เกือบทุกครั้งที่เดินทางออกจากอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อเข้ากรุงเทพฯ หรือไปลพบุรี/สระบุรี ซึ่งต้องใช้เส้นทางถนนสาย 21 (สระบุรี - หล่มสัก) เมื่อผ่านแยกวังชมภูไปไม่กี่กิโลเมตร จะต้องผ่านวัดช้างเผือก ซึ่งจะมีจุดสังเกตคือรูปปั้นช้างเผือกขนาดใหญ่ยืนคู่เคียงข้างป้ายชื่อวัด ซึ่งอยู่ปากทางที่จะเข้าไปสู่วัด โดยปกติผมก็มักจะแวะเข้าไปที่วัดก่อน ด้วยจุดประสงค์หลักคือ เข้าไปกราบสักการะขอพรสรีระสังขารหลวงพ่อทบ หรือพระครูวิชิตพัชราจารย์ ที่เก็บรักษาไว้ที่วัดนั้น เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเดินทางและทำภารกิจ ด้วยบารมีของท่านซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระเกจิ พระนักพัฒนา ที่ชาวเมืองเพชรบูรณ์ รวมถึงคนในจังหวัดอื่น ๆ ที่รู้จัก ต่างก็ให้ความเลื่อมใสศรัทธา หลวงพ่อทบท่านเกิดที่บ้านยางหัวลม ต.วังชมภู (สมัยนั้นคือ ต.นายม) อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งก็คือพื้นที่ที่วัดช้างเผือกตั้งอยู่นั่นเอง ท่านเคยบรรพชาเป็นสามเณร และศึกษาวิทยาการต่าง ๆ อยู่ที่วัดช้างเผือกแห่งนี้ตั้งแต่อายุ 16 ปี และหลังจากไปเข้ารับการอุปสมบทที่วัดศิลาโมง ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันมากนักเมื่อตอนท่านอายุ 21 ปีแล้ว ท่านก็ยังกลับมาจำพรรษาที่นี่ เพื่อศึกษาด้านคาถาอาคม ฝึกจิตภาวนากับพระอาจารย์สี เจ้าอาวาสวัดช้างเผือกในขณะนั้น ซึ่งดูแลท่านมาตั้งแต่เป็นสามเณร ก่อนที่จะท่านจะขออนุญาตออกเดินทางแสวงหาความรู้ จาริกธุดงค์ไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทย พม่า ลาว เขมร และกลับมาสร้าง พัฒนาวัดวาอารามต่าง ๆ โดยสร้างโบสถ์ให้กับวัดต่าง ๆ ถึง 16 วัด จนกระทั่งถึงวัดสุดท้ายก็คือ การกลับมาพัฒนาวัดช้างเผือกแห่งนี้ ตามที่พระอาจารย์สี อดีตเจ้าอาวาสเคยขอไว้ตั้งแต่ก่อนหลวงพ่อทบออกธุดงค์ และหลวงพ่อทบท่านก็มรณภาพในระหว่างการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเดิม ซึ่งเมื่อสำเร็จก็จะเป็นโบสถ์วัดที่ 17 ที่ท่านสร้าง แต่หลังจากวางศิลาฤกษ์ใน พ.ศ.2519 หลวงพ่อทบก็มรณภาพเสียก่อนด้วยวัย 95 ปี อันถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ โดยสรีระสังขารของท่านไม่เน่าไม่เปื่อย และได้รับการเก็บรักษาไว้ที่ศาลาในวัดช้างเผือกแห่งนี้ เพื่อให้ผู้ที่เคารพนับถือได้มาสักการะขอพร ปัจจุบัน ทางวัดยังคงเปิดให้พุทธศาสนิกชนและผู้ที่เคารพศรัทธาหลวงพ่อทบได้เข้ามากราบสักการะเพื่อน้อมรำลึกถึงหลวงพ่อ โดยมีการสร้างศาลาประดิษฐานรูปปั้นของหลวงพ่อ อยู่บริเวณด้านข้างพระอุโบสถ ส่วนสรีระสังขารที่ไม่เน่าไม่เปื่อยของท่าน ได้รับการเก็บรักษาไว้ในโลงแก้ว บนมณฑปที่อยู่ติดกับศาลานั่นเอง และเมื่อเข้าไปที่วัดช้างเผือก นอกจากจะได้สักการะหลวงพ่อทบ รวมถึงได้เช่าบูชาวัตถุมงคลของท่านเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ยังสามารถเที่ยวชมพื้นที่ภายในวัด ซึ่งมีโบสถ์เก่าที่คาดว่าสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา และถูกขุดค้นพบเมื่อประมาณ พ.ศ.2547 นอกจากนี้ยังมีต้นยางใหญ่อายุกว่าสามร้อยปี ซึ่งบริเวณต้นยางนั้นปัจจุบันมีการจัดตลาดนัด เรียกว่า ตลาดต้นยาง 300 ปี ซึ่งมีสินค้นค้าพื้นบ้านในท้องถิ่น ผัก ผลไม้ วางจำหน่ายให้เลือกซื้อเลือกหาติดไม้ติดมือกันไปด้วย ส่วนตัวของผม มองว่า ถ้าเปรียบเทียบเพชรบูรณ์คือบ้านหลังหนึ่ง หลวงพ่อทบก็เปรียบได้กับญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งของบ้านหลังนี้ การที่ลูกหลานในบ้านจะเดินทางออกนอกบ้านหรือกลับคืนสู่เหย้าในโอกาสต่าง ๆ รวมถึงแขกที่มาเยือนบ้านหลังนี้ก็น่าจะหาโอกาสแวะมาเยี่ยมเยียน"ญาติผู้ใหญ่" ท่านนี้ ที่ยังคงปรากฎสรีระสังขาร ความเมตตา บารมีของท่านอันเป็นอมตะ รอต้อนรับและให้พรแก่ผู้มาเยียมเยือนอยู่เสมอ ณ วัดช้างเผือก ต.วังชมภู อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ แห่งนี้ ภาพประกอบและภาพปกบทความ โดย 31singha