รีเซต

เที่ยวนครปฐม วัดไร่ขิง สามพราน วัดดัง นครปฐม ทำบุญ ไหว้พระใกล้กรุงเทพ ขอพร หลวงพ่อวัดไร่ขิง

เที่ยวนครปฐม วัดไร่ขิง สามพราน วัดดัง นครปฐม ทำบุญ ไหว้พระใกล้กรุงเทพ ขอพร หลวงพ่อวัดไร่ขิง
เอิงเอย
12 เมษายน 2565 ( 11:45 )
85.2K

      นครปฐม เป็นจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ ที่มีที่เที่ยวมากมายเลยค่ะ อีกทั้งยังนั่งรถ ขับรถมาเที่ยวได้ง่ายๆ เลย วันนี้ เราเลยจะขอเอาใจสายบุญ ด้วยการพาไป เที่ยวนครปฐม กราบขอพร หลวงพ่อวัดไร่ขิง ที่ วัดไร่ขิง สามพราน วัดดัง นครปฐม ไปทำบุญ ไหว้พระใกล้กรุงเทพ ให้จิตใจผ่องใสกันสักหน่อย เอาล่ะ ตามกันมาได้เลยค่ะ

 

faak / Shutterstock.com

วัดไร่ขิง นครปฐม ไหว้พระใกล้กรุงเทพ

 

     วัดไร่ขิง เป็นหนึ่งในวัดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครปฐม ซึ่งได้รับการตั้งชื่อใหม่เป็น วัดมงคลจินดาราม แต่ชาวเมืองนครปฐมก็ยังคงเรียกติดปากกันว่า “วัดไร่ขิง” ตามแบบเดิมค่ะ โดยภายในวัดประดิษฐาน พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวนครปฐม ให้การสักการะบูชา คือ หลวงพ่อวัดไร่ขิง และยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในนครปฐมอีกด้วย

 

Prapan Chulapinyo / Shutterstock.com

 

ตำนาน หลวงพ่อวัดไร่ขิง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์

 

tomgigabite / Shutterstock.com

 

      พระอุโบสถของวัดเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม ภายในพระอุโบสถวัดไร่ขิงนั้นประดิษฐาน หลวงพ่อวัดไร่ขิง พระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน ค่ะ องค์พระพุทธรูปเป็นเนื้อทองสัมฤทธิ์ มีพุทธลักษณะงดงามด้วยพุทธศิลป์ 3 สมัย คือ พระรูปผึ่งผายแบบเชียงแสน พระหัตถ์เรียวงามแบบสุโขทัย และพระพักตร์งดงามในแบบรัตนโกสินทร์ ทำให้มีการสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสมัยไทยล้านนาและล้านช้างซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านให้การสักการะบูชา

 

Spycat007 / Shutterstock.com

 

      โดยตามตำนานนั้นเล่าต่อกันมาว่า หน้าวัดไร่ขิงนั้นมีแม่น้ำนครชัยศรี หรือแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ได้อัญเชิญ องค์พระพุทธรูปนี้ มาจากวัดศาลาปูน โดยนำล่องมาทางน้ำด้วยการทำแพไม้ไผ่ เมื่อถึงหน้าวัดไร่ขิงจึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ภายในอุโบสถ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์พอดี

 

faak / Shutterstock.com

 

      และในขณะที่อัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นจากแพ ได้เกิดปาฏิหาริย์ มีฝนโปรยลงมา ท่ามกลางอากาศก่อนหน้านี้ ที่ร้อนระอุ ทำให้เกิดความเย็นฉ่ำ จึงมีความเชื่อที่ว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนร้ายคลายความทุกข์ให้หมดไป นั่นเอง และยังทำให้ในวันสงกรานต์ของทุกปี มีงานเทศกาลนมัสการปิดทองประจำปีหลวงพ่อวัดไร่ขิง สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้นั่นเองค่ะ

ที่เที่ยวนครปฐม วัดสวย วัดไร่ขิง นครปฐม

Sunisa Kanphian / Shutterstock.com

 

      นอกจากนี้ภายในวัดไร่ขิงยังมี พิพิธภัณฑ์ของเก่า ที่รวบรวมของเก่าเช่น ถ้วยชาม หนังสือเก่า ซึ่งชาวบ้านนำมาถวายวัดมาจัดแสดงไว้ให้ได้ชมกัน

 

ท้าวเวสสุวรรณโณ วัดไร่ขิง

      อีกทั้งภายในวัดยังได้มีพิธีอัญเชิญเทวรูป ท้าวเวสสุวรรณโณ (ท้าวกุเวรเทพบุตร) ประดิษฐานบนแท่นบูชา โดยในการนี้ได้รับความเมตตาจาก พระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (หลวงพ่ออิฏฐ์  ภทฺทจาโร) เจ้าอาวาส วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม ในการทำพิธีเบิกเนตรและประดิษฐานบนแท่นบูชา เพื่อให้ประชาชนได้มาสักการะบูชาอีกด้วยค่ะ

       ทำบุญ ไหว้พระ เที่ยวพิพิธภัณฑ์กันจนครบ มาต่อกันด้วยการทำทานกันบ้างค่ะ ที่ริมแม่น้ำหน้าวัด จะมีจุดให้อาหารปลานั่นเอง โดยมักจะมีปลาสวายตัวโตหลายร้อยตัวเลยทีเดียวค่ะ นักท่องเที่ยวสามารถมาซื้อขนมปังเลี้ยงอาหารปลาได้ตรงบริเวณนี้

 

ประวัติวัดไร่ขิง

 

 

     ในอดีต บริเวณนี้เป็นที่อยู่ของชาวจีน และนิยมปลูกขิงกันอย่างแพร่หลาย ทำให้เมื่อมีการสร้างวัดขึ้น จึงมีชื่อว่า “วัดไร่ขิง” โดยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าวัดได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ได้มีการเล่าสืบทอดต่อกันมาว่า วัดไร่ขิง ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2394 โดย พระธรรมราชานุวัตร (พุก) ชาวเมืองนครชัยศรี ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ในขณะนั้น ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาปูนวรวิหาร ได้กลับมาสร้างวัดไร่ขิงและวัดดอนหวาย แต่ยังไม่ทันเสร็จสิ้น ท่านก็มรณภาพเสียก่อน โดยในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จ พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 10 ค่ำ เดือน 5 ปีระกา พ.ศ.2428

 

somdul / Shutterstock.com

 

     ทำให้การดำเนินการสร้างวัดไร่ขิงจึงตกเป็นของ พระธรรมราชานุวัตร (อาจ จนฺทโชโต) เจ้าอาวาสวัดศาลาปูนรูปที่ 6 ซึ่งเป็นหลานชายของท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) แต่ไม่ทราบว่าท่านกลับมาปฏิสังขรณ์วัดเมื่อใด
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2446 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เสด็จตรวจเยี่ยมวัดในเขตอำเภอสามพราน สมเด็จฯ ได้เสด็จมาที่วัดไร่ขิง และทรงตั้งชื่อวัดใหม่ว่า “วัดมงคลจินดาราม” แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นมายาวนาน และความเคยชินของชาวบ้านทำให้ยังคงใช้ชื่อว่า วัดไร่ขิง มาจนถึงปัจจุบัน


ข้อมูล วัดไร่ขิง นครปฐม

 

ที่เที่ยวนครปฐม ที่น่าสนใจอื่นๆ