รีเซต

วัดบวรนิเวศวิหาร วัดสวย กรุงเทพ ชมศิลปะอ่อนช้อย วิจิตรงดงาม

วัดบวรนิเวศวิหาร วัดสวย กรุงเทพ ชมศิลปะอ่อนช้อย วิจิตรงดงาม
SummerB
13 ตุลาคม 2564 ( 08:00 )
24K

     หากกล่าวถึงพระอารามหลวงที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ หนึ่งในนั้นก็ต้องมี วัดบวรนิเวศริหาร วัดสวย กรุงเทพ อย่างแน่นอนค่ะ เพราะนอกจากมีความเกี่ยวของกับพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีหลายพระองค์แล้ว ศิลปกรรมภายในวัดเองก็มีความวิจิตรอ่อนช้อย และมีความสำคัญต่อพุทธศาสนาในเมืองไทยอีกด้วยค่ะ 

 

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดสวย กรุงเทพ 

พระอารามหลวง ประจำ 2 รัชกาล

 

ประวัติ วัดบวรนิเวศราชวิหาร

 

     วัดบวรนิเวศวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศวิหารราชวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และเป็นวัดประจำ 2 รัชกาลของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ รัชกาลที่ 6 และ รัชกาลที่ 9 ตั้งอยู่ระหว่าง ถนนตะนาว และ ถนนเฟื่องนคร บางลำภู กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อ วัดใหม่ ตั้งอยู่ใกล้กับ วัดรังษีสุทธาวาส แต่แล้วก็ได้รวมเข้าเป็นวัดเดียวกันโดย กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ ใน รัชกาลที่ 3 และมีการทำนุบำรุง บูรณะปฏิสังขรณ์วัดเรื่อยมาจนถึงสมัย สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ทรงมาประทับ และก่อตั้ง คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ขึ้น รวมถึงบูรณะปฏิสังขรณ์และสร้างเสริมถาวรวัตถุไว้มากมาย

 

 

     วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี รวมถึงบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ทรงเคยมาผนวช เช่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  6,  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  7  และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9  

     นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ถึง 4 พระองค์ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์,  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส,  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เรียกได้ว่า วัดบวรนิเวศวิหาร นั้นมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอย่างมากเลยค่ะ



ศิลปกรรมที่น่าสนใจใน วัดบวรนิเวศวิหาร

 

     วัดบวรนิเวศวิหาร ถือเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่วิจิตรงดงามมากๆ แห่งหนึ่งเลยค่ะ ยิ่งรวมเข้ากับบรรยากาศสุดคลาสสิกแถบ บางลำพู ก็ยิ่งทำให้รู้สึกเหมือนได้ย้อนวันวานไปยังย่านพระนครในอดีตเลยทีเดียว 

 

 cowardlion / Shutterstock.com

 

     เมื่อเข้าไปในวัด จะพบว่าพื้นที่ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เขตพุทธาวาส และ เขตสังฆวาส โดยมีกำแพงและคูน้ำกั้น ในส่วนของเขตพุทวาสจะมี พระอุโบสถ ที่ประดิษฐานของ พระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ คือ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต) ที่อันเชิญมาจาก วัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี เชื่อว่าเดิมเป็นศิลปะขอมตั้งแต่สมัยทวาราวดี แต่พระยาชำนิหัตถการ นายช่างกรม พระราชวังบวรฯ เลาะออกทำพระศกใหม่ด้วยดินเผาให้เล็กลง ลงรักปิดทอง ทำให้มีกลิ่นอายของศิลปะยุครัตนโกสินทร์ และ พระพุทธชินสีห์ ที่อิญเชิญมาจาก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

 

 

      สถาปัตยกรรมของพระอุโบสถมีการผสมผสานระหว่างหลายวัฒนธรรม ไทย จีน และ ยุโรป ทำให้พระอุโบสถของ วัดบวรนิเวศวิหาร มีความยิ่งใหญ่และวิจิตรงดงามในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ภายในวัดก็ยังมีจุดที่น่าสนใจอื่นๆ อีก เช่น พระอุโบสถวัดรังสี วิหารพระศาสดา วิหารเก๋ง พระมหาเจดีย์ หอระฆัง และ หอไตร เป็นต้น 

 

วัดบวรนิเวศวิหาร วัดสวย กรุงเทพ

JOYFULLIFE / Shutterstock.com

 

     ในส่วนของเขต สังฆวาส ก็จะมีพระตำหนักต่างๆ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเคยผนวชที่วัดนี้ เช่น ตำหนักปั้นหยา เป็นสถาปัตยกรรมแบบอาคารบ้านเรือนฝรั่ง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ตำหนักจันทร์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 และ ตำหนักเพชร อีกตำหนักที่มีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและฝรั่งเข้าด้วยกัน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ค่ะ

 

พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

 

 

       หากเดินไปทางด้านหลังของวัด จะพบกับ พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ที่จัดตั้งอยู่ใน อาคารมนุษยนาควิทยาทาน อาคารรูปทรงคล้ายโบสถ์คริสต์ ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมโกธิคประยุกต์เข้ากับรายละเอียดของศิลปะไทย แรกเริ่มสร้างขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2446 เพื่อเป็นอาคารเรียนของ โรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร แต่ต่อมาในสมัยของ สมเด็จพระญาณสังวร อดีตสมเด็จพระสังฆราช ก็ได้มีการบูรณะซ่อมแซ่ม และปรับเปลี่ยนให้เป็น พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2552 ค่ะ 

 

 

       ด้านในพิพิธภัณฑ์จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 6 โซน แต่ละโซนก็จะจัดแสดงพระประวัติพระเกียรติคุณ ผลงานอัฐบริขารและข้าวของเครื่องใช้ของเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารทุกพระองค์ แม้จะไม่ได้นำมาจัดแสดงได้ทุกชิ้น แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาเยี่ยมชมได้ความรู้เกี่ยวกับเจ้าอาวาสแต่ละพระองค์ได้ไม่มากก็น้อย

 

 

อ้างอิง :



ข้อมูล วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร



ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<