รีเซต

9 เส้นทางตามรอยพ่อ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในภาคกลาง

9 เส้นทางตามรอยพ่อ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในภาคกลาง
aichan
28 พฤศจิกายน 2559 ( 07:43 )
65K

 

สัมผัส 9 เส้นทางตามรอยพระบาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงงานหนักและทุ่มเทพระวรกาย เพื่อให้ประชาชนของพระองค์มีอาชีพที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน เดินทางตามรอยพ่อ ไปเพื่อให้เห็น เพื่อได้เรียนรู้ แล้วจะรู้สึกได้เลยว่า คนไทยช่างโชคดีที่ได้เกิดมาบนแผ่นดินนี้ ใต้ร่มพระบารมีของพ่อ

 

1.โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ จ.เพชรบุรี

หัวหินนอกจากจะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญแล้ว ยังเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล ซึ่งที่นี่คือจุดกำเนิดของโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ซึ่งมีที่มาจากมันเทศ และความห่วงใยที่มีต่อพสกนิกร ที่ประกอบอาชีพ ด้านการเกษตรกรรมในพื้นที่ของพระองค์

เรื่องเล่าจากที่มาของโครงการชั่งหัวมันนั้น เกิดจาก ชาวบ้านในพื้นที่ ได้นำมันเทศมาถวายแด่ในหลวงที่พระราชวังไกลกังวล ซึ่งพระองค์ท่านรับสั่งให้ข้าราชบริพารนำไปเก็บไว้ที่ตราชั่งในห้องทรงงาน ก่อนจะเสด็จกลับกรุงเทพฯในเดือนต่อมาพระองค์ท่านเสด็จกลับมาประทับ ที่หัวหิน ทรงพบว่ามันเทศดังกล่าวเกิดแตกใบออกมา จึงมีพระราชดำริให้รีบจัดหาที่ดินเพื่อทำการเกษตร โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินจำนวนกว่า 250 ไร่ ใจกลางหุบเขาในเขตบ้านหนองคอไก่ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีเพื่อพัฒนาพื้นที่แห้งแล้งนี้ ให้เป็นศูนย์รวบรวมพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเต็มรูปแบบ

โครงการชั่งหัวมัน มีแปลงปลูกข้าวและพืชผักเศรษฐกิจหลากหลายชนิด อาทิ มันเทศ สับปะรด มะพร้าว มีฟาร์มเลี้ยง โคและไก่ ตลอดจนติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า แผงโซล่าเซลล์พร้อมระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในโครงการ และจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยเปิดให้ประชาชนได้แวะมาท่องเที่ยว เรียนรู้ และจับจ่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรท้องถิ่น

 

2.โครงการอัมพวา-ชัยพัฒนานุรักษ์ จ.สมุทรสงคราม

ถ้านึกถึงสถานที่ท่องเที่ยว ที่ส่งเสริมให้คนท้องถิ่นรู้จักรักษามรดกและวัฒนธรรมอันขึ้นชื่อ ทั้งยังเป็นชุมชนที่มีความสามัคคีเข้มแข็ง หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของชาวอัมพวา ที่ร่วมแรงร่วมใจกัน สานต่อภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของ ชาวอัมพวาในอดีตให้คงอยู่ ณ โครงการอัมพวา-ชัยพัฒนา-นุรักษ์ (มูลนิธิชัยพัฒนา) จังหวัดสมุทรสงครามอย่างแน่นอน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนิน เปิดโครงการอัมพวา-ชัยพัฒนานุรักษ์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ภายหลังที่นางสาวประยงค์ นาคะวะรังค์ ข้าราชการบำนาญโรงพยาบาล ทรวงอกฯ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 5 แปลง พื้นที่กว่า 21 ไร่ เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา และใน พ.ศ.2554 นางวณี และนางประทิน ด้วงคุ้ม ได้น้อมเกล้าฯถวายที่ดินสวน ผลไม้เนื้อที่รวมกว่า 5 ไร่ ให้กับมูลนิธิชัยพัฒนาเพิ่มเติม

ด้วยสถานที่ซึ่งไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เหมาะสำหรับ วันหยุดสำหรับคนที่มีเวลาไม่มากนัก เพราะสามารถแวะมาพักผ่อนหย่อนท่ามกลางธรรมชาติ เรียนรู้วัฒนธรรม พื้นถิ่นของชาวอัมพวาได้อย่างง่ายๆ นอกจากนี้ยังสามารถซื้อของฝาก ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และผลิตภัณฑ์ภัทรพัฒน์ของมูลนิธิชัยพัฒนา กลับไปฝากคนที่บ้านได้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม-เยือนอัมพวา ชมโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์

 

3.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา

จากการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทั้ง ดิน น้ำ และป่าไม้ภายใต้การดูแลของกรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมป่าไม้ และกรมปศุสัตว์ 4 หน่วยราชการที่มีส่วนร่วมกัน พัฒนาพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่อง มาจากพระราชดำริ จนกลายมาเป็นศูนย์ศึกษาและพัฒนาด้านเกษตรกรรมและงานศิลปาชีพแก่เกษตรกรและผู้สนใจทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สามารถแวะมาสัมผัสวิถีชีวิตเรียบง่ายพอเพียงตามแนวคิดของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในปี พ.ศ. 2522 ราษฎรในหมู่ที่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 264 ไร่ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้ถวายที่ดินเพิ่มอีก 497 ไร่ รวมกับที่ดินบริเวณสวนรุกขชาติและ สวนพฤกษ์ศาสตร์ และที่ดินพระราชทานจากในหลวง ในพื้นที่ติดกับศูนย์ฯ รวมเป็น 1,895 ไร่ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชื่อว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2523

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ปัจจุบันเป็น สถานที่พักผ่อนในวันหยุดที่ประชาชนให้ความสนใจ เข้าเยี่ยมชม และศึกษาเรียนรู้ทั้งแบบครบครัวและหมู่คณะ

 

4.พระราชวังบางปะอินและวัดนิเวศธรรมประวัติ ราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา

ใครที่ชื่นชอบเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมยุโรป เมื่อได้มาท่องเที่ยวอยุธยา คงต้องตรงมาที่วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหารเป็นที่แรก อารามหลวงบนเกาะกลางแม่น้ำแห่งนี้ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยศึกษาแบบจากโบสถ์ฝรั่งสไตล์โกธิค สังเกต ได้จากปลายยอดแหลมของอุโบสถ ภายในตกแต่งด้วยกระจกสีสวยงามนำเข้ามาจากอิตาลี กลายเป็นความงดงาม ที่แตกต่างไม่แพ้วัดไทยดั้งเดิม

ข้ามมาอีกฝั่งของแม่น้ำจะเข้าสู่เขตพระราชวังบางปะอิน วังโบราณที่สร้างในยุคสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแบ่งออกเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก ซึ่งใช้สำหรับการประกอบราชพิธีต่างๆ และเขตพระราชฐานชั้นใน เชื่อมจาก พระที่นั่งวโรภาษพิมานกับประตูเทวราชครรไล

นอกจากศิลปะไทยที่ผสมผสานกับศิลปะตะวันตกทั่วบริเวณแล้ว ยังมีพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระที่นั่งสุดท้ายที่สร้าง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่นี่สร้างขึ้นโดยสมาคมพ่อค้าใหญ่ชาวจีน สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนดั้งเดิมที่งดงามอลังการไม่แพ้ พระที่นั่งอื่นๆ

อ่านเพิ่มเติม-พระราชวังบางปะอิน จากกรุงศรีอยุธยา ถึง รัตนโกสินทร์ ความงามไม่เสื่อมคลาย

 

5.โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ

ด้วยสภาพที่คดเคี้ยวของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณรอบพื้นที่เขตบางกระเจ้านั้นมีความยาวถึง 18 กิโลเมตร การระบายน้ำที่ท่วมขังพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ จึงเป็น ไปได้ช้า จนไม่ทันช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาคลองลัดโพธิ์ให้กลายเป็นทางระบายน้ำ ที่สามารถเปิดประตูระบายน้ำได้ทันทีที่น้ำท่วมขังตัวเมืองในสองฝั่งน้ำ และปิดประตูระบายน้ำเมื่อเกิดน้ำทะเลหนุนสูง ทั้งยังมีการทดลองติดตั้งกังหันทดน้ำแบบหมุนตามแนวแกน (Axial Flow) และแบบหมุนขวางการไหล (Cross Flow) สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า อันเป็นต้นแบบไปสู่การการผลิตกระแสไฟฟ้าตามประตูระบายน้ำแห่งอื่นต่อไป ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์รวมไปถึงโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมอย่าง สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 นั้น ถือเป็นการแก้ปัญหาได้ทั้งเรื่องน้ำท่วมและการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในวันนี้นอกจากโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จะเป็นหนทางแก้ไขปัญหาน้ำเอ่อล้นสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครแล้ว ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งใหม่ของอำเภอพระประแดง

 

6.เขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี

จังหวัดลพบุรี อาจขึ้นชื่อเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว เชิงประวัติศาสตร์ เป็นเมืองโบราณสถานแห่งสำคัญที่ตกทอดมาจากอาณาจักรละโว้ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มี ลิงเป็นสัตว์คู่บ้าน แต่ถึงกระนั้นยังมีหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่สามารถมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมดื่มด่ำกับธรรมชาติไปด้วยพร้อมกัน นั่นก็คือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์โครงการในพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2532 ที่ให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสม ของโครงการเพื่อเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ทำการเกษตร และเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เริ่มอนุมัติโครงการในปี พ.ศ. 2537 และใช้เวลาก่อสร้างกว่า 5 ปี จนสามารถเริ่มเก็บกักน้ำ ได้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2541 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542

เขื่อนป่าสัก คือเขื่อนดินซึ่งยาวที่สุดในประเทศไทย คือ 4,860 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่า 960 ล้านลูกบาศก์เมตร และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดลพบุรี ที่ใครๆ ก็ต้องแวะเที่ยวชม

อ่านเพิ่มเติม-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ นั่งรถรางชมวิว ใกล้กรุงเทพฯ

 

7.พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี

ศูนย์การเรียนรู้อีกหนึ่งแห่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งขึ้นในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปีเมื่อปี พ.ศ. 2539 ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากเขตกรุงเทพฯ มากนัก

พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือศูนย์การเรียนรู้ของเยาวชนและบุคคลทั่วไป ที่จะได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยเพื่อปวงชนชาวไทยมาตลอดชีวิต

ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 10 โซน ภายใต้แนวคิด 10 โซนมหัศจรรย์การเรียนรู้วิถีเกษตรตามรอยพ่อ เป็นนิทรรศการที่รวบรวมผลงานของพ่อหลวง อาทิ พระราชกรณียกิจสำคัญ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตลอดจนการพัฒนาพื้นที่การเกษตรและถิ่นทุรกันดาร

ใครอยากเรียนรู้ความหมาย ตลอดจนความเป็นมาของ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ใครอยากเดินตาม รอยพ่อบนวิถีพอเพียง ศึกษาวิธีการทรงงานของพระองค์ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น มาที่นี่เพียงหนึ่งวัน แล้วจะซาบซึ้งใจในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พ่อหลวงท่านได้ทำเพื่อคนไทยนั้นมีมากมายจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม-ตามรอยเท้าพ่อ พิพิธภัณฑ์เกษตร เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : กษัตริย์ แห่ง การเกษตร

 

8.ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย-นาเฮียใช้ จ.สุพรรณบุรี

จากความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของตระกูลเจริญธรรมรักษา ที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ โดยการค้นหาเกษตรกรที่ขยันซื่อสัตย์และรับผิดชอบในหน้าที่มาช่วยพัฒนาระบบเมล็ดพันธุ์ข้าว จนได้ข้าวที่มีความบริสุทธิ์ สูง ผ่านเกณฑ์ตามที่ พ.ร.บ.พันธุ์พืชกำหนด ในปี พ.ศ. 2540 จนมีสมาชิกชาวนาที่ปลูกข้าวให้ จำนวน 313 ครอบครัว บนพื้นที่ประมาณ 5 พันไร่

ในปี พ.ศ. 2553 คุณนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา บุตรชายของเฮียใช้ ได้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้ที่มีความสนใจศึกษาหาความรู้เรื่องข้าว และวิถีชีวิตชาวนาไทยในอดีต และเพื่อเป็นการตอบแทนชาวนาผู้มีพระคุณและแผ่นดินเกิด และก่อสร้างเรือนไทยหลังงามมากมาย เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ อาทิ เรือนศูนย์รวมดวงใจไทยทั้งชาติ เรือนพระแม่โพสพ และเรือนวิถีชีวิตชาวนาไทยในอดีตฯลฯ

ปัจจุบันคุณนิทัศน์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้รวบรวม และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการเมล็ดพันธุ์ให้กับชมรมผู้ผลิต และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว จังหวัดสุพรรณบุรี การริเริ่มก่อตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทยขึ้น จึงให้ประโยชน์มหาศาลแก่ส่วนรวม ทำให้บุคคลทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของข้าวและชาวนา เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวให้ผู้สนใจได้เข้าชมแห่งสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุ

 

9.ศูนย์การศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี จ.ประจวบคีรีขันธ์

ในช่วงปีพ.ศ. 2524–2539 ณ เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองเก่า-คลองคอย อำเภอปราณบุรี บริเวณนี้เคยเป็นนากุ้งมาก่อน แต่ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ห่วงใย เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จวนอุทยานปรานบุรี ในปี พ.ศ. 2539 และได้ผ่านบริเวณพื้นที่แห่งนี้ แล้วพบว่าพื้นที่ป่าในแถบนี้ได้หายไป เพราะกลายเป็นนากุ้งไปหมดแล้ว

กรมป่าไม้จึง ได้สนองพระราชดำริ ด้วยการการยกเลิกสัมปทานนากุ้งในปีนั้น แล้วได้ยกพื้นที่ส่วนนี้ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกำหนดเป็นพื้นที่สำหรับ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาส ทรงครองราชย์ปีที่ 50 ซึ่งบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ได้อาสาเข้าร่วมโครงการที่จะพลิกฟื้นนากุ้งแห่งนี้ด้วย จนกลายเป็น ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนมาจนถึงปัจจุบัน

ร่วมสัมผัสความร่มรื่นของพรรณไม้ และศึกษาระบบนิเวศ ป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์อย่างใกล้ชิด ชมต้นโกงกางประวัติศาสตร์ 2 ต้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินนาถ ทรงปลูก เอาไว้ ชมวิวปากแม่น้ำปราณบุรี อุทยานแห่งชาติ เขาสามร้อยยอดจากหอชะครามในวันฟ้าโปร่ง ทั้งหมดนี้ พบได้ที่ป่าผืนนี้ที่เดียว

อ่านเพิ่มเติม-ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ปราณบุรี

 

 

นอกเหนือจาก 9 เส้นทางข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลากหลายเส้นทาง หลายโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากทั่วประเทศที่น่าสนใจ สามารถเข้าไปอ่านเส้นทางตามรอยพระบาททั้งหมด 70 เส้นทางได้ที่ http://70waysofking.tourismthailand.org/

 

 

ติดตาม travel.truelife.com อีกช่องทางที่

ทุกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาหาร และที่พัก คลิกที่ http://travel.truelife.com