ผมใช้บริการรถไฟไทยบ่อยมาก เดินทางต้นสายยันสุดสายหลายครั้ง ตั้งแต่สถานีหัวลำโพง ถึงสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เคยใช้ทั้งบริการชั้น 3 นั่งเก้าอี้ตั้งฉากเอนไม่ได้ กระทั่งชั้นนอน เหยียดขาหลับสบาย เวลาเดินทางเกิน 20 ชั่วโมง หลังๆ มานี่วัยไม่เอื้ออำนวยจึงเน้นโดยสารกับตู้นอนเท่านั้น และบ่อยหนที่จะเจอนักเดินทางถาม “แล้วไหนที่นอน” เนื่องจากขึ้นมาแล้ว มีแต่เบาะนั่ง ไม่มีเตียงนอน ทั้งๆ ที่ซื้อตั๋วระบุชัดเจน ชั้น 2 นอน ภาพโดยผู้เขียน คิดว่าเพื่อนๆ ใน TrueID In-Trend ก็คงนึกภาพตู้นอนของรถไฟไทยไม่ออก นั่นเพราะคนที่ไม่คุ้นเคยกับการเดินทางโดยรถไฟ จะเข้าใจว่า ตู้นอน เหมือนกับในภาพยนตร์ยุโรป อเมริกา ที่เคยดู คือ เป็นห้องส่วนตัว มีเตียงพร้อม ตู้อย่างในหนัง ก็มีครับ เรียกว่า ตู้นอนชั้น 1 เป็นห้องส่วนตัว ฉะนั้นเวลาซื้อตั๋วต้องซื้อพร้อมกัน 2 ที่ (ห้องหนึ่ง มีสองที่นั่ง) ป้องกันคนแปลกหน้า ไม่รู้จักกันมาอยู่ด้วยกัน อาจเคอะเขิน ปกติตู้นอนชั้น 1 มีไม่มาก บางขบวนก็ไม่มีเลย รถไฟท้องถิ่น ภาพโดยผู้เขียน ตู้นอนอีกประเภท คือ ตู้นอนชั้น 2 ส่วนนี้มีเยอะ หากขึ้นไปในตู้นอนจะพบกับที่นั่งเรียงกันเป็นพรืด ไม่ยักจะเจอเตียงนอน ไม่แปลกที่จะเจอคำถาม อ้าว! แล้วไหนที่นอน บทความนี้จะทำการคลายข้อสงสัยนอนบนรถไฟไทย นอนอย่างไรให้กระจ่าง 1. เมื่อขึ้นมายังชั้น 2 นอน คุณจะพบกับที่นั่งเรียงเป็นคู่ๆ หันหน้าเข้าหากัน และจะแปลกใจว่าไหนล่ะเตียง ภาพโดยผู้เขียน 2. เตียงอยู่นี่ – พอได้เวลาสัก 19.00 น. เป็นต้นไป พนักงานปูเตียงจะเข้ามา ไขล็อก เปิดช่องด้านบน เตียงชั้นบนก็จะปรากฏให้เห็น ส่วนเบาะนั่งหันหน้าเข้าหากันนั้น สามารถดึงออกมาให้ชนกัน และกลายเป็นเตียงนอน 2.1 จะเห็นว่า เหนือศีรษะ มีกล่องคล้าย ช่องใส่สัมภาระ (ภาพโดยผู้เขียน) 2.2 พนักงานจะเปิดช่องเหนือศีรษะออกมา จะกลายเป็นเตียงนอนชั้นบน (ภาพโดยผู้เขียน) 2.3 เบาะนั่งถูกดึงให้ชิดกัน กลายเป็นเตียงนอนชั้นล่าง (ภาพโดยผู้เขียน) 3. เมื่อที่นั่งกลายเป็นเตียงนอน 2 ชั้นแล้ว พนักงานจะกั้นม่านให้ ภาพโดยผู้เขียน 4. ราคาเตียงล่างแพงกว่าเตียงบน เพราะกว้างกว่า มืดกว่า โยกเยกน้อยกว่า ภาพโดยผู้เขียน ตลกคาเฟ่เคยเล่นคำถามว่า “รถไฟกับหมูเหมือนกันอย่างไร?” ตอบ “เพราะมี 3 ชั้น เหมือนกัน” สำหรับนักเดินทางที่หลงใหลการโดยสารรถไฟแล้ว จะรู้ดีว่า รถไฟมีหลายชั้น แต่เรียกแค่ 3 ประกอบด้วย ชั้น 1 เป็นชั้น VIP ชั้น 2 แบ่งเป็น ชั้น 2 นอนปรับอากาศ, ชั้น 2 นอนพัดลม, ชั้น 2 นั่งปรับอากาศ และชั้น 2 นั่งพัดลม ชั้น 3 แบ่งเป็น ชั้น 3 ก. และ ชั้น 3 ข. ประเภท ก. คือ ชั้น 3 ที่พ่วงกับขบวนรถเร็วและรถด่วนเบาะนั่งนุ่ม ส่วนประเภท ข. คือ รถท้องถิ่น ที่มีที่นั่งไม้แข็งๆ วิ่งระยะไม่ใกล้ ภาพโดยผู้เขียน ใช้บริการรถไฟ แม้เสียงจะดัง ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง เอ้ย! ฉึกกะฉัก ฉึกกะฉัก ตลอดเวลาที่วิ่ง แต่ก็มีเสน่ห์น่าสัมผัส หากไม่รีบ ไม่เร่งนัก ลองนั่งรถไฟกันไหมครับ *********