ฆ้อง และฉาบ ที่ส่งเสียงแสดงเป็นสัญญาณให้รู้ว่าฤดูกาลปอยส่างลองกำลังจะเริ่มขึ้นเร็ว ๆ นี้แล้ว ระยะเวลาของการจัดงาน ประมาณ 4-5 วัน บางแห่งก็ 3 วัน แล้วแต่สะดวกของเจ้าภาพ โดยวันแรกจะเป็นการโกนผมเด็กที่จะเป็นส่างลอง เป็นการรวมตัวของบรรดาญาติผู้ใหญ่ และบางครอบครัวอาจจะมีพ่อข่าม แม่ขาม คือ ผู้ที่ไม่มีลูกชาย แต่ต้องการเป็นเจ้าภาพอุปภัมภ์ในการบวชส่างลองด้วย วันที่ 2 เด็กๆ จะต้องตื่นกันตั้งแต่ตี 4 เพื่อแต่งตัวเป็นส่างลองกัน โดยจะแต่งตัวส่างลองคล้ายเจ้าชายของพม่าในสมัยโบราณ ที่นุ่งโจงกระเบนและสวมเสื้อที่ปักด้วยดิ้นไหมสีเงินหรือสีทองเป็นลวดลายต่าง ๆ โดยเสื้อและโจงกระเบนจะเน้นสีสันที่สดใส จากนั้นพ่อแม่จะเอาเครื่องประดับที่มี ไม่ว่าจะเป็น กำไล แหวน สร้อยคอ มาประโคมใส่ให้ส่างลองกันเต็มยศเต็มเครื่อง ส่วนศีรษะก็จะโพกด้วยผ้าแพรเหน็บด้วยช่อดอกไม้สีต่าง ๆ ปัจจุบันใช้ดอกไม้พลาสติก เนื่องจากในฤดูร้อนหากใช้ดอกไม้สดจะเหี่ยวง่าย ในช่วงสาย ๆ ของวันนั้นจะมีการแห่ส่างลองไปขอขมาญาติผู้ใหญ่ในหมู่บ้านตนเอง และใกล้เคียง บางแห่งอาจะใช้เวลา 1-2 วัน จนขอขมาครบทั่วทุกหลังคาเรือน วันที่ 4 ถือเป็นวันที่สำคัญที่สุด เป็นวันแห่ครัวหลู่ ไปตามถนนในหมู่บ้าน ซึ่งทุกคนทั้งเด็ก วัยรุ่น คนเฒ่าคนแก่ จะแต่งตัวด้วยผ้าสีสดใส เพื่อให้ตัดกับสภาพบรรยากาศที่แห้งแล้ง มาร่วมขบวนแห่กันถ้วนหน้า มีวงดนตรีไทใหญ่ที่ส่งเสียงแซ่เซ็งสร้างความคึกคักให้กับผู้มีศรัทธาในงานนี้จนต้องโยกย้ายขยับตามจังหวะดนตรีที่เร้าใจยิ่งนัก วันที่ 5 เป็นวันสุดท้ายของประเพณีปอยส่างลอง เป็นวันที่ส่างลองจะได้ก้าวเข้าสู่โลกพระพุทธศาสนาอย่างเต็มตัว บวชเรียนเพื่อทดแทนคุณพ่อแม่ รวมทั้งเรียนรู้การทำความดี การฝึกระเบียบวินัย เพื่อเป็นเด็กดีของพ่อแม่และสังคมต่อไป ส่างลองบางคนยังไม่คุ้นชินในการห่างบ้านก็มีงอแงบ้างตามประสาของเด็ก แต่ผ่านไปสักพักก็จะคึกคักตามหมู่เพื่อนส่างลองด้วยกันเอง นับได้ว่า ประเพณีปอยส่างลอง ได้รวมวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อาศัยในจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้อย่างลงตัว เป็นประเพณีที่แสดงถึงความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า และความสมัครสมานสามัคคีของกลุ่มคนที่ร่วมกันจัดงานให้ลุล่วงด้วยดี ขอบคุณภาพถ่ายจาก งานประชาสัมพันธ์ เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน