รีเซต

พิพิธภัณฑ์ผ้าไทย เอกลักษณ์ไทยที่คนไทยควรไปดู

พิพิธภัณฑ์ผ้าไทย เอกลักษณ์ไทยที่คนไทยควรไปดู
31 ตุลาคม 2555 ( 08:04 )
16.2K

นอกจากประเทศไทยอันเป็นประเทศแม่ที่รักสุดใจแล้ว อีก 2 ประเทศที่อุมัยหลงใหลนักหนา ญี่ปุ่น กับ อิตาลี…โดยเฉพาะญี่ปุ่นนี่รู้สึกใกล้กันมาก เพราะเราก็เอเชียด้วยกัน เหนือกว่าความน่ารักคิกขุ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผู้คนมีระเบียบวินัยอย่างน่าประทับใจที่สุด (ในความเห็นส่วนตัวนะคะ) และสิ่งหนึ่งที่ชื่นชมมากคือ การผสมผสานวัฒนธรรมเอกลักษณ์ประจำชาติเข้ากับเทคโนโลยีก้าวล้ำทันสมัยได้อย่างลงตัว…

ท่ามกลางเมืองใหญ่ที่โอบคลุมไปด้วยกลิ่นไอตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาในสังคม คนญี่ปุ่นยังคงใส่กิโมโนเดินบนถนนได้อย่างไม่มีใครมองว่าเป็นตัวประหลาด แม้แต่ในเวทีคอนเสิร์ตเพลงร็อก เด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นยังสวมใส่กิโมโนไปเย้วๆหน้าเวที เห็นแล้วช่างอัศจรรย์ใจจริงๆ…นี่แหละเสน่ห์ของญี่ปุ่น

พอย้อนกลับมามองดูตัวเอง เราหลงใหลประเทศเขา ดิ้นรนไปใส่ชุดประจำชาติของเขา ทั้งๆที่ไทยเรามีสิ่งล้ำค่าที่ประเมินค่าไม่ได้….ผ้าไทย ชุดไทย ทำไมเราถึงใส่ใจให้ความสำคัญน้อยนักล่ะ…คิดแล้วสมเพชตัวเองนักหนา…ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียชาติเกิดที่ได้เกิดมาในสายเลือดไทย จึงขอไปซึบซาบความเป็นชาติไทยที่ QUEEN SIRIKIT MUSEUM OF TEXTILES พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

 

QUEEN SIRIKIT MUSEUM OF TEXTILES พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อยู่ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง จัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมุ่งหวังให้เป็นแหล่งความรู้ที่ยั่งยืนเกี่ยวกับผ้า ตลอดจนประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของคนไทย

สิ่งแรกที่ต้องปฎิบัติและรำลึกไว้เสมอเมื่อจะเข้าชมคือ ต้องแต่งกายสุภาพ ขาสั้น กระโปรงสั้นจุ๊ดจู๋ สายเดี่ยวนี่ไม่ได้เลยนะคะ อนุโลมให้ใส่กางเกงยีนส์ได้แต่ต้องเป็นยีนส์ที่สุภาพ อย่าขาดรุ่งริ่ง และภายในห้องจัดแสดงห้ามถ่ายทั้งภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งค่ะ

ว่าแล้วก็ยืดอกเดินเข้าไปอย่างภูมิใจในสายเลือดไทย…ภายในพิพิธภัณฑ์มีด้วยกัน 2 ชั้น ชั้นบนเป็นห้องจัดแสดงเครื่องแต่งกายในราชสำนักยุคต่างๆ รวมทั้งฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในส่วนชั้นล่างแบ่งเป็นห้องประชุม, ห้องกิจกรรม, ห้องสมุด, ร้านพิพิธภัณฑ์…

เมื่อก้าวเข้าสู่ห้องจัดแสดง อุมัยแทบจะลืมหายใจเลยค่ะ ทั้งตื่นเต้น ทั้งตื้นตัน เป็นบุญสายตาจริงๆที่ได้เห็นฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จริงๆ และที่ทำให้ยืนอึ้งน้ำตาไหล ยกมือขึ้นพนมไหว้โดยอัตโนมัติคือ ฉลองพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ตอนนั้นในหัวของอุมัยพูดแต่ว่า “นี่คือเสื้อของพ่อ ชุดของแม่ ที่พระองค์ทรงสวมใส่จริงๆ”…เชื่อว่าทุกคนที่มีโอกาสได้เข้าไปชมเองกับตาจะรู้สึกเช่นเดียวกัน (อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่าภายในห้องจัดแสดงห้ามถ่ายรูป ดังนั้นต้องไปชมด้วยตาของตัวเองค่ะ)

หลังจากชื่นชมความงดงามของฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมของไทยเราแล้วก็ย้อนกลับลงมาชั้นล่าง ภายในห้องกิจกรรมสามารถถ่ายภาพได้ มีการจัดแสดงเครื่องหอมจากธรรมชาติสำหรับใช้กับผ้าไหม…ที่เราสามารถเปิดทดลองดอมดมกลิ่นหอมๆได้ อีกทั้งตามผนังจะเขียนถึงวิธีการดูแลผ้า การแต่งกายชุดไทยสมัยเก่า โดยมีภาพประกอบอันวิจิตรด้วย

และที่พลาดไม่ได้เลย ทางพิพิธภัณฑ์จัดให้ผู้เข้าชมได้ลองใส่ชุดไทยด้วย…ไม่ง่ายนักที่จะได้ใส่ชุดไทยสวยๆในสมัยเก่า ดังนั้นเมื่อมีโอกาสต้องจัดเต็มกันล่ะค่ะ 

ถอดชุดสมัยใหม่ ย้อนไปห่มสไบสวมผ้านุ่งเป็นที่หนำใจแล้วก็มุ่งหน้าไปร้านพิพิธภัณฑ์ซึ่งจำหน่ายของที่ระลึกที่ทำจากผ้าไหมของไทยเราค่ะ มีตั้งแต่ของชิ้นเล็กๆ อย่างเช่น กระเป๋าใส่เศษสตางค์, เครื่องประดับ, กำไลข้อมือ ไปจนถึงกระเป๋าถือใบโต, เสื้อผ้า ที่ล้วนแล้วทำมาจากผ้าไทยเราทั้งสิ้น หรือแม้แต่กระดาษโพสท์อิท ยังทำเป็นลายผ้าไทยเลยค่ะ…(ภายในร้านห้ามถ่ายภาพเช่นกันค่ะ)

ชื่นชมความงดงามที่บ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นชาติไทยแล้ว หากรู้สึกกระหาย ด้านข้างพิพิธภัณฑ์มีร้านเครื่องดื่มไว้บริการด้วยค่ะ…

อยากให้คนไทยทุกคนได้ไปชมความงดงามของผ้าไทยและฉลองพระองค์ของ 2 พระองค์ด้วยสายตาของตัวเองค่ะ…

พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งอยู่ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง (ระหว่างประตูวิมานเทเวศน์กับประตูวิเศษไชยศรี) เปิดทำการทุกวัน เวลา 09.00-16.30 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา 15.30 น.)

ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท ผู้สูงอายุ(65 ปีขึ้นไป) 80 บาท นักเรียน-นักศึกษา,เด็กอายุ 12-18 ปี 50 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2225-8420, 0-2225-9430

เรื่องโดย : อุมัย

ทุกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาหาร และสุขภาพ คลิกที่ http://travel.truelife.com

มาเป็นเพื่อนกับเราได้อีกหนึ่งช่องทางที่ Facebook http://www.facebook.com/TravelTruelife

Update วันพุธ 31 ตุลาคม 2555