ออกตามหาวัวแดงในผืนป่าใหญ่ กับศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ จังหวัดกาญจนบุรี
Words & Photo by aichan
ใครที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวชมธรรมชาติ จังหวัดที่ไม่ควรพลาดเลยก็คือ กาญจนบุรี ดินแดนแห่งธรรมชาติ มีป่าไม้และทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติน่าเที่ยวมากมาย ทั้งภูเขา น้ำตก โถงถ้ำ สายน้ำ เหมาะสำหรับคนที่รักธรรมชาติและชอบกิจกรรมแอดเวนเจอร์สุดๆ ค่ะ สำหรับวันนี้เรียกได้ว่าเป็นโอกาสพิเศษมากๆ Travel Truelife จะพาทุกท่านออกเดินทางไปตามวัวแดงในผืนป่าใหญ่ จากโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ ของศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ จังหวัดกาญจนบุรี กันค่ะ ว่าแต่โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่ออะไร ทำไมต้องเป็นวัวแดง และจะเป็นประโยชน์กับผืนป่าอย่างไร ตามไปค้นหาคำตอบกับเราเลยค่ะ
เราเดินทางไปกันที่ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาธรรมชาติ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 3 เส้นทาง คือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ นพ.บุญส่ง เลขะกุล เส้นทางศึกษาธรรมชาติเนินดินแดง และเส้นทางศึกษาธรรมชาติห้วยสะด่อง ศูนย์แห่งนี้ยังรองรับการจัดค่ายพักแรมสำหรับกิจกรรมนักศึกษา ดูงาน การฝึกอบรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารีและยุวกาชาด มีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม กางเต็นท์ และลานสันทนาการอีกด้วย
นอกจากนี้ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ยังเป็นสถานที่เพาะเลี้ยงวัวแดง ในโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ พี่เสรี นาคบุญ หัวหน้าศูนย์ฯ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อต้องการปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนและประชาชนรู้จักรักและช่วยกันดูแลรักษาระบบนิเวศวิทยาของป่าและสัตว์ป่า ให้มีความสมดุลทางธรรมชาติค่ะ
ทำไมต้องเป็นวัวแดง? เหตุผลสำคัญคือ สถานการณ์ของวัวแดงทั่วโลกมีความเสี่ยง และในปัจจุบันวัวแดงจะมีอยู่เฉพาะบางพื้นที่ของประเทศไทยเท่านั้นค่ะ เช่น ห้วยขาแข้ง และป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ส่วนในป่าสลักพระนั้นเดิมทีเป็นบ้านหลังใหญ่ของวัวแดง แต่หลังจากที่มีการลักลอบล่าวัวแดง ทำให้จำนวนของวัวแดงน้อยลง เรียกได้ว่าไม่พบอีกเลย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูประชากรวัวแดงในผืนป่าแห่งนี้ และเป็นโชคดีที่มีการช่วยชีวิตลูกวัวแดงเพศเมียในเขตป่าสลักพระได้โดยบังเอิญ จึงนำมาเพาะเลี้ยงที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ เริ่มเพาะเลี้ยงวัวแดงที่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของป่าสลักพระ และเกิดเป็นโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติขึ้นมาค่ะ
สำหรับการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาตินั้น ต้องมีการเตรียมการและเตรียมพร้อมหลายขั้นตอนด้วยกันค่ะ ขั้นแรกคือการพัฒนาเกี่ยวกับสายพันธุ์ของวัวแดง ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากผู้เชียวชาญ นักวิชาการ สัตวแพทย์ มาช่วยกันพัฒนา ฟื้นฟูประชากรของวัวแดงค่ะ เมื่อเพาะพันธุ์วัวแดงจนมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นแล้ว จากนั้นจะคัดเลือกวัวแดงที่จะทำการปล่อย โดยวัวแดงชุดแรกจำนวน ทั้งหมด 4 ตัว เป็นเพศผู้ 2 ตัว ชื่อปีใหม่และถุงทอง และเพศเมีย 2 ตัว ชื่อธารทอง และแพรทอง
ต่อมาคือการเตรียมความพร้อมเรื่องพื้นที่ โดยการเตรียมคอกปรับสภาพขนาดใหญ่ให้เหล่าวัวแดงก่อนที่ปล่อยสู่ป่าค่ะ ขั้นตอนสำคัญและละเอียดอ่อนมากๆ คือการฝึกวัวแดงให้คุ้นชินกับกล่องเคลื่อนย้าย ก่อนที่จะถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ในคอก ซึ่งจะต้องทำให้วัวแดงคุ้นชินกับกล่องเคลื่อนย้ายมากที่สุด ทำให้วัวรู้สึกปลอดภัยและสบายใจ การฝึกในขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน และต้องฝึกทั้งแบบเป็นกลุ่ม และแยกเดี่ยวด้วยค่ะ
เมื่อวัวแดงคุ้นชินกับกล่องเคลื่อนย้ายแล้ว ก็จะทำการฉีดยาสลบให้วัวแดง และใช้เครนเคลื่อนย้ายว้วแดงสู่คอกปรับสภาพที่เตรียมไว้ และก่อนที่วัวแดงจะฟื้นคืนสติ มีการเก็บตัวอย่างเลือด ตัวอย่างมูล ดีเอ็นเอ และทำการติดปลอกคอส่งสัญญาณวิทยุ ฝังไมโครชิพ จากนั้นก็จะปล่อยให้วัวแดงอยู่ในคอกปรับสภาพซึ่งมีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่เสมือนป่า และไม่ให้วัวแดงใกล้ชิดกับคนอีกเลยค่ะ
เมื่อถึงวันที่ปล่อยวัวแดงครั้งแรกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา เจ้าวัวแดงทั้ง 4 ตัวก็ได้ทะยานออกจากคอกไปสู่ผืนป่ากว้างใหญ่ ซึ่งจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ทางศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุก็ได้มีการติดตามวัวแดง เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลวิเคราะห์พืชอาหาร และความเป็นอยู่ของวัวแดงเหล่านั้นอยู่เสมอค่ะ และก็พบว่าวัวแดงทั้ง 4 ตัว ยังคงดำรงชีวิตอยู่ในป่าได้ตามปกติ วันนี้ก็เป็นโอกาศอันดีที่เราจะได้ลองออกตามหาวัวแดงทั้ง 4 ตัว ในผืนป่าใหญ่ค่ะ
การเดินทางเข้าไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระนั้นจะต้องให้เจ้าหน้าที่ของเขตนำทางไปค่ะ เราเดินทางด้วยรถกระบะคันใหญ่ เข้าไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าสลักพระ เป็นระยะทาง 9 กิโลเมตร เส้นทางเข้าสู่ป่านั้นเป็นดินลูกรัง ค่อนข้างขรุขระเลยทีเดียว นั่งข้างหลังตรงกระบะต้องจับให้แน่นเชียวค่ะ เพราะรถจะโคลงเคลงตลอด เรานั่งรถผ่านป่าสีเขียวขจีสองข้างทางที่เงียบสงบมากๆ ได้ยินเพียงเสียงของเครื่องยนต์ ผ่านลำห้วยหลายแห่ง ระหว่างทางจะพบกับต้นไผ่ซึ่งล้มระเนระนาด ฝีมือของใครไม่ได้นอกจากพี่ช้างค่ะ นอกจากนี้เรายังได้สูดอากาศบริสุทธิ์แถมเย็นสบายที่หาได้ยากยิ่งในเมืองหลวง วันนั้นฟ้าครึ้มและมีฝนตกเล็กน้อย จนต้องหยุดสวมเสื้อกันฝน แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคของเราแต่อย่างใด
ถึงจุดพักจุดแรก ซึ่งเป็นบ้านพักของหน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าสลักพระ บริเวณนั้นได้เคยมีการปล่อยละมั่ง สัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดที่มีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยได้ปล่อยไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 และปัจจุบันละมั่งก็ได้ขยายพันธุ์จนมีลูกมีหลานออกมาหลายตัวเลยค่ะ ที่แห่งนี้เราได้พบกับละมั่งกำลังหากินอยู่บริเวณป่าใกล้ๆ กับสถานีหน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าสลักพระ ทุกตัวอยู่กันอย่างอิสระค่ะ เป็นโอกาสดีที่เราได้ใกล้ชิดกับละมั่งขนาดนี้
เราเดินทางเพื่อไปตามหาวัวแดงกันต่อค่ะ เข้าไปได้ไม่นานฟ้าฝนก็ไม่เป็นใจตกลงมาห่าใหญ่ จนพื้นดินแห้งๆ กลายเป็นโคลนในพลัน การเดินทางซึ่งปกติยากอยู่แล้ว ก็ยิ่งลำบากมากขึ้น หลังจากที่คาดการณ์กันแล้วว่าฝนตกหนักแบบนี้ ไม่ควรเดินทางไปต่อ และแม้ว่าเราจะไปถึงจุดหมายก็คงจะค้นหาวัวแดงได้ยากเช่นกัน จึงทยอยกลับรถเพื่อกลับศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ แต่แล้วรถคันหนึ่งในขบวนก็ติดหล่ม! ทางเจ้าหน้าที่ต้องวุ่นกันอยู่พักใหญ่กว่าจะเคลื่อนรถได้ค่ะ คนที่นั่งด้านหลังตรงกระบะก็ค่อนข้างทุลักทุเล แต่ในที่สุดด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็พาเรากลับไปยังศูนย์ฯ ได้อย่างปลอดภัย
แม้ว่าการออกตามหาวัวแดงครั้งนี้เราจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เรียกได้ว่ายอดเยี่ยมอย่างที่หาไม่ได้อีกแล้วค่ะ ถึงจะไม่ได้เห็นเจ้าปีใหม่ เจ้าถุงทอง เจ้าแพรทอง และเจ้าธารทอง แต่ก็ได้สัมผัสถึงความตั้งใจของทั้งเจ้าหน้าที่และมวลชนที่ตั้งใจทำโครงการนี้เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม
ถึงจะไม่ได้เห็นวัวแดงในผืนป่า แต่ได้เห็นเจ้าวัวแดงน้อยใหญ่ที่อยู่ในคอกปรับสภาพ เพื่อเตรียมพร้อมก็ปล่อยสู่ป่าอีกครั้ง ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้วล่ะค่ะ
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ
ที่อยู่ : หมู่ 4 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี 71190
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายเพชรเกษมและแสงชูโต ไปจนถึงจังหวัดกาญจนบุรี ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร และจากตัวจังหวัดกาญจนบุรี เดินทางไปตามถนนสายกาญจนบุรี-ศรีสวัสดิ์ ประมาณ 55 กิเมตร ถึงศูนย์ฯ
**บทความรีวิวร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และแนะนำวางแผนเที่ยว เป็นบทความที่ทางเว็บขอสงวนลิขสิทธิ์ผลงานการเขียน ห้ามทำซ้ำ หรือคัดลอกเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อในเว็บอื่นๆ และสื่อตีพิมพ์ จนกว่าจะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทีมงาน
ติดตาม travel.truelife.com ได้อีกช่องทางที่
ทุกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาหาร และสุขภาพ คลิกที่http://travel.truelife.com
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ
ที่อยู่ : หมู่ 4 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี 71190
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายเพชรเกษมและแสงชูโต ไปจนถึงจังหวัดกาญจนบุรี ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร และจากตัวจังหวัดกาญจนบุรี เดินทางไปตามถนนสายกาญจนบุรี-ศรีสวัสดิ์ ประมาณ 55 กิเมตร ถึงศูนย์ฯ