“ทำบุญเหอ ทำบุญวันสารท ยกหฺมฺรับดับถาด ไปวัดไปวา พองลาหนมแห้ง ตุ้งแตงตุ๊กตา ไปวัดไปวา สาเสดเวทนา เปรต…เหอ” เสียงเพลง " ช้าน้อง " ( เพลงกล่อมเด็กภาคใต้ ) ดังแว่วมาจากโทรทัศน์ในช่วงเทศกาล " งานบุญสารทเดือนสิบ " มีความหมายเชิญชวนให้ลูกหลานของคนภาคใต้ ทั้งที่อยู่บ้านและที่เดินทางไปทำงานอยู่ต่างถิ่น ให้เดินทางกลับมาทำบุญในวันสารทเดือนสิบ โดยจัด " หฺมฺรับ " ( สำรับ) มีของบริโภคต่าง ๆ ไปถวายพระที่วัด เพื่อทำบุญอุทิศให้กับเปรตที่น่าสงสารเหล่านั้น เป็นอันรู้ว่าเทศกาลที่สำคัญที่สุดของชุมชนในจังหวัดทางภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร / ภาพโดยผู้เขียน เทศกาลงานบุญสารทเดือนสิบปีนี้ ผู้เขียนได้ล่องใต้มาทำบุญที่บ้านเกิดจังหวัดนครศรีธรรมราช และถือโอกาสมาเที่ยวงานบุญสารทเดือนสิบ ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่เป็นสัญลักษณ์ของการสืบทอดประเพณีดังกล่าวก็ว่าได้ สำหรับประวัติงานบุญสารทเดือนสิบของภาคใต้นั้น เป็นความเชื่อมาจากพระพุทธศาสนาในเรื่องคุณธรรมความกตัญญูกตเวที ผู้เขียนจะขอบรรยายประวัติความเป็นมาของประเพณีเป็นบทร้อยกรองดังนี้ ความเป็นมางานบุญสารทเดือนสิบภาคใต้ อินทรวิเชียรฉันท์ 11 งานบุญประเพณี ก็จะมีคดีธรรม วันนี้จะน้อมนำ อธิบายขยายความ บุญสารท ณ เดือนสิบ ผิจะหยิบมโนตาม ครั้งพิมพิสารนาม ณ นครมคธี เมื่อยาม ธ บรรทม บ่ มิสม ณ ราตรี ทรงตกพระทัยมี วรกายสะดุ้งไหว เสียงกรีดกระทบโสต ธ สลดพระหทัย รุ่งแจ้งเสด็จไป ณ ประทับพระภูมี กาพย์ฉบัง 16 บังคมทำอัญชุลี เอื้อนเอ่ยวจี ทูลถามเรื่องยามบรรทม ตรัสตอบว่าญาติบรม- บพิตรระทม ตกทุกข์ได้ยากหนักหนา เป็นเปรตทุกข์ทรมาร์ หวังบุญผลา- นิสงส์แห่งบุญทรงธรรม์ ถวายวัดเวฬุวัน ปัจจัยสี่นั้น แด่พุทธศาสนา ถึงพร้อมแห่งพระบุญญา ดุจสายธารา เอิบอาบไปทั่วสกล จงกรวดน้ำอุทิศผล ให้เปรตทุกข์ทน ได้อนุโมทนา กลอนสุภาพ หลังฟังคำพระพุทธดำรัส ได้ขจัดข้อสงสัยในปัญหา ทรงกรวดน้ำให้เปรตญาติกา โมทนาถ้วนทั่วทุกตัวตน ด้วยอำนาจแห่งโมทนาบุญ ได้เกื้อหนุนให้จิตเป็นกุศล เปลี่ยนภพภูมิจากเปรตทั่วสกนธ์ ได้หลุดพ้นเป็นเทพพร้อมวิมาน สาธุชนชาวพุทธได้สดับ เชื่อว่าญาติที่ล่วงลับดับสังขาร ได้ปล่อยตัวโดยนายนิรบาล กลับมาเยี่ยมลูกหลานสิบห้าวัน แรมหนึ่งค่ำถึงสิบห้าคราเดือนสิบ จะยกหยิบเมืองนครที่บ้านฉัน ญาติที่ตายเรียก ตายาย ถ้วนหน้ากัน ให้ลูกหลานรับขวัญในวันมา ร่วมทำบุญกรวดน้ำพร้อมอุทิศ ขอตายายตั้งจิตให้ดีหนา รับส่วนบุญตั้งจิตโมทนา แรมสิบห้าส่งตายายสู่วิมานฯ ( บทร้อยกรองเรื่องความเป็นมางานบุญสารทเดือนสิบภาคใต้ / ประพันธ์โดยผู้เขียน ) จากบทร้อยกรองถอดความได้ว่า พระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แห่งแคว้นมคธในครั้งพุทธกาล ได้มีพระสุบินได้ยินเสียงร้องกรีดดังโหยหวน เมื่อสะดุ้งตื่นจากบรรทมได้เสด็จไปเฝ้าแล้วทูลถามพระพุทธเจ้า ทรงมีพระดำรัสตอบว่า เสียงที่ได้ยินคือเสียงของพระญาติของพระองค์เองที่ไปเกิดในภพภูมิแห่งเปรตมีความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เมื่อทราบว่าพระองค์ได้ถวายวัดพระเวฬุวันแด่พระพุทธศาสนาก็อยากจะอนุโมทนาบุญ แต่พระองค์ไม่ได้กรวดน้ำอุทิศให้ จึงมาร้องโหยหวนขอส่วนบุญดังกล่าว และเมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงกรวดน้ำอุทิศให้แก่พระญาติแล้ว เปรตเหล่านั้นก็ได้อนุโมทนาบุญทำให้ได้เปลี่ยนภพภูมิจากเปรตไปเป็นเทพบุตรและเทพธิดามีสวรรค์และวิมานอันเป็นทิพย์ พุทธศาสนิกชนในภาคใต้มีความเชื่อว่าในช่วงปลายเดือนสิบ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งผู้ที่ล่วงลับไม่มีญาติที่มีบาปมากตกอยู่ในอบายภูมิที่เรียกว่า " เปรต " จะได้รับการปล่อยตัวขึ้นมาพบญาติพี่น้องและลูกหลานบนเมืองมนุษย์ ในวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ ( เดือนทางจันทรคติ ) เรียกว่า วันรับตายาย ( ตายาย หมายถึง ญาติที่ล่วงลับไปแล้วและเกิดเป็นเปรต ) และตายายจะต้องกลับนรกดังเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือนเดียวกันเรียกว่า วันส่งตายาย รวมเวลาที่ตายายมาเยี่ยมลูกหลานเป็นเวลา 15 วัน หฺมฺรับที่จัดเรียบร้อย / ภาพโดยผู้เขียน สำหรับพิธีในโอกาสที่ตายายมาเยี่ยมนี้ ลูกหลานผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จะเตรียมการต้อนรับ โดยการทำความสะอาดสถานที่อยู่ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ที่ดูสวยงามมีราคาแพง นำเอาเครื่องประดับที่มีค่ามาสวมใส่เพื่อให้ตายายสบายใจว่า ลูกหลานที่อยู่ข้างหลังมีความสุขมีความเป็นอยู่เป็นปกติสุข และจัดหมฺรับ (สำรับ) ไปทำบุญที่วัด ขนมสัญลักษณ์งานบุญสารทเดือนสิบ / ภาพโดยผู้เขียน ตามประเพณีของทางภาคใต้ จะหาซื้อเครื่องปรุงมาประกอบอาหารกันในวันแรม 13 ค่ำ เรียกว่าวันจ่าย โดยจะปรุงอาหารต่าง ๆ รวมทั้งจัดหฺมฺรับในวันนี้ หมฺรับนั้นจะจัดในภาชนะขนาดใหญ่ เช่น ชะลอม กาละมัง ในชั้นแรก ๆ จะเป็นเครื่องปรุงที่ใช้ประกอบอาหาร มีหอม กระเที่ยว กะปิ ขมิ้น น้ำปลา พริก ชั้นต่อมาจะใส่อะไรก็ได้แต่ต้องไม่ขาดขนมอันเป็นสัญลักษณ์ 5 ชนิด คือ ขนมพอง ใช้แทนยานพาหนะ ( สมัยก่อนนิยมเดินทางด้วยเรือแพ และเชื่อกันว่าเป็นแพใช้ข้ามห้วงน้ำมหรรณพ ) ขนมลา ใช้แทนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ขนมกง ( ไข่ปลา ) ใช้แทนเครื่องประดับ ขนมดีซัม ใช้แทนเงิน และขนมบ้า ใช้แทนลูกสะบ้าไว้เล่นผ่อนคลายในยามว่าง เชื่อกันว่าใน 15 วันนี้ตายายที่มาเยี่ยมลูกหลานตายายจะมีความชื่นใจ และให้ศีลให้พรลูกหลานที่มีความกตัญญูกตเวทีเป็นที่ตั้ง หลาเปรต / ภาพโดยผู้เขียน การชิงเปรต / ภาพโดยผู้เขียน ในวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม 14 ค่ำเป็นวัน ยกหฺมฺรับ ก็จะยกหฺมฺรับไปที่วัดโดยความพร้อมเพรียงกัน วันสุดท้าย คือ วันแรม 15 ค่ำจะเป็นการฉลองหฺมฺรับ และการสวดบังสุกุลเป็นทักษิณาทานเรียกว่า วันส่งตายาย โดยในวันนี้ขนมส่วนหนึ่งก็จะนำไป ตั้งเปรต ที่ศาลา ( หลาเปรต ) โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำไปวางให้เปรตได้กินกัน ความสนุกจะอยู่ตรงนี้เพราะหลังจากพระสงฆ์ทำพิธีบังสุกุลและญาติโยมกรวดน้ำเสร็จ ทุกคนจะวิ่งกรูเข้าไปแย่งขนม อาหารที่ หลาเปรต กันอย่างสนุกสนาน ซึ่งในกาลต่อมาเป็นที่รู้จักกันในคำว่า ชิงเปรต หรือ ประเพณีชิงเปรต นั่นเอง สมัยผู้เขียนยังอยู่ในวัยเด็กไม่เคยพลาดเหตุการณ์ช่วงนี้ เพราะมีผู้ใจบุญหลายคนวางเงินไว้ให้ทานแก่เปรตด้วย เชื่อกันว่าการชิงเปรตนี้เป็นการได้บุญด้วย เพราะทำให้เปรตชื่นใจและให้ศีลให้พรกับลูกหลานที่มาทำบุญกันถ้วนหน้าทุกคน อนึ่งประเพณีงานบุญสารทเดือนสิบนี้มีบางท้องที่ของจังหวัดในภาคใต้เช่น จังหวัดสงขลา พัทลุงจะจัดงานรับตายายในวันรับคือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ด้วย เรียกว่า วันหฺมฺรับเล็ก ส่วนวันส่งตายายในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า วันหฺมฺรับใหญ่ ก็มี การตั้งของกินให้เปรตไม่มีญาติ / ภาพโดยผู้เขียน ส่วนเปรตที่ไม่มีญาติทำบุญไปให้นั้น เชื่อกันว่าจะได้กินอาหารจากผู้ใจบุญที่นำไปวางให้บริเวณนอกกำแพงวัด และเชื่อกันว่าเปรตเหล่านั้นจะเศร้าเสียใจที่ลูกหลานไม่ทำบุญให้ พากันร้องไห้กันระงมกันไปตาม ๆ กัน จึงเป็นความเชื่อสืบต่อกันมาว่า ในงานบุญสารทเดือนสิบนั้นลูกหลานคนใต้ทุกคนต้องกลับมาร่วมทำบุญให้ตายายให้ได้ ประเพณีงานบุญสารทเดือนสิบ หรือประเพณีชิงเปรต เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชุมชนภาคใต้โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงขอเชิญนักท่องเที่ยวทุกท่านทั้งที่อยู่ในพื้นที่แต่ยังไม่เคยมาชม หรือท่านที่เดินทางมาเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช มาเที่ยวงานประเพณีงานบุญสารทเดือนสิบ หรือประเพณีชิงเปรต ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ควรค่าแห่งความภาคภูมิใจของชาวเมืองนครศรีธรรราชมาตั้งแต่ครั้งอดีตตราบเท่าปัจจุบัน เป็นเทศกาลหนึ่งที่น่าสนใจไม่ควรพลาดโดยประการทั้งปวงครับ