หลายๆคนอาจจะกำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงวัดหยุดหรือเทศกลาต่างๆ เพื่อพักผ่อนหย่อนใจจากการทำงานหรือภาระหน้าที่ แต่สถานที่หลายๆแห่งอาจจะไม่ตอบโจทย์ของการพักผ่อนนัก เพราะเนื่องจากจะแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวแล้ว สถานที่เที่ยวก็อาจจะไม่สะอาดร่มรื่นที่จะเหมาะแก่การพักใจให้สะบายซะทีเดียว ดังนั้นแล้วผมจึงอยากแนะนำถึงวัดในใจกลางเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เหมาะแก่การทำให้ใจสงบพร้อมกับดูศิลปะทางล้านนาที่ผสมเข้ากับศิลปะทางพม่าแล้วยังมีประวัติความเป็นมายาวนานและยังเป็นวัดที่สำคัญมากอย่างยิ่งในสมัยอดีต วัดแสนฝาง หรืออีกชื่อหนึ่งในสมัยก่อนนั้นชื่อว่า วัดแสนฝัง เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนถนนท่าแพ ซึ่งถนนเส้นนี้จะมีวัดตลอดสองข้างทาง (ถ้าเดินทางมาจากประตูท่าแพจนมาถึงวัดแสนฝาง) ได้แก่ วัดมหาวัน วัดเชตวัน และวัดบุพพาราม จนมาถึงวัดแสนฝาง โดยแต่ละวัดนั้นระยะทางไม่ห่างกันมากนัก สามารถเดินเที่ยวแต่ละวัดได้ วัดแสนฝางนั้นเป็นวัดที่มีอายุเก่าแก่มานาน สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2119 โดยมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญและมีศิลปะที่ผสมผสานระหว่างล้านนาและทางพม่าที่สวยงาม วิหารลายคำ เป็นวิหารที่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (ราชวงศ์พระเจ้าเจ็ดตน) องค์ที่ 7 และเจ้าทิพเกสรราชเทวี (พระราชบิดาและพระราชมารดาในพระราชชายาเจ้าดารารัศมี) โปรดให้รื้อพระตำหนักของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 ลง แล้วนำมาถวายวัดเมื่อ พ.ศ. 2420 โดยให้ปรับปรุงดัดแปลงสร้างเป็นวิหารปิดทองล่องชาดทั้งหลัง เมื่อแล้วเสร็จจึงโปรดให้ฉลองสมโภชพระวิหารในปี พ.ศ. 2421 วิหารหลังนี้สร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา หลังคาเตี้ย และลาดต่ำ ประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลัก และปูนปั้นปิดทอง หน้าบันตกแต่งด้วยไม้แกะสลักลายก้านขด และสัตว์หิมพานต์ขนาดความยาว 49 เมตร กว้าง 12 เมตร โดยวิหารลายคำหลังนี้ เป็นสถานที่พุทธศาสนิกชนที่อาศัยอยู่บริเวรรอบวัดหรือผู้มีศรัทธามาทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางศาสนา และเป็นสถานที่พระภิกษุสงฆ์องค์สามเณรผู้ที่จำวัดนั้นใช้เป็นสถานที่สวดมนต์ ทำวัตรเช้า-เย็นอีกด้วย พระอุโบสถ สร้างโดยพระราชศรัทธาของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ตัวอาคารเป็นตึกสองชั้นแบบร่วมสมัย ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ชายคาประดับด้วยไม้ฉลุแบบขนม ปังขิง ส่วนชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้ลวดลายวิจิตร ด้านข้างประดับรูปดาว สันหลังคาประดับรูปกินรี ซึ่งพระอุโบสถนี้ ใช้เป็นที่อุปสมบทของทางวัด ซึ่งจะเปิดให้เห็นภายในแต่ละปีน้อยมาก เนื่องจากต้องมีการอุปสมบทเกิดขึ้นเท่านั้น และพระอุโบสถนี้ หญิงสตรีจะไม่สามารถเข้าไปด้านในได้เด็ดขาด ด้วยเหตุที่ว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง พระเจดีย์มงคลแสนมหาชัย ที่วิจิตรงดงาม มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ชเวดากองของทางพม่า และพระวิหารลายคำ ซึ่งเป็นที่ประทับเก่าของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ พระเจดีย์มงคลแสนมหาชัยนี้จะสวยงามในเวลาที่มีเทศกาลหรือวันสำคัญทางศาสนา เนื่องจากทางวัดนั้นจัดตกแต่งสถานที่ให้สวยงามและเหมาะให้นักท่องเที่ยวหรือพุทธศาสนิกชนเข้าไปถ่ายรูปหรือทำการสักการะบูชาพระเจดีย์ นอกจากจะมีพระวิหารลายคำ เจดีย์มงคลแสนมหาชัย และพระอุโบสถแล้ว ยังมีสถาปัตยกรรมอื่นให้ชมอีก เช่น กุฏิ 100 ปี โยนการพิจิตร หรือ หม่องปันโหย่ว อุปโยคิน เป็นพ่อค้าไม้ชาวพม่า ได้เข้ามาทำงานในคุ้มหลวงของเจ้าอินทวิชยนนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 พระบิดาพระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้รับพระราชทานนามสกุล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “อุปะโยคิน” ที่หน้าต่างทำซุ้มปูนปั้นแบบตะวันตก ซึ่งเป็นที่จำวัดของพระสงฆ์สามเณรในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีหอไตรกลางน้ำ และหอเวรยามที่ใช้รักษาความปลอดภัยเมื่อครั้งโบราณในยามที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี มาฟังธรรมในวิหาร รับศีลในกุฏิ 100 ปี ที่เป็นกุฏิของหลวงโยนการพิจิตร ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่แปลกตาเป็นอย่างมาก พญานาคคู่ทรงอิทธิฤทธิ์ ตั้งอยู่ ณ ซุ้มประตูนาควิไลยสว่างฟ้า ซึ่งพญานาคคู่นี้ได้สร้างเมื่อครั้งครูบาปัญญา ปญฺญาวํโส (มรณภาพปี พ.ศ.2343) ในตอนนี้ทางวัดได้บูรณะทาสีพญานาคให้สวยงามมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม วัดแสนฝางแห่งนี้นั้น เป็นวัดที่เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมตามวัดมาเหนื่อยๆ แล้วก็มักจะมาพักผ่อนหย่อนใจ ชมศิลปะของสถาปัตยกรรมของทางวัดไปด้วย ซึ่งบวกกับบรรยากาศของทางวัดนั้นที่สงบร่มรื่น โดยทางเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระมหาดุลภาร ญาณสมฺปนฺโน เห็นถึงความสำคัญของการปลูกต้นไม้เพื่อให้เกิดความร่มเย็น และให้นักท่องเที่ยวได้ใช้ร่มเงาของต้นไม้อีกด้วย