ปักหมุด มรดกโลก เที่ยวอุดรธานี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง ตามรอยประวัติศาสตร์
วันนี้พามาม่วน เที่ยวอีสาน กันอีกแล้วค่ะ หลังจากที่พากันไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามรอยพญานาคกันที่ คำชะโนด มาแล้ว ตอนนี้เราจึงอยากพามาตามรอยประวัติศาสตร์กันบ้างที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ที่เที่ยวอุดรธานี ที่มีชื่อเสียงมากๆ และยังเป็นหนึ่งใน มรดกโลก แหล่งโบราณคดีที่มีอายุกว่า 5,000 ปี เป็น ที่รู้จักกันไปทั่วโลกนั่นเองค่ะ
บ้านเชียง มรดกโลก
เที่ยวอุดรธานี ย้อนรอยประวัติศาสตร์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง เป็นพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นในพื้นที่ของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และเปิดให้เข้าชมได้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2518 โดยก่อตั้งหลังการเสด็จประพาสเยี่ยมชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ.2515 นั่นเองค่ะ
ที่นี่เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยเลยทีเดียว เนื่องจากมีการค้นพบว่า บริเวณนี้นั้นเคยเป็นที่อยู่อาศัยและที่ฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ คือยุคโลหะ เมื่อราวๆ 5,000 กว่าปีมาแล้ว ทำให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ได้รับเลือกเป็นแหล่ง มรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2535 และเป็นที่รู้จักของคนไปทั่วโลกนั่นเองค่ะ
ภายในพิพิธภัณฑ์มีส่วนของการจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ อยู่ 3 อาคารด้วยกันคือ
- อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นอาคารศูนย์รวมบริการต่างๆ และมีห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน
- อาคารกัลยาณิวัฒนา เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการหลักเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
- อาคารนิทรรศการไทพวน จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของชาวไทพวนซึ่งเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
แน่นอนว่า สิ่งที่เราจะพลาดไม่ได้เลยก็คือ นิทรรศการหลัก นั่นเองค่ะ โดยภายในอาคาร จะแบ่งออกเป็น 9 ส่วนของการจัดแสดง ก็คือ
ส่วนจัดแสดงที่ 1 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับบ้านเชียง จัดแสดงเรื่องการประพาสเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ.2515 ค่ะ จนมีการศึกษา และพัฒนาต่อยอด และกลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียงในปัจจุบัน
ส่วนจัดแสดงที่ 2 การดำเนินงานศึกษาทางด้านโบราณคดีที่บ้านเชียงต่างๆ ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ
ส่วนจัดแสดงที่ 3 เป็นการจัดแสดงการปฏิบัติงาน การขุดค้นพบโบราณวัตถุต่างๆ โดยนักโบราณคดีในช่วงปี พ.ศ.2517-2518
ส่วนจัดแสดงที่ 4 เป็นการจัดแสดง จำลองหลุมขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงปี พ.ศ.2517-2518 ไฮไลท์ก็คือ นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ก็สามารถเข้าไปสัมผัสการทำงานภายในหลุมขุดค้นจำลองอย่างใกล้ชิดได้อีกด้วย
ส่วนจัดแสดงที่ 5 เป็นการจัดแสดงโบราณวัตถุจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่ วัดโพธิ์ศรี แบ่งออกตามสมัยของวัฒนธรรมบ้านเชียง ทั้ง 3 สมัย เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และเครื่องประดับจากวัสดุธรรมชาติ แก้ว หิน และโลหะ
ส่วนจัดแสดงที่ 6 จัดแสดงการจำลองวิถีชีวิต โบราณวัตถุ และวัฒนธรรมบ้านเชียงในยุคก่อนประวัติศาสตร์
ส่วนจัดแสดงที่ 7 เป็นการค้นพบยุคสำริดที่หายสาบสูญ โดยจัดแสดงนิทรรศการที่ดัดแปลงมาจากนิทรรศการที่ถูกจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งอธิบายการศึกษาทางโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการค้นพบวัฒนธรรมยุคสำริดที่บ้านเชียง
ส่วนจัดแสดงที่ 8 บ้านเชียง : มรดกโลก เป็นการจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับเลือกเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2535 นั่นเอง
ส่วนจัดแสดงที่ 9 จัดแสดงโบราณวัตถุที่ถูกพบระหว่างการสำรวจจากแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ใกล้เคียงกับพื้นที่แหล่งบ้านเชียงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เพื่อศึกษาการกระจายตัวของวัฒนธรรมบ้านเชียง
ต้องบอกว่า การได้มาเดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์แบบนี้ ได้รู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และแหล่งขุดค้นพบโบราณคดี บอกเลยว่า แอบปลุกความอยากเป็นนักโบราณคดี และนักสำรวจของเราขึ้นมาอีกครั้งค่ะ ที่นี่เต็มไปด้วยร่องรอยของผู้คนเมื่อ 5,000 กว่าปีมาแล้ว ทำให้เราย้อนนึกถึงรากเหง้า และความใกล้ชิดระหว่างคนและธรรมชาติ วัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยความสวยงามอีกครั้งค่ะ
ออกมาอินต่อด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ ตรงนี้มีร้านค้าขายของฝาก ของที่ระลึกจากการมาเยี่ยมชมบ้านเชียงด้วย จะเป็น หม้อ ไห แก้วน้ำ ต่างๆ ในลวดลายอันมีเอกลักษณ์ของบ้านเชียง ไหนๆ มาเที่ยวแล้ว ก็เก็บกลับบ้านไปเป็นที่ระลึกกันสักหน่อยได้ค่ะ
- ที่อยู่ : หมู่ที่ 13 ถนนสุทธิพงษ์ ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
- พิกัด : https://goo.gl/maps/uccAVb5Gb9fV7iYZ8
- เปิดให้เข้าชม : 09.00-16.00 น.
- ค่าเข้าชม : ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท
- โทร : 0-4223-5040
- เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/bcnmfinearts
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก https://thailandtourismdirectory.go.th
รวมที่เที่ยว ที่พัก อัพเดทเทรนด์ ฟินทั่วไทยและต่างประเทศ
อ่านง่าย สบายกว่าที่เคย! บนแอปพลิเคชัน ทรูไอดี