เสียมเรียบ หรือเสียมราฐ แม้จะไม่ใช่เมืองหลวง แต่ก็เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของกัมพูชา และสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว ที่นี่ก็เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวหลายเชื้อชาติที่ต้องการมาเห็นร่องรอยความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมขอมโบราณสักครั้งในชีวิต จนเกิดเป็นคำกล่าวที่ว่า “See Angkor Wat and die” สำหรับผมที่แม้จะทำงานท่องเที่ยว แต่กลับใช้ชีวิตส่วนใหญ่นั่งรากงอกอยู่ในออฟฟิศ การได้มาสัมผัสชีวิตเรียบๆในเสียมเรียบ ให้ความรู้สึกที่ไม่ธรรมดาเหมือนที่จั่วหัวไว้ การเดินทางจากกรุงเทพมาเสียมเรียบนั้นแสนง่าย เพราะมีหลายสายการบิน บินตรง ราคาไม่แพงมาก และ เป็นเส้นทางที่สั้นจนเรากินขนมที่แจกบนเครื่องยังไม่ทันหมดด้วยซ้ำ คนไทยเราเข้าเสียมเรียบได้สบายๆ ไม่ต้องใช้วีซ่าหรือผ่านขั้นตอนมากมายในสนามบิน และจากสนามบินเข้าโรงแรมนั้นก็แสนใกล้ ไม่เกิน 20 นาทีก็ถึงโรงแรมและได้เช็คอินแล้ว เรื่องของค่าเงินนั้น เงิน USD ก็สามารถใช้จ่ายได้ทั่วไปเลย ไม่จำเป็นต้องแลกเงินเรียล (Riel) ก็ได้ แต่สำหรับบางร้าน คุณอาจจะได้เงินทอนเป็นเงินเรียลเท่านั้นเอง วันแรกนั้น สายไปสำหรับการเที่ยวนครวัด (Angkor Wat) ผมแนะนำว่าควรเผื่อเวลาไว้อย่างน้อยหนึ่งวันเต็มๆ วันแรกของเราจึงเริ่มต้นด้วยการสำรวจวิถีชีวิตของชาวกัมพูชาโดยรอบโรงแรม สิ่งแรกที่ทำให้ผมอึ้งไปหลายวินาทีตอนแรกเห็นคือ ราคาทั้งเบียร์และน้ำที่นี่ ราคา 1 USD เท่ากัน หมายความว่าเบียร์ถูก แต่การซื้อน้ำดื่มธรรมดาในราคาขวดละเกือบ 30 บาทนั้น นับว่าค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับที่บ้านเรา อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากกว่าเบียร์ และอยากลิ้มลองในทุกที่ที่ไปเยือนคือ กาแฟ ครับ เราอ่านรีวิวหลายโพสต์จาก Pantip จนพบร้าน Brown Coffee ที่อยู่ในระยะที่เดินได้จากโรงแรม และไม่พลาดที่จะลอง สำหรับอากาศที่ร้อนระอุแล้ว กาแฟเย็นๆใส่นมรสนุ่มเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยฟื้นพลังยามบ่ายได้เป็นอย่างดี จากถนนที่เราเดินผ่าน ผมพบว่าไอติมไผ่ทองที่ผมกินเป็นประจำก็ไปถึงที่นั่นเหมือนกัน พ่อค้าขายน้ำมะพร้าวบนท้ายจักรยานที่ห้อยมะพร้าวเต็ม 2 ข้าง คล้ายที่เวียดนาม ก่อนจะไปถึงบริเวณถนนคนเดิน หรือ Pub Street ซึ่งจะเรียกว่าเป็น Central area ของเสียมเรียบก็ว่าได้ ลูกค้าชาวต่างชาติบางคนชอบที่จะพักใกล้ตลาดและถนนคนเดิน เพราะมีกิจกรรมให้ทำมากมายนอกเหนือจากการพักผ่อนในโรงแรมและการเยี่ยมชมปราสาทโบราณ การนั่งจิบเบียร์เย็นๆบนผับชั้น 2 มองแสงไฟ และผู้คนที่เดินขวักไขว่ยามค่ำคืนก็เป็น Highlight ของเมืองเสียมเรียบ ตลาดที่นี่ขายตั้งแต่ของที่ระลึกเหมือนในจตุจักร, พระพุทธรูปและของแต่งบ้านสไตล์ขอม เสื้อยืดและนาฬิกาแบรนด์เนมในราคาย่อมเยาว์ ไปจนถึงอาหารตากแห้ง เช่น ปลาตากแห้ง หรือไส้กรอกที่แขวนเรียงรายเต็มแผง สำหรับผม ผมว่าไม่ต่างจากตลาดจตุจักรบ้านเราเท่าไหร่ ยิ้มอ่อนแบบบายนที่นครธม มีคำกล่าวที่ว่า กุลสตรีชาวเขมร ต้องยิ้มอย่างสงวนท่าที ด้วยการยิ้มที่มุมปากแบบไม่เห็นฟัน เรียกว่ายิ้มแบบบายน ผม แม้ไม่ใช่กุลสตรี แต่ก็ลองหัดยิ้มแบบนั้นระหว่างนั่งตุ๊กๆท้องถิ่นจากโรงแรมไปบนถนนที่บางส่วนยังเป็นลูกรัง ทิ้งฝุ่นตลบไว้เบื้องหลังระหว่างทางไปปราสาทนครธม ก่อนขึ้นเราต้องทำบัตรก่อน ค่าเข้าชมทั้งนครวัด – นครธมอยู่ที่ 37 USD ต่อคนต่อวัน (ประมาณ 1,100 บาท) หรือถ้าอยากเอาให้เต็มอิ่มจุใจ คุณจะซื้อตั๋วแบบ 2 หรือ 3 วันในราคาที่สูงขึ้นอีกหน่อยก็ได้ การซื้อตั๋วที่นี่ต้องถ่ายรูปติดบัตรด้วย ป้องกันการเวียนใช้ ที่ประตูทางเข้านครธม หรือที่เรียกกันว่าประตูทิศใต้ (South Gate) พระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในศิลปะบายนส่งยิ้มอย่างเมตตาให้พวกเรามาแต่ไกล สองข้างทางเป็นประติมากรรมพญานาคที่มีเทวดา และยักษ์ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนตลอดทางตั้งแต่ปากทางเข้าจนถึงซุ้มประตู วรง (Varong) ไกด์มือหนึ่งของเราอธิบายว่า เทวดาและยักษ์ เป็นตัวแทนระหว่างความดี และความชั่วในตัวมนุษย์ นครธมและปราสาทต่างๆ ภายในนครธมสร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระพักตร์ของพระโพธิสัตว์ภายในนครธม จึงออกแบบมาให้คล้ายกับพระพักตร์ของพระองค์เช่นกัน เรานั่งตุ๊กๆ มาต่อจนถึงปราสาทบายน ปราสาทหลักของนครธมที่เราเห็นกันคุ้นตา ปรางค์ปราสาททั้ง 54 ปรางค์ถูกสลักเป็นภาพพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหันออกไปทั้งสี่ทิศ นับรวมได้ถึง 216 พระพักตร์ รูปแบบรอยยิ้มอ่อน เป็นศิลปะที่มีรูปแบบเฉพาะตัวจนสามารถเรียกได้ว่า “ศิลปะแบบบายน” ปราสาทตาพรหม ฉากอันโด่งดังจากทูม เรเดอร์ ตุ๊กๆมาส่งเราที่หน้าทางเข้าซึ่งเป็นซุ้มประตูเล็กๆ เราเดินเท้าต่อไปตามถนนดินอีกเกือบสิบนาที เด็กๆชาวเขมรเดินตามเราชักชวนด้วยภาษาต่างๆให้ซื้อของที่ระลึก ซึ่งเราเก็บไว้อุดหนุนขากลับดีกว่า จนถึงบริเวณปราสาทเก่าที่เหี้ยน เตียน โล่งเหลือแต่ฐาน ผมก็ยังไม่เอะใจหรือเห็นความยิ่งใหญ่ใดๆนอกเหนือจากต้นไม้ใหญ่ที่สูงทะลุโดดเด่นเหนือปราสาท ตัวปราสาทมีหลายจุดที่กำลังบูรณะซ่อมแซม ซึ่งวรงบอกว่า จากการเป็นมรดกโลก หลายๆ ชาติ ระดมทุนมาช่วยกันบูรณะซ่อมแซมตัวปราสาทให้คงสภาพไว้ เราเดินอ้อมตัวปราสาทที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซม ไปตามทางเดิน จนถึงด้านหลังปราสาท ส่วนมุมของปราสาทนั้นเองที่ทำให้ผมตะลึง ผมจำฉากนี้ได้จากภาพยนตร์ระดับโลกเรื่องทูม เรเดอร์ (Tomb Raider) รากไม้ใหญ่ของต้นสะปงที่เลื้อยปกคลุมส่วนทับหลังของปราสาท เว้นช่องหน้าต่างไว้ โดยรอบเต็มไปด้วยซากปรักหักพังของอาคารที่พังถล่มลงมา ผมถาม วรงว่า ทำไมถึงปล่อยให้รากไม้ขึ้นปกคลุมปราสาทได้ขนาดนี้ ที่นี่ถูกทิ้งร้างมาก่อนหรือ เกิดอะไรขึ้น เวลานั้น สยามกำลังรุกราน และทำให้ชาวเขมรโบราณจำต้องปล่อยวัด และปราสาทจนร้างและมีสภาพอย่างที่เห็น คำตอบของวรงทำให้เราได้แต่เงียบ ด้วยความรู้สึกผิดในใจลึกๆ สงครามไม่ทำให้อะไรดีเลย ตอนเดินกลับ เราถูกประกบโดยเด็กน้อยชาวเขมรที่เร่ขายของที่ระลึกให้พวกเราด้วยภาษาอังกฤษ ผมแกล้งถามราคาน้องด้วยภาษาสเปน ซึ่งน้องก็ตอบราคากลับมาเป็นภาษาสเปนอย่างคล่องแคล่วและชัดมาก ผมอุดหนุนแม่เหล็กติดตู้เย็น และโปสการ์ดเป็นของฝากพี่ๆที่ออฟฟิศเท่าที่งบเราพอจะซื้อได้ ซึ่งน้องก็ได้พยายามขอให้เราอุดหนุนอย่างอื่นเพิ่มด้วย “I have no money left now” ผมบอกน้องเป็นภาษาอังกฤษ แปลว่า ผมไม่มีเงินเหลือจะซื้อของเขาได้แล้ว “No money, no honey!” เด็กน้อยตอบอารมณ์ประมาณว่า ไม่มีเงินก็อดไป ก่อนที่จะเดินแยกตัวจากพวกเราไปขายคนอื่นต่อ วรงบอกว่าเด็กๆ เหล่านี้พูดได้หลายภาษาแม้จะไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะ เรียนเอาจากนักท่องเที่ยวหลากหลายสัญชาติที่มาเที่ยวที่นี่ ทำให้ผมนึกถึงเด็กน้อยชาวอาข่าที่แม่จัน จ.เชียงราย ที่สามารถเร่ขายของที่ระลึกให้แขกของผมเป็นภาษาสเปนได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งที่ไม่ได้เรียนหนังสือ อาศัยเรียนเอาจากนักท่องเที่ยวเช่นกัน ผมบริจาคให้ชาวบ้านที่โดนกับระเบิด และให้น้องๆ ไปส่วนหนึ่งเพื่อเป็นทุนการศึกษา ก่อนจะกลับไปขึ้นรถที่ปากทางเข้าเพื่อไปยังจุดหมายถัดไป เราออกมาทานอาหารกลางวันกันในเขตเมืองที่ร้านมะลิ (Mali’s Restaurant) ร้านอาหารเขมรฟิวชั่นส์ที่วรงมักจะพาลูกค้าชาวต่างชาติมาทาน ร้านตกแต่งด้วยสไตล์โมเดิร์น มีเทวรูปประดับ ให้ความรู้สึกเหมือนกึ่งพิพิธภัณฑ์และมีมนต์ขลัง อาหารเขมรหลายอย่างปรุงออกมาให้ถูกลิ้นคนไทย กินได้ไม่เลี่ยน ตอนนั้นผมยังแพ้แป้ง และไม่สามารถทานข้าวได้ปกติ เมื่อแจ้งที่ร้าน ทางร้านก็เลือกทำมันบดมาให้ผมแทน สำหรับผมที่นับว่ากินยากในตอนนั้น เป็นความประทับใจอย่างหนึ่งที่อยากเล่าให้ฟังครับ นครวัด ความยิ่งใหญ่ที่ควรได้เห็นสักครั้งในชีวิต ตอนบ่ายเรากลับมาในเขตมรดกโลกเพื่อเยี่ยมชมส่วนที่สำคัญที่สุด คือ นครวัด (Angkor Wat) ขณะขับผ่านคูน้ำขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบเขตนครวัด วรงเล่าว่าในอดีตสมัยที่มีสงครามกับพวกจาม กษัตริย์จะเลี้ยงจระเข้ไว้ในคูน้ำนี้เพื่อป้องกันข้าศึก ผมถามวรงว่า จามคือใคร วรงบอกว่า จามคือชาวมุสลิมเวียดนามที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ปัจจุบันคือเวียดนามกลาง เป็นข้าศึกสำคัญที่เปิดศึกกับชาวเขมรโบราณหลายต่อหลายครั้ง รถจอดส่งเราที่ริมรั้วซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ปกคลุมหนาแน่น เมื่อเดินเท้าต่อมาอีกพักหนึ่ง จึงพบว่า เราอยู่ด้านหลังของนครวัด วรงบอกว่าเนื่องจากอากาศร้อนและคนค่อนข้างแน่น เขาจึงพาเราเลี่ยงนักท่องเที่ยวมาอีกด้านหนึ่ง ความตื่นตะลึงของนครวัด คือ การสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่กว่าล้านตารางเมตร (พื้นที่รวมทั้งหมดของหมู่ปราสาทนครวัดเท่ากับ 1.6 ล้านตารางเมตร หรือ 402 เอเคอร์ เป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ในยุคที่ไร้เครื่องจักร และเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่กลับสามารถออกแบบศาสนสถานให้มีมุมเท่ากันทุกด้าน บันไดที่ลาดชันที่สามารถคงอยู่มาได้นับพันปีจนกลายมาเป็นมรดกโลกชิ้นสำคัญที่หลายคนอยากมาสัมผัสสักครั้งในชีวิต รูปสลักด้วยศิลปะอันงดงามบนหินทราย ที่ใช้เพียงลิ่ม และการตอกด้วยมือ ผมคิดว่าคนในอดีต น่าจะรูปร่างใหญ่โต ถึงได้สร้างสถานที่ที่ใหญ่ขนาดนี้ ทุกอย่างดูใหญ่ไปหมด จนแม้แต่ขั้นบันไดขึ้นสู่ตัวปราสาท ผมยังแทบจะต้องปีนขึ้น แต่วรงบอกว่า การสร้างบันไดที่ชัน และแคบ เป็นกุศโลบายให้คนที่เดินขึ้นต้องก้มศีรษะตลอดทางเดินขึ้น เป็นการแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าไปในตัว เราเดินทะลุระเบียงคดมา 2 ชั้นกว่าจะเข้าถึงตัวปราสาทหลัก ลูกกรงหน้าต่างลายลูกมะหวดเป็นชั้นๆ ทำให้ผมนึกถึงวัดที่อยุธยา รูปสลักนูนต่ำของอัปสราที่อ้อนช้อย ส่งยิ้มให้ รายล้อมอยู่ทั่วผนัง กับลวดลายเล็กๆเป็นรูปดอกไม้และเทพองค์เล็กๆ สะท้อนพลังศรัทธาของคนโบราณที่สรรค์สร้างศิลปะอันประณีต อ่อนช้อย หากจิตรกรรมฝาผนังที่วัดไทย เป็นการวาดและลงสี ที่นี่กลับเป็นการสลักภาพนูนต่ำทั้งหมด ซึ่งยากกว่า และคงทนกว่ามาก ภายในปราสาทที่สร้างเพื่อเป็นเทวสถานตามหลักศาสนาฮินดู ผมกลับพบรูปสลักของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ปีกด้านหนึ่ง และ อีกมุมหนึ่งเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์สลักด้วยหิน หลังจากเก็บความแปลกใจนี้มาถามวรงที่รอผมอยู่ด้านล่าง เขาให้คำตอบว่า รูปบูชาในศาสนาพุทธทั้งเถรวาทและมหายานนี้ สร้างขึ้นภายหลัง ผมเดาว่าน่าจะร่วมสมัยกับปราสาทบายนที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระองค์เป็นชาวพุทธมหายานที่เคร่งครัด และการแกะรูปพระโพธิสัตว์นี้ ก็สร้างด้วยศิลปะบายน หลังจากมาย้อนอ่านประวัติ ผมเสียดายที่ไม่ได้ตามหานางอัปสราที่ยิ้มเห็นฟัน ซึ่งว่ากันว่า มีแค่ 2 นางในปราสาทเท่านั้นที่ยิ้มเห็นฟัน ในขณะที่อีกนับร้อยรอบปราสาทนั้น เป็นรอยยิ้มแบบบายน หากใครที่มีโอกาสได้มาที่นี่ สามารถตามหานางได้ครับ เราเดินกลับออกมาทางด้านหน้าของปราสาทที่เป็นทางเดินทอดยาวสู่อีกด้านหนึ่ง สวนทางกับนักท่องเที่ยวมากมายหลายกลุ่ม มองย้อนกลับไปจึงเห็นพระปรางค์ 3 ยอดที่โดดเด่น สง่างามอยู่เบื้องหลัง สะพานหลักที่ข้ามจากเขตนครวัด ข้ามสู่คูเมืองอีกฝั่งหนึ่งกำลังปิดซ่อมตอนที่ผมไป เราจึงได้เดินข้ามโป๊ะแทนที่จะเป็นสะพานหิน อากาศร้อนระอุจนแทบจะหมดแรงขณะนั่งรถกลับโรงแรม น้ำใจชาวเสียมเรียบ เย็นวันเดียวกัน เนื่องจากบางครั้ง ผมก็จองอาหารเย็นกับโชว์รำอัปสราไว้สำหรับลูกค้าชาวต่างชาติ เพื่อขอบคุณที่เดินทางกับเรา ถึงเวลาที่ผมต้องลองสัมผัสบรรยากาศนั้นดูบ้าง เย็นวันนั้น ผมเรียกตุ๊กๆจากโรงแรมไปที่ร้านอาหารซึ่งอยู่ในซอยที่ค่อนข้างเงียบสงบ อาหารท้องถิ่นหลายเมนูแปลกชื่อ แปลกลิ้น แต่ก็ทานได้ไม่ยากเท่าไหร่ และเหมือนเดิม สำหรับผมที่แจ้งทางร้านอาหารว่าแพ้แป้ง ทางร้านจัดมันบดมาให้อย่างสวยงาม โชว์อัปสรา ทุกนางล้วนงดงาม อ่อนช้อย ยิ้มแบบบายนในเครื่องทรงอัปสรา งดงามราวกับหลุดมาจากผนังนครวัดจริงๆ และไม่แปลกใจเลยที่แขกชาวต่างชาติของผมแทบทุกคนประทับใจ นอกจากนี้ยังมีโชว์การละเล่นพื้นบ้าน สะท้อนวิถีชีวิตชาวเขมรในชุดสีสันสดใส รวมถึงโขนรามเกียรติตอนหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา ในสไตล์กัมพูชา ซึ่งเนื้อหาไม่ต่างกับบ้านเรา แต่เรื่องศิลปะโขนกับการแต่งกาย ผมว่าของไทยประณีตกว่าครับ การแสดงจบตอนประมาณเกือบ 2 ทุ่มครึ่ง ในเวลานั้น ผมเพิ่งคิดได้ว่า กัมพูชามีวัฒนธรรมที่คล้ายกับสังคมต่างจังหวัดในประเทศไทย คือ สองทุ่มนี่ดึกแล้ว และส่วนใหญ่เข้านอนกันแล้ว ถ้าไม่ใช่ชาวต่างชาติ หรือบริเวณ Pub Street ร้านรวง และบ้านเรือนรอบด้านที่เราเห็นแสงไฟสว่างช่วงหัวค่ำ ต่างปิดเงียบสนิท รถรับจ้าง ทั้งตุ๊กๆและมอเตอร์ไซค์ที่เคยจอดหน้าร้านก็เงียบหายสนิทครับ เราได้แต่ยืนชะเง้อซ้ายขวาว่าจะกลับโรงแรมยังไงดี ระหว่างที่พวกเรากำลังสอบถามเจ้าหน้าที่ของทางร้าน น้องอัปสราที่แสดงบนเวทีถามถึงที่พักผม “เดี๋ยวหนูไปส่งค่ะพี่ โรงแรมอยู่ไม่ไกลจากบ้านหนูเท่าไหร่” ผมกับเพื่อนที่มาด้วยกัน จึงได้ซ้อนมอเตอร์ไซค์ของน้องอัปสรา 2 คนที่ใจดีขับมาส่งถึงหน้าโรงแรม และไม่คิดเงินสัก Riel เดียว ผมให้น้องไปจำนวนหนึ่งเป็นค่าขอบคุณ ผมทั้งแปลกใจ และซาบซึ้งกับน้ำใจของชาวเสียมเรียบ ที่แม้ความเจริญทางวัตถุยังไม่มากเท่าไหร่ แต่ความเจริญทางจิตใจนั้น ผมว่าคนที่นี่ ไม่แพ้ชาติใดในโลก มีอีกหลายที่ในเสียมเรียบที่ผมยังไม่มีโอกาสไปด้วยข้อจำกัดทางเวลาและงานที่รัดตัว ทั้งบันทายศรี ปราสาทสีชมพูที่งดงามที่สุดในกลุ่มปราสาทเขมร, บันทายสำเหร่, พระลานเสด็จขี้เรื้อน, ปราสาทบาปวน หรือแม้แต่โตนเลสาป ที่ผมยังไม่มีโอกาสไป ที่นี่เป็นความงดงามทางอารยธรรม ที่ถ้ามีโอกาสหลังหมดโควิด ผมจะกลับไปอีกครั้ง น้องอัปสราที่ผมไม่ได้ถามชื่อไว้ เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมตัดสินใจเขียนบทความเกี่ยวกับที่นี่ และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ผมอยากให้คุณ ได้มาสัมผัสความงดงามของที่นี่ด้วยตัวของคุณเอง เครดิตภาพ: Pornpan Kleepkaew อ้างอิง: - https://bit.ly/3azsHwb - https://bit.ly/2yBnCGe