“..กระแสชีวิต ได้พัดพาเราไปถึงไหนต่อไหน แต่ซักวันมันจะพัดพาเรากลับบ้าน ถ้าที่นั่นยังมีคนที่รักรอเราอยู่..” ผมเชื่อว่าหนึ่งในห้วงอารมณ์แสนพิเศษของใครหลายคน ซึ่งมีวิถีชีวิตต้องไกลห่างจากบ้านเกิดที่เราเคยผูกพันมาในวัยเด็ก คงมีซักครั้งที่เกิดความรู้สึกถวิลหาบรรยากาศเดิมๆ อันคุ้นเคยของสถานที่ๆ เราจากมา ‘คิดถึงบ้าน’ จึงเป็นคำพูดที่ฟังดูเรียบง่าย แต่กลับกินใจอยู่เสมอครับ.. สำหรับผมแล้ว นี่คือหนึ่งในภาพทรงจำวัยเยาว์ ที่ยังคงกระจ่างชัด ถนนสายเล็กๆ เลียบริมโขง ที่ยังคงไว้ด้วยบรรยากาศของบ้านไม้เก่าชั้นเดียวที่ปลูกสร้างขึ้นบนขอบตลิ่งริมฝั่ง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ บ้านที่ผมเคยอาศัย เติบโตและเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนเป็นครั้งแรกในชีวิต ‘ถนนสุนทรวิจิตร’ เทศบาลเมืองนครพนม.. ภาพตึกสถาปัตยกรรมโคโลเนียล 2 ชั้น อดีตบ้านพักอาศัยของ โองกูบา บนถนนสุนทรวิจิตร ชื่อ ‘สุนทรวิจิตร’ ถนนเลียบแม่น้ำโขงที่มีชื่อเสียงของ นครพนม ทุกวันนี้ เป็นย่านการค้าถนนสายเก่าของเมือง ที่มีระยะทางยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งครั้งหนึ่งเคยผ่านสภาพของถนนดินลูกรังมาก่อน กระทั่งถูกเปลี่ยนโฉมมาเป็นถนนคอนกรีต ราว 60 กว่าปีที่แล้ว ก่อนจะมีการเทคอนกรีตเสริมเหล็กทับอีกครั้งในสมัยต่อมา ชื่อของถนนนั้นมีที่มาจากชื่อ ‘นายสุนทร วิจิตรเจริญ’ หรือ ‘โองกูบา’ อดีตนายช่างรับเหมาเชื้อสายเวียดนามผู้สร้างถนนขึ้น และยังเป็นที่มาของชื่อ ‘โรงเรียนสุนทรวิจิตร’ โรงเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา ที่ตั้งหันหน้าสู่แม่น้ำโขง อยู่คู่เมืองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 นั่นเอง ส่วนอดีตบ้านพักสไตล์โคโลเนียลหลังงามที่ โองกูบา เคยอาศัย ก็ยังตั้งอยู่บนถนนเส้นนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ภาพถนนสุนทรวิจิตร กับบ้านริมโขงที่กลายเป็นที่พัก และร้านอาหารที่ ลานคนเมืองนครพนม ส่วนอีกหนึ่งเสน่ห์ที่ตรึงใจผู้มาเยือน ถนนเลียบโขงเมืองนครพนมได้เสมอ นอกไปจาก ตึกเก่า เรือนไม้ท้องถิ่น และอาคารเฟรนซ์โคโลเนียล ที่มีอายุเฉียดกว่า 100 ปีแล้ว ก็คือ ทิวทัศน์ลำโขงสีขุ่นที่ไหลผ่านหน้าเมือง ที่มีความอลังการของ เทือกเขาหินปูนรูปทรงแปลกตาเรียงตัวซับซ้อน สลับยาวไกล ตระหง่านเป็นฉากหลังของ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ของ สปป.ลาว สิ่งนี้เป็นความสวยงามที่ธรรมชาติได้เสกสร้างเอาไว้ และปรากฏอยู่ในคำขวัญจังหวัด ที่ว่า… ‘พระธาตุพนมล้ำค่า วัฒนธรรมหลากหลาย เรณูผู้ไท เรือไฟโสภา งามตาฝั่งโขง’ หรือที่ชาวนครพนมมักจะพูดถึง วิวภูเขาฝั่งเมืองลาวตรงหน้า ด้วยประโยคที่ชวนให้อิจฉาว่า.. “ภูเป็นของเขา…แต่วิวเป็นของเรา” นั่นแหละครับ เพราะคนลาวเองก็คงไม่มีโอกาสได้ชมทิวทัศน์ภูเขางามๆ แบบนี้อย่างแน่นอน ถ้าเขาไม่ข้ามแม่น้ำโขง กลับมายืนชื่นชมจากฝั่งไทย ภาพทิวทัศน์ของเทือกเขาหินปูน ที่ซับซ้อนของฝั่งเมืองท่าแขก สปป.ลาว ที่มองเห็นจากฝั่งเมืองนครพนม อีกหนึ่งสิ่งปลูกสร้างที่มีชื่อเสียง และเปรียบได้กับสัญลักษณ์ หรือ Landmark คู่เมืองนครพนม บนถนนสุนทรวิจิตร ก็คือ ‘หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์’ ที่ตั้งอยู่ กึ่งกลางจุดตัดของถนนศรีเทพ และถนนสุนทรวิจิตร ถัดต่อจาก ร้านกาแฟไทยสามัคคี ที่อยู่หัวมุมถนน และเยื้องถัดตรงข้ามกับ บ้านหลังเก่าริมโขง ที่ผมเคยอาศัยเพียงไม่กี่ร้อยเมตร หอนาฬิกานี้ มีรูปทรงเรียบง่ายเป็นทรงแท่ง สูง 50 เมตร ฉาบทาสีเหลืองอ่อน คล้ายสีเปลือกไข่ และมีหลังคาที่ออกแบบตามสถาปัตยกรรมนิยมของเวียดนาม เป็นสิ่งที่ยืนยันการดำรงอยู่ของ ‘ชาวเวียดนามพลัดถิ่น’ ในนครพนมได้เป็นอย่างดีครับ ภาพรูปปั้นประธานาธิบดีโฮจิมินห์ ที่พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านมิตรภาพไทย – เวียดนาม จ.นครพนม เพราะเมื่อครั้งอดีต ท่านประธานาธิบดี ‘โฮจิมินห์’ หรือ ‘ลุงโฮ’ ผู้นำอันเป็นที่เคารพรักของลูกหลานเวียดนาม ได้เคยเข้ามาพักอาศัยที่ ‘บ้านนาจอก’ ตำบลหนองญาติ เขตอำเภอเมือง เพื่อวางแผนกู้ชาติ สู้รบกับฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมที่เข้ามาปกครองเวียดนามอย่างทารุณกดขี่ บ้านนาจอก จึงกลายเป็นฐานชุมชนคนญวน ที่พวกเขาได้ใช้เป็นที่ลี้ภัยสงครามจากบ้านเกิดเข้ามาลงหลักปักฐาน สร้างชีวิตใหม่อย่างยาวนาน ทุกวันนี้ภายในหมู่บ้าน ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนม เพียงไม่กี่กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ อย่าง 'พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านมิตรภาพไทย - เวียดนาม' รวมถึง บ้านลุงโฮ ที่ได้รับอนุรักษ์ รักษาจากลูกหลานชาวญวนในนครพนม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่มีคุณค่าในอดีตให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้เป็นอย่างดี.. ภาพของบ้านไม้โบราณกลางสวนที่ โฮจิมินห์ เคยพำนัก ที่หมู่บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม หอนาฬิการูปทรงเรียบง่ายคลาสสิคริมโขงหลังนี้ จึงถูกสร้างขึ้นมาเมื่อปลายปี พ.ศ.2503 หรือราว 60 กว่าปีที่ผ่านมา จากเงินบริจาคสมทบของ พี่น้องชาวเวียดนามในเมืองไทย เพื่อเป็นอนุสรณ์ ตอบแทนชาวนครพนม ที่ได้หยิบยื่นไมตรี และมนุษยธรรมให้ที่พักพิงอันอบอุ่นแก่พวกเขาในคราวที่ต้องตกทุกข์ได้ยากในต่างบ้านต่างเมือง ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางกลับมาตุภูมิ หลังเหตุการณ์สงครามสงบลงแล้วนั่นเองครับ เมื่อเข้าไปชมใกล้ๆ ที่ฐานของหอนาฬิกา เราจะได้เห็นข้อความอักษรสีดำปรากฏอยู่ทั้งภาษาไทย และอักขระเวียดนาม เขียนไว้ว่า “..ชาวเวียดนามอนุสรณ์ คราวย้ายกลับปิตุภูมิ 2503..” อย่างชัดเจน หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ จึงไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งก่อสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการบอก ย้ำเตือนเวลาเท่านั้น แต่สำหรับชาวนครพนมแล้ว สถานที่แห่งนี้กลับมีคุณค่า และความหมายต่อการระลึกถึง ที่ลึกซึ้งยิ่งครับ... ภาพหอนาฬิกามุมสูง มองเห็นร้านกาแฟไทยสามัคคี และด่านศุลกากร ท่าเรือข้ามฟาก ถึงแม้ครอบครัวของผมจะโยกย้ายที่พำนักอาศัยที่สู่บ้านหลังใหม่บน ถนนอภิบาลบัญชา ย่านตลาดเทศบาลเมือง ไปนานแล้ว แต่ทุกครั้งที่ได้เดินทางกลับมา นครพนม หอนาฬิกา ก็มักเป็นสถานที่ ที่ผมยังแวะเวียนมาเยือนอยู่เสมอ ที่นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้น และจุดแวะพักที่ดีสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ชมชอบการเดินทอดน่อง หรือปั่นจักรยานเลียบฝั่งโขงเพื่อเลาะชมย่านเมืองเก่า ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก ด่าน ตม. ท่าเรือข้ามฟาก วัดโอกาสศรีบัวบาน ศาลเจ้าพ่อหมื่น และตลาดอินโดจีน รวมทั้งยังอยู่ในระยะที่ปั่นจักรยานได้อย่างสบายไปถึง ลานพญาศรีสัตตนาคราช ทางด้านทิศใต้ ริมฝั่งโขงของตัวเมือง ได้ด้วยเช่นกันครับ... จารึกข้อความแห่งอนุสรณ์ ความสัมพันธ์ชาวไทย - เวียดนาม ที่หอนาฬิกา จากเมื่อหลายสิบปีก่อน เมืองนครพนม ที่เคยเป็นเพียงเมืองปิดที่แสนเงียบสงบ หากทุกวันนี้ได้เปลี่ยนโฉม กลายสถานะเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของภาคอีสานตอนบน ติดริมฝั่งโขงไปแล้วอย่างสมบูรณ์ ในวัยเด็กทุกเย็นย่ำของวันสุดสัปดาห์ พื้นลานของศาลาที่เชื่อมกับหอนาฬิกา ที่ผมเคยใช้เป็นที่วิ่งเล่นกับเพื่อนในรุ่นวัยเดียวกัน ในวันนี้ได้เปลี่ยนโฉมเป็น ‘ถนนคนเดินริมโขง’ ที่มีพ่อค้าแม่ขายรุ่นใหม่ ทั้งคนนครพนมเองและคนนอกพื้นที่ เข้ามาจับจองทำเล พื้นที่เหมาะๆ ตั้งร้านรวงขายสินค้าที่ระลึก ดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างละลานตา ตั้งแต่แถวย่านหอนาฬิกา ผ่านลานคนเมือง ไปจนจรดถึงลานตะวันเบิกฟ้า ของเทศบาลที่อยู่ริมโขงฝั่งเหนือ เป็นบรรยากาศที่คึกคักสว่างไสวด้วยแสงไฟไปจนถึง 4 ทุ่ม ไม่ต่างจากถนนคนเดินเชียงคาน หรือแม้กระทั่ง ตลาดมืด กลางเมืองหลวงพระบาง แต่อย่างใด อาคารไม้ 2 ชั้น อดีตร้านกาแฟไทยสามัคคี ที่หัวมุมถนน ตรงข้ามหอนาฬิกา บ้านเก่าริมโขง ที่ผมกล่าวถึง ทุกวันนี้ถูกลงกลอนอย่างมิดชิด ไม่มีใครอยู่อาศัยอีกต่อไป ส่วนมิตรใกล้เรือนเคียงที่ครั้งหนึ่งมีทั้ง ร้านอาหารปลาบึกทอง และภัตตาคารนิวสวนใหม่ ล้วนต่างเลิกราปิดกิจการ และถูกรื้อถอนเวรคืนจากเทศบาลเมือง เพื่อสร้างเขื่อนริมโขงในยุคต่อมา จะมีก็เพียง ห้างใต้ฟ้าการแว่น ฝั่งตรงข้าม โรงแรมเฟิร์ส ที่พักเก่าแก่คู่เมือง บนถนนศรีเทพ และร้านกาแฟไทยสามัคคี ตรงหัวมุมหอนาฬิกา สภากาแฟยามเช้าของคนริมโขง ที่เคยคึกคักเป็นสัญลักษณ์ของเมืองในอดีต ที่ยังดำรงอยู่ และรอคอยการฟื้นคืนชีวิตใหม่อีกครั้ง หากแต่ถัดเลยออกไปไม่ไกล ร้านอาหาร ที่พัก และคาเฟ่ริมโขง แห่งใหม่ๆ ก็เติบโตขึ้นมาแทนที่ สร้างชีวิตชีวา ความคึกคักให้กับถนนสุนทรวิจิตร อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน.. ภาพห้างใต้ฟ้าการแว่น ฝั่งตรงข้ามบ้านไม้เก่าริมโขง สำหรับ หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ คงเป็นสถานที่อันชัดเจนที่สุดแล้วสำหรับผม ที่ทุกเช้า จะต้องชะเง้อมองไปยังทิศทางฝั่งนั้น รอคอยรถสามล้อถีบปั่นเจ้าประจำ เพื่อนั่งโดยสารไปยังโรงเรียนอนุบาลนครพนม ที่อยู่ห่างจากบ้านริมโขงออกไปราว 1 กิโลเมตรเศษๆ นี่คงเป็นเพียงเรื่องราวสามัญธรรมดา ที่แอบซ่อนตัวอยู่บนถนนเส้นเล็กๆ ริมโขง ที่ยังอยู่ในความทรงจำของผม ซึ่งทุกครั้งที่ได้หวนระลึกถึง ความผูกพันในตัวตนที่งดงามของ นครพนม เมืองๆ นี้ ก็ยังกระจ่างชัดอยู่ในใจผมนั่นเองครับ… ภาพบรรยากาศยามเช้า ของฤดูหนาวที่เงียบสงบ บนถนนสุนทรวิจิตร เส้นทางปั่นจักรยานเลียบโขงในยามเช้า หน้าเมืองนครพนม มองเห็น ยอดหอนาฬิกาอยู่เบื้องหลัง หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ (The Vietnamese Memorial Clock Tower) : ตั้งอยู่บนถนนสุนทรวิจิตร ห่างจากลานพญาศรีสัตตนาคราช ประมาณ 750 ม. รอบชุมชนย่านหอนาฬิกา เป็นที่ตั้งของร้านอาหาร คาเฟ่ และที่พักริมน้ำหลายแห่ง รวมไปถึง ถนนคนเดินนครพนม ที่เปิดทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ของทุกสัปดาห์ ตั้งแต่เวลา 17:00 น. - 22:00 น. นักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวชมสัมผัสบรรยากาศริมฝั่งโขง และวิถีชีวิตของผู้คนที่เรียบง่าย เลือกซื้อสินค้า หลากหลายชนิดทั้ง เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ อาหาร และของที่ระลึกพื้นเมือง อีกมากมาย การเดินทาง : จังหวัดนครพนม ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตภาคอีสานตอนบน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ตามระยะทางรถยนต์ ประมาณ 740 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง และเดินทางโดยเครื่องบิน ออกจากสนามบินดอนเมือง หรือสนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เครดิตภาพทั้งหมดโดย : ผู้เขียน (Ruttapol Srivilas) ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva โดย : ผู้เขียน (Ruttapol Srivilas) อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !