รีเซต

ต้องรอด วิธีหนีตายจากฉลาม ทำอย่างไรเมื่อเผชิญกับเพชฌฆาตกลางทะเล

ต้องรอด วิธีหนีตายจากฉลาม ทำอย่างไรเมื่อเผชิญกับเพชฌฆาตกลางทะเล
แมวหง่าว
29 กรกฎาคม 2558 ( 05:15 )
19.2K

แปล และเรียบเรียงโดย trave Truelife


อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าการถูกฉลามจู่โจมนั้นเป็นเรื่องไกลตัวครับ เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงหลังๆ นี้เรามักเห็นข่าวที่คนถูกฉลามกัดเยอะขึ้น เฉลี่ยถึงปีละ 70 คน แม้อัตราการถูกจู่โจมนั้นจะต่ำถึง 1 ใน 11.5 ล้านก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรประมาทอยู่ดี

 

Richard Peirce ผู้เชี่ยวชาญเรื่องฉลาม และอดีตประธานกลุ่ม Shark Trust charity ในอังกฤษ ได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจไว้ดังนี้

 

ก่อนลงเล่นน้ำ

1. บริเวณปากแม่น้ำ ไม่ใช่ที่ปลอดภัย

ให้หลีกเลี่ยงบริเวณปากอ่าว หรือปากแม่น้ำเพราะเป็นโซนที่อยู่ของฉลาม ทั้งฉลามขาว (great white sharks) ฉลามเสือ (tiger sharks) ฉลามหัวบาตร (bull sharks) ซึ่งเป็นกลุ่มที่อันตราย และคาดเดาไม่ได้ 

2. เรือหาปลาคือสัญญาณเตือนภัยชั้นดี

ลองมองไปที่เส้นขอบฟ้า หากคุณเห็นเรือหาปลาอยู่ละก็ ให้หลบเลี่ยงไปไกลๆ เพราะในกระบวนการจับปลานั้นคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีกลิ่นคาวเลือด และกลิ่นอื่นๆ ที่ออกมาจากตัวปลาที่จับ เป็นเหยื่อล่อชั้นเยี่ยมให้เหล่าฉลามแวะเวียนเข้ามา กรณีนี้พูดถึงทั้งเรือประมง และเรือตกปลาเพื่อการพักผ่อน

3. เล่นให้ถูกเวลา

การออกไปว่ายน้ำในช่วงเช้าตรู่ หรือในตอนค่ำนั้นไม่ใช่ความคิดที่ดีสักเท่าไหร่ เพราะมันเป็นช่วงที่คนถูกฉลามโจมตีมากที่สุด สาเหตุง่ายๆ ก็คือมองไม่เห็น และไม่รู้ว่ามันกำลังมานั่นเอง

4. อย่าปัสสาวะ หรือปล่อยเลือดให้ไหลลงน้ำ

อย่างที่เราทราบกันดีว่าฉลามนั้นมีประสาทรับกลิ่นที่ไวมาก เลือดแม้หยดเดียวก็ดึงดูดพวกมันเข้ามาแล้ว รวมไปถึงกลิ่นยูรีนจากปัสสาวะของคน และกลิ่นจากสตรีที่กำลังมีประจำเดือนก็เช่นกัน

 

หากว่าคุณต้องเผชิญหน้ากับฉลามขึ้นมาจริงๆ ล่ะก็ ที่ต้องทำก็คือ

1. ตั้งสติ

หากกำลังว่ายน้ำเล่นเพลินๆ รู้สึกตัวอีกทีมีฉลามมาว่ายวนรอบตัวล่ะก็ อย่างแรกคืออย่าตื่นตระหนกตกใจ ยิ่งพยายามตีน้ำหนียิ่งเป็นการดึงดูดความสนใจของฉลาม ต้องอธิบายก่อนว่าสำหรับสัตว์บก ไม่ว่าจะเป็นลิง หมา แมว หรือคนหากต้องการลองชิมอะไรสักอย่างจะใช้วิธีการสัมผัส และดมกลิ่นเพื่อประเมินว่าควรจะลองเอาเข้าปากหรือไม่ แต่สำหรับฉลามแล้วทางเดียวที่มันจะลองชิมได้คือต้อง “งับ” ดูเสียก่อนแล้วค่อยตัดสินใจต่อไป ฉะนั้นจงอย่าวู่วามตีน้ำจนกระจาย อยู่นิ่งๆ จะทำให้มันสงสัย และลังเลใจในการเข้ามาชิม

2. จ้องตาเข้าไว้

ให้หันหน้ามองไปยังทิศทางที่ฉลามอยู่เสมอ โดยธรรมชาติฉลามมักจะเลือกจู่โจมเหยื่อที่ไม่ทันระวังตัว และพยายามเข้าทางข้างหลังมากกว่าพุ่งหาตรงๆ 

3. ทำตัวให้ใหญ่…ไม่ก็เล็กไปเลย

ส่วนนี้แหละที่ยากที่สุด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เป็นหลัก หากฉลามอยู่ในโหมดเตรียมพร้อมจะโจมตีคุณแล้วล่ะก็ ให้กางแขนขา พยายามทำตัวให้ใหญ่มากที่สุดเป็นการข่มขวัญ แต่หากดูท่าทีแล้วมันแค่กำลังว่ายผ่านมาล่ะก็ ให้หดตัวเก็บขาทำให้ดูเล็กที่สุด เพราะบางครั้งมันอาจเห็นว่าคุณเป็นตัวอะไรสักอย่างที่จะมาแย่งแหล่งอาหารของมัน การทำตัวให้เล็กก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้เป็นคู่แข่งของมัน 

4. อย่าแกล้งตาย

นี่ฉลามนะ..ไม่ใช่หมี หากจะโดนงับอยู่แล้วนี่คงไม่ใช่เวลานอนเฉยๆ ใช้ทุกอย่างที่คุณมีเพื่อป้องกันตนเอง ทั้งต่อย เตะ ถ้ามีไม้ติดกล้องโกโปร หรือท่ออากาศที่ติดมากับหน้ากากดำน้ำก็ใช้ทิ่มได้เหมือนกัน จุดที่บอบบางที่สุดของมันมีสองที่ คือจมูก และเหงือก ให้เน้นตีที่บริเวณนี้จะช่วยไล่มันได้ 

5. อย่าเปิดช่องว่าง 

หากคุณเป็นนักดำน้ำลึกแล้วเจอฉลามล่ะก็ ให้พยายามหันหลังเข้าแนวปะการังหรือโขดหินเพื่อปิดช่องว่างจากข้างหลัง มองตามตำแหน่งฉลามอยู่ตลอดเวลาแล้วค่อยๆ ว่ายขึ้นผิวน้ำช้าเพื่อขึ้นเรือ

6. ว่ายช้าๆ 

ข้อนี้สัมพันธ์กับข้อแรก คือห้ามตกใจแล้วรีบว่ายตีน้ำแรงๆ ให้เคลื่อนไหวอย่างระวัดระวังมากที่สุด ว่ายเข้าฝั่งหรือเรือโดยหันหน้าให้ฉลามอยู่เสมอ


สุดท้ายแล้ว คุณ Peirce แนะนำว่าทางทีดีที่สุดคือพยายามอย่าลงไปที่ที่เสี่ยงจะเจอฉลามตั้งแต่แรกจะดีที่สุด เพราะสมมติว่าหากไปเจอมันในโหมดที่พร้อมโจมตีจริงๆ แล้วล่ะก็ โอกาสที่คุณจะหนีมาได้นั้นก็ริบหรี่สุดๆ


ภาพ: ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับงานบทความใน “ทรูไลฟ์” และ “H Travel” เท่านั้น ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด

 

ติดตาม travel.truelife.com อีกช่องทางที่


  

 ทุกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาหาร และที่พัก คลิกที่ http://travel.truelife.com