ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 สายเชียงใหม่ – เชียงราย ถือได้ว่าเป็นเส้นทางที่มีมนต์เสน่ห์อีกเส้นทางหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว ยามที่ไอหมอกอ้อยอิ่งโอบเขา ภาพทิวทัศน์สองข้างทางของถนนสายนี้ สามารถแปรเป็นวัตถุดิบสร้างผลงานให้แก่ศิลปินได้ดีทีเดียว มีเสน่ห์หรือไม่มีเสน่ห์ก็อยากให้นึกเอา ว่าขนาดผู้กำกับการแสดงชื่อดังอย่าง หนุ่ม-อรรถพร ธีมากร ก็ยังสั่งให้ ใหม่ - ดาวิกา โฮร์เน่ ในบทบาทของ “แม่หญิงแพรนวล” ขับรถผ่านไป-มาในช่วงระหว่างเส้นทางนี้อยู่หลายฉากเลยทีเดียว ตอนที่ยกกองมาถ่ายทำละคร “บ่วงบรรจถรณ์” ฉบับรีเมคล่าสุดที่เชียงราย ทางหลวงสายนี้เป็นเส้นทางแยกมาจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ที่แยกศาลเด็ก จังหวัดเชียงใหม่ ตัดผ่านอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสันทรายและอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่สรวย และอำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย สองข้างทางนอกจากจะโอบล้อมไปด้วยขุนเขาอันเขียวขจี ที่พักราคาย่อมเยาท่ามกลางธรรมชาติ และร้านกาแฟให้นั่งชิลล์ได้ตลอดเส้นทางแล้ว ถ้าใครมีโอกาสได้เดินทางโดยใช้ถนนเส้นนี้ โดยเฉพาะช่วงดอยนางแก้ว – แม่สรวย (หมวดทางหลวงแม่สรวย แขวงทางหลวงเชียงรายที่ 1) แล้วล่ะก็ อาจจะเผลอไปสะดุดตาเข้ากับสถานก่อสร้างอันโดดเด่นทว่าไร้ชื่อเรียกแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนแถว ๆ บ้านโป่งตอง หมู่ 14 ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ใช่แล้วครับ สถานที่แห่งนี้ไม่มีชื่อ และก็ไม่ทราบด้วยว่าใครเป็นเจ้าของ ทราบแต่เพียงว่ามันถูกระงับการก่อสร้างก่อนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อราวปี พ.ศ. 2550 นี่เอง เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนไปยังกรมศิลปากรว่าด้วยเรื่องแบบอาคารที่มีการก่อสร้างเลียนแบบศิลปกรรมของประเทศเพื่อนบ้าน บางคนก็เรียกปราสาทขอมจำลองแห่งนี้ว่า “อมฤตาลัย” ตามชื่อของละครดังเรื่องหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่บางคนก็รู้จักมันในชื่อที่อุปโลกน์ขึ้นมาเองว่า “ปราสาทขอมเชียงราย” “อมฤตาลัยเชียงราย” หรือ ปราสาทขอมจำลองที่ว่านี้ มีลักษณะเป็นโครงสร้างอาคารเกินสองชั้น รูปแบบทางสถาปัตยกรรมมีการก่อสร้างเลียนแบบปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา คือ เป็นศิลปะบายน (Bayon หรือตามคำศัพท์ในภาษาเขมรคือ ប្រាសាទបាយ័ន) ตามรูปแบบศิลปะของเขมรระยะสุดท้าย ในยุค Angkorian Period หรือ ยุคเขมรเมืองพระนคร ซึ่งน่าจะอยู่ในราว ๆ รัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1761) และที่สำคัญที่สุด จุดเช็คอินฟินแอนด์อินดี้ ณ สถานีแรกตรงประตูสู่เชียงรายนี้ ใช้เงินลงทุนในการสร้างไปแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทเลยทีเดียว ก่อนที่โครงการก่อสร้างดังกล่าวจะถูกล้มพับไป ตัวอาคารภายนอกของสถานที่นิรนามแห่งนี้ มีการก่อสร้างเป็นรูปปราสาทสามยอด ตั้งตระหง่านโดดเด่น สามารถมองเห็นได้ชัดในระยะเกินหลายร้อยเมตร ในส่วนของรูปทรงสัณฐานภายนอกประกอบล้อมด้วยระเบียงคตรอบอยู่เป็นชั้น ตามฝาผนังเรียงรายไปด้วยรูปสลักนูนต่ำของนางอัปสรา (มาจากคำว่า อัปชรา ที่แปลว่า ผู้ไม่แก่ หมายถึง นางฟ้า) ส่วนบริเวณด้านในจะเป็นรูปสลักของกษัตริย์แสดงแนวคิดแบบเทวราชาหรือสมมติเทพ ห้อมล้อมด้วยเหล่าขุนนาง ตลอดจนหมู่นักรบ ที่เรียกตามภาษาขะแมร์ว่า "เนี้ยะมูย" หรือที่คนไทยเรียกเพี้ยนมาเป็นคำว่า "นักมวย" นั่นเอง ภายในตัวปราสาทค่อนข้างมืด เพราะไม่มีไฟฟ้าและช่องระบายลม ประกอบกับผนังซึ่งเป็นสีโทนทึบไม่สะท้อนแสง จึงแนะนำว่าหากเป็นไปได้ ควรจะแวะเข้ามาเยี่ยมชมในเวลากลางวัน เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของผู้เยี่ยมชมเอง (ความจริงไม่ใช่อะไรหรอก ผู้เขียนเคยไปเช็คอินในตอนกลางคืนแล้ว มันมืดและวังเวงจนน่าขนลุกอยู่เหมือนกัน) ปราสาทขอมนิรนาม ทว่าดูยิ่งใหญ่และมีมนต์ขลังดังกล่าว ตั้งอยู่ติดกับน้ำพุร้อนแม่ขะจานชนิดที่เดินเชื่อมไปหากันได้เลย ถ้าเดินทางมาจากเชียงใหม่ ปราสาทจะอยู่ตรงฟากซ้ายมือ ถัดจากร้านสะดวกซื้อ 7-11 สาขาแรกของประตูสู่เมืองเชียงรายไปเพียงนิดเดียวเท่านั้นเอง บริเวณโซนเดียวกันและฟากตรงข้ามของปราสาทมีทั้งร้านกาแฟและร้านจำหน่ายของที่ระลึก แถมยังมีบ่อน้ำพุร้อนให้แช่เท้าผ่อนคลายอีกด้วย ในแต่ละวันจะมีกรุ๊ปทัวร์ชาวจีนมาแวะเยี่ยมเยือนที่นี่เป็นจำนวนไม่น้อย แต่โดยมากจะไม่ค่อยมีใครไปทางโซนปราสาท จึงสบายใจได้ว่าจะไม่มีใครมาแย่งซีนเวลาที่เรากำลังโพสต์ท่าถ่ายภาพสวย ๆ แล้วเช็คอินอย่างแน่นอน ใครมีโอกาสได้เดินทางผ่านมาทางนี้ ก็อย่าลืมแวะมาปักหมุดเช็คอินสถานีฟินงบประมาณ 100 ล้านที่ปราสาทขอมเชียงรายแห่งนี้ได้ฟรี ไม่มีค่าเข้าชม ... เพราะกาลเวลาเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย ไม่แน่ว่าเมื่อเวลาผ่านไปอีกสัก 200-300 ปี เราอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่ซ่อนอยู่ในภาพประวัติศาสตร์สักใบหนึ่งก็ได้ ว่าในกาลครั้งหนึ่งอารยธรรมแห่งอาณาจักรเขมรได้แผ่อิทธิพลมาจนถึงเชียงราย หรือ เวียงไชยนารายณ์ของพญามังรายเจ้าได้อย่างไรกัน? ภาพประกอบ โดย ผู้เขียน