รีเซต

กำแพงเมืองจีน สิ่งมหัศจรรย์ของโลก กำแพงหมื่นลี้จากฝีมือมนุษย์ ตำนานความเกรียงไกรของประเทศจีน

กำแพงเมืองจีน สิ่งมหัศจรรย์ของโลก กำแพงหมื่นลี้จากฝีมือมนุษย์ ตำนานความเกรียงไกรของประเทศจีน
Muzika
16 มีนาคม 2565 ( 15:03 )
132.2K
4

     Great Wall of China หรือ กำแพงเมืองจีนนั้น หลายๆ คนคงรู้อยู่แล้วว่ามันเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก อารยธรรมโบราณที่มีความยาวกว่า 20,000 กิโลเมตร แถมยังว่ากันว่า ความยิ่งใหญ่ของกำแพงนั้นถ้าไปยืนอยู่บนดวงจันทร์แล้วมองกลับมาบนโลก ยังมองเห็นได้ด้วย ! (อันนี้คงต้องไปถามนักบินอวกาศนาซาเอาล่ะนะ) พร้อมกับเรื่องเล่าต่างๆ นานา อีกมากถึงความเวอร์วังอลังการของที่แห่งนี้ เอาเป็นว่าครั้งนี้เรามาทำความรู้จักกับมันให้มากขึ้นกันดีกว่าครับ สำหรับกำแพงเมืองจีน ว่าทำไมชาวจีนโบราณถึงต้องทุ่มเทสรรพกำลังให้ใหญ่ และยาวขนาดนี้ครับ

 

 

 

กำแพงเมืองจีน 1 ในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก

 

ที่มา กว่าจะมาเป็นกำแพงเมืองจีน สร้างขึ้นเพื่ออะไร?

 

     กำแพงเมืองจีน (長城) นั้นมีความสำคัญในเชิงจุดยุทธศาสตร์สำคัญในสมัยราชวงศ์ฉิน เพื่อป้องกันการบุกรุกจากชาวฮั่น หรือชนเผ่าเร่ร่อนบนหลังม้าในสมัยนั้น ซึ่งจะคอยมารุกรานชาวจีนตามแนวชายแดนอยู่เนืองๆ และเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวจีนในยุคนั้นมาก ซึ่งกำแพงนี้ก็ได้เริ่มสร้างกันมาตั้งแต่ก่อนสมัยของ จิ๋นซีฮ่องเต้ แล้ว โดยก๊ก หรือแคว้นที่อยู่ตามแนวชายแดนต่างสร้างขึ้นเพื่อป้องกันตนเอง

 

     กลุ่มชนเผ่าเร่ร่อนจากทางเหนือนั้น แม้จะมีจำนวนประชากรน้อยกว่าชาวจีนอยู่มาก แต่เมื่อพวกเขาอยู่บนหลังม้า ใช้อาวุธธนูได้อย่างคล่องแคล่วแม่นยำ อีกทั้งกลุ่มชาวเหนือนี้ยังมีความอดทนสูงต่อสภาพแวดล้อมอันเลวร้าย จึงนับเป็นภัยคุกคามทางการทหารอย่างร้ายแรง

 

     กระทั่งจิ๋นซีฮ่องเต้ (หรือ ฉินซื่อหวงตี้) ได้ปฏิบัติการรวมประเทศแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในช่วง 221 ปีก่อนคริสตกาล และเริ่มโครงการสร้างป้อม และแนวกำแพงของแคว้นต่างๆ เชื่อมเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นกำแพงยาวหนึ่งเดียวในที่สุด นับเป็นช่วงเฟสแรกของกำแพงก็ว่าได้ มีระยะทางรวมประมาณ 5,000 กิโลเมตร

 

"ตำนานกล่าวว่า กำแพงเมืองจีนนั้นสร้างโดยมีต้นแบบจากมังกร สัตว์ศักดิ์สิทธิ์อันทรงอำนาจมากที่สุด มีพลังปกป้องคุ้มครองเขตของตนเอง"

 

     สำหรับเฟสต่อๆ มา ไล่ไปตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่น (100 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 – ค.ศ. 618) ราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1271) และราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 - ค.ศ. 1644) ผ่านมาแต่ละยุค แต่ละสมัยกำแพงก็ได้รับการต่อเติม เสริมความแข็งแกร่ง รวมถึงบางส่วนที่สร้างขึ้นใหม่ด้วย ยิ่งทำให้กำแพงมีความยาวมากขึ้น จากผลการสำรวจของสำนักงานมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติจีน วันที่ 6 มิถุนายน 2555 พบว่ากำแพงมีความยาวรวมอยู่ที่ 21,196.18 กิโลเมตร

 

CC BY-SA 3.0

 

อาณาเขตของกำแพงเมืองจีน

 

     กำแพงเมืองจีนมีอาณาเขตครอบคลุมทั้งหมด 9 มณฑล คือ มณฑลเหลียวหนิง (Liaoning), มณฑลเทียนจิน (Tianjin), มณฑลเหอเป่ย์ (Hebei), ปักกิ่ง (Beijing), เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน (Inner Mongolia), มณฑลซานซี (Shanxi), มณฑลส่านซี (Shaanxi), เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย (Ningxia) และ มณฑลกานซู (Gansu) ด้วยความครอบคลุมขนาดนี้ ชาวจีนจึงมอบอีกสมญาหนึ่งให้กับมันว่า "กำแพงหมื่นลี้" นั่นเอง

 

ลักษณะของกำแพงเมืองจีน

 

กำแพงเมืองจีน ปี 1907

 

     สำหรับโครงสร้างของกำแพงในยุคแรกๆ นั้นจะยังไม่แข็งแรงเท่ายุคหลังๆ นัก สร้างด้วยดินโคลนผสมฟาง ด้วยการนำเอาดินโคลนและฟาง หิน มาวางเป็นชั้น ๆ และกระทุ้งด้วยค้อนไม้ ซึ่งก็เป็นหลักการเดียวกับการบดอัดดินให้แน่น

 

     กระทั่งมาถึงยุคราชวงค์ถัง จึงเริ่มสร้างสร้างด้วยอิฐก้อนใหญ่ แกนหินข้างในถมด้วยดินเหลืองและเศษหิน ความสูงประมาณ 10 เมตร สันกำแพงกว้างประมาณ 4 ถึง 5 เมตร ม้า 4 ตัวเดินเรียงพร้อมกันได้ สามารถขนส่งอาหาร และอาวุธยามศึกได้อย่างสะดวกโยธิน ด้านในของกำแพงเมืองมีประตูที่ทำบันไดหินไว้ การขึ้นลงสะดวกมาก ทั้งยังมีป้อมจุดไฟสัญญาณแจ้งเหตุเป็นช่วง ๆ ป้อมสำหรับเก็บอาวุธ อาหารและที่พักของทหาร ยามศึกสงครามก็จะใช้เป็นที่กำบังได้ เวลามีศัตรูบุกเข้ามาก็จะจุดไฟสัญญาณให้มีควันขึ้นบนป้อม เมื่อป้อมใกล้เคียงเห็นควันก็จะจุดไฟแจ้งเหตุต่อๆ กันไปเพื่อส่งข่าวไปยังทั่วประเทศได้ทันที ซึ่งแต่ละป้อมจะห่างกันประมาณ 300 - 500 หลา รวมๆ แล้วทั้งแนวกำแพงจะมีป้อมสังเกตุการณ์กว่า 1 หมื่นแห่ง

 

 

จากกำแพงหมื่นลี้ สู่มรดกโลก

 

     กำแพงเมืองจีนได้รับคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกในปี 1987 (พ.ศ. 2530 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 11 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส) ด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้

 

  • เป็นตัวแทนซึ่งแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาด
  • เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวนและภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
  • เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
  • เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
  • มีความคิดและความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

 

ด่านสำคัญๆ ตามแนวกำแพง

 

     ถึงปัจจุบันนี้กำแพงเมืองจีนจะไม่ได้ใช้เพื่อป้องกันภัยรุกรานจากภายนอกอีกแล้ว แต่การบูรณะซ่อมแซมก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป เพราะมันกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของทั้งชาวจีน และนักเดินทางจากต่างแดนเป็นที่เรียบร้อย 

 

 

  •      สำหรับด่านที่นักท่องเที่ยวนิยมไปกันมากที่สุด เพราะอยู่ใกล้กับกรุงปักกิ่ง แถมยังมีรถกระเช้าอำนวยความสะดวก ไม่ต้องเดินเองให้เมื่อยตุ้ม ก็คือที่ด่านปาต้าหลิ่ง (八达岭) นั่นเองครับ

 

  • รองลงมาก็คือด่านซือหม่าไถ (司马台长城) แม้จะเป็นลำดับรอง แต่ด่านนี้นับเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดของกำแพงเมืองจีนครับ ใครที่อยากได้ภาพกำแพงพร้อมวิวสวยๆ มักจะมากันที่นี่

 

 

  • ต่อมาคือด่านจินซานหลิ่ง (金山岭长城) ที่ไม่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเท่าไหร่ แต่ถ้าใครอยากไปดูกำแพงเมืองแบบแท้ๆ จริง โดยยังไม่ผ่านการบูรณะจนสวยงาม แต่ได้ความขลังล่ะก็ต้องมาดูครับ

 

 

  • ด่านหวงฮวาเฉิง (黄花城) ด่านนี้ก็คนรู้จักน้อย แต่ความพิเศษคือเป็นด่านที่อยู่ริมน้ำครับ ได้วิวแบบที่ไม่ได้เห็นที่ไหนแน่นอน

 

 

  • และสุดท้าย ด่านเจียยวี่ (嘉峪关) ที่อยู่ด้านปลายสุดของกำแพงฝั่งตะวันตก อยู่บนเส้นทางสายไหมบรรจบกับชายแดนมองโกล ตรงนี้จะได้วิวทะเลทรายเวิ้งว้างไกลโพ้น

 

เรื่องต้องรู้ก่อนมาเที่ยวกำแพงเมืองจีน

 

     แน่นอนว่าโบราณสถานสำคัญระดับโลกขนาดนี้ ทางการจีนเลยไม่สามารถปล่อยให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวล้นเกินจนทำให้กำแพงเสียหายได้ โดยเฉพาะที่ด่านปาต้าหลิ่ง ซึ่งจำกัดจำนวนผู้เยี่ยมชมให้ไม่เกินวันละ 65,000 คน เลยจำเป็นจะต้องจองวัน และเวลาล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ เช่น www.badaling.cn โดยต้องกำหนดเวลาให้แน่นอน เพราะถ้าไปไม่ตรงกับช่วงเวลาที่จองไว้ก็เข้าไม่ได้ (สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 7 วัน)

 

     ปัจจุบันกำแพงเมืองจีนที่เราเห็น (รวมถึงที่ทางการไม่อนุญาตให้เข้าชม) นั้นยังเป็นเพียงแค่ 1 ใน 3 ของกำแพงทั้งหมดเท่านั้น ส่วนใหญ่นั้นถูกกัดกร่อนไปตามกาลเวลา รวมถึงขาดการดูแล อนุรักษ์ที่ดีพอ ใครที่ยังไม่เคยไปอยากให้ลองหาโอกาสไปเยือนสักครั้งในชีวิตครับ เพราะนี่นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกโดยฝีมือมนุษย์ ที่คุ้มค่าน่าไปเยือนจริงๆ

 

====================