รีเซต

เทศกาล Midsummer วันฉลองกลางฤดูร้อนแสนอบอุ่นแห่งสวีเดน

เทศกาล Midsummer วันฉลองกลางฤดูร้อนแสนอบอุ่นแห่งสวีเดน
Muzika
15 สิงหาคม 2562 ( 20:00 )
20.7K
5

     สำหรับชาวไทยอย่างเราที่ไม่เคยขาดแคลนแสงอาทิตย์มาทั้งชีวิต การออกมาจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลองท่ามกลางแดดจัดๆ นี่ก็เท่ากับเสียสติดีๆ นี่เอง แต่กับชาวยุโรปเหนือหรือสแกนดิเนเวียแล้วนับเป็นเรื่องน่ายินดีมากๆ ต้องจัดงานเฉลิมฉลองทันที ! และนี่คือที่มาของเทศกาล วันกลางฤดูร้อน หรือ Midsommar (ภาษาสวีดิช) / Midsummer นั่นเองครับ

 

 

     หลายๆ คนน่าจะพอเคยได้ยินชื่อของเทศกาลนี้มาจากหนังเรื่อง Midsommar กันมาบ้างแล้ว แม้จากหนังจะดูน่าสยองเหลือเกิน แต่กับเทศกาลของจริงแล้ว ผมบอกเลยว่าต่างกันอยู่ลิบลับอยู่ครับ ส่วนใครอยากอ่านรีวิวหนังก่อน ก็เข้าไปดูได้ใน 

 

 

ประวัติเทศกาล Midsommar

 

     แรกเริ่มนั้นวันมิดซัมเมอร์จะเป็นงานที่จัดขึ้นแด่เทพธิดาแห่งการเจริญพันธุ์ ซึ่งก็มีความหมายทั้งเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของพืชผล และการเจริญพันธุ์ของหนุ่มสาวนั่นแหละครับ ต่อมาภายหลังเมื่อคริสต์ศาสนาได้เผยแพร่เข้ามายังประเทศสวีเดน เทศกาลนี้ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของศาสนาคริสส์ไปด้วย ตามพระคำภีร์ไบเบิลเทศกาลมิดซัมเมอร์นี้จะมีขึ้นประมาณ 6 เดือนก่อนวันประสูติของพระเยซู

 

By Bengt Nyman from Vaxholm, Sweden - DIMG_5456, CC BY 2.0

 

     แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ชาวสวีดิชก็ไม่ได้เข้าโบสถ์กันในวันนี้แต่อย่างใดนะครับ แต่จะกลับบ้านที่อยู่ในชนบท เฉลิมฉลองกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว เพื่อนฝูง จนถึงขั้นทำให้ท้องถนนตามเมืองใหญ่ๆ ถึงกับเงียบเหงาไปเลย

 

 

ความสำคัญของเทศกาล Midsommar

 

 

     เทศกาล Midsommar นั้นมีความสำคัญใกล้เคียงกันกับวันคริสต์มาสเลยทีเดียว ชาวสวีดิชจะได้โอกาสกลับมาพบปะรวมตัวกันระหว่างญาติสนิทมิตรสหาย มากินอาหาร และดื่มฉลองร่วมกันในวันนี้ โดยปรกติจะอยู่ในช่วงวันที่ 20-26 มิ.ย. เพื่อเป็นการต้อนรับฤดูร้อนหลังจากความหนาวอันยาวนานได้ผ่านพ้นไป โดยวันที่ถูกกำหนดให้เป็น Midsommar จะเป็นวันที่มีช่วงกลางวันยาวนานที่สุดของปี (หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า วันครีษมายัน) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าวันนี้จะมีเวลามากกว่า 24 ชั่วโมงนะครับ แต่หมายถึงว่าวันนี้เป็นวันที่พระอาทิตย์ส่องแสง และสว่างเป็นระยะยาวนานที่สุดของปี

 

*สำหรับปี 2020 เทศกาล Midsommar จะจัดขึ้นวันที่ 20 มิถุนายนครับ *

 

     เทศกาลนี้มีการจัดอย่างต่อเนื่องยาวนานมานับร้อยปีแล้ว โดยจะแบ่งเป็น 2 วันหลักๆ คือวันก่อนวัน Midsommar เรียกว่ามิดส่มมารฺอัฟต้อน (Midsommarafton) และมิดส่มมารฺดาเกน (Midsommardagen) ทั้งสองวันนี้ยังนับเป็นวันหยุดราชการของประเทศสวีเดนด้วยครับ

 

 

อาหารที่สำคัญในเทศกาล

 

 

     สำหรับสำรับที่เขาจะนำมาเลี้ยงฉลองกันในวันนี้ก็จะเป็นอาหารสวีเดนทั่วไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด 4 อย่างที่ต้องมีบนโต๊ะ ก็คือมันฝรั่งสดต้นฤดูกาล ปลาแฮร์ริ่งหมัก สตรอว์เบอร์รี และสุดท้ายคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครับ ซึ่งชาวสวีดิชเองก็นิยมดื่มกันชนิดว่าไม่เมาไม่เลิกขนาดนั้นเลย

 

 

เสามิดซัมเมอร์ (Midsommarstången) - สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์

 

 

     สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ที่เห็นกันจนชินตา เห็นแล้วรู้ทันทีว่าหมายถึงเทศกาลนี้ ก็คือเจ้าเสามิดซัมเมอร์ Midsommarstången หรือที่เรียกอีกอย่างว่า Maypole นี่ล่ะครับ เสานี้จะถูกประดับประดาด้วยใบไม้ ดอกไม้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ แล้วก็จะมีการร้องเล่นเต้นรำกันรอบๆ เสา เช่น วิ่งกระสอบ ชักเย่อ เหวี่ยงเกือกม้า ฯลฯ ซึ่งถ้าเห็นเสานี้ตรงไหน ก็รู้ได้เลยว่าที่ตรงนั้นจะถูกใช้เป็นลานเฉลิมฉลองครับ

 

 

ช่อดอกไม้แห่งรักแท้

 

 

     ในช่วงมิดซัมเมอร์ นอกเหนือจากเสื้อผ้าต่างๆ และมงกุฎที่ทำจากดอกไม้หลากสีสันแล้ว ยังมีธรรมเนียมโบราณที่ชายหญิงวัยรุ่นนิยมทำกันในช่วงนี้ นั่นคือการเก็บรวบรวมดอกไม้ให้ได้ 7 ชนิด นำไปสอดไว้ใต้หมอน แล้วเมื่อหลับไปจะพบหน้าคนรักของเรามาปรากฎในความฝัน ไม่ว่าตำนานนี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ที่แน่ๆ อัตราการเกิดของชาวสวีเดนก็มักจะเพิ่มขึ้นในช่วงนี้แหละ เพราะมีรายงานว่าจำนวนของเด็กทารกที่เกิดภายในช่วง 9 เดือนหลังเทศกาลมิดซัมเมอร์นั้นจะสูงเป็นพิเศษ

 

 

ประเทศไหนบ้างที่มีเทศกาล Midsummer ?

 

Raimond Kalva / Shutterstock.com

 

     นอกเหนือจากประเทศสวีเดนแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่เฉลิมฉลองเทศกาลนี้อยู่เหมือนกันครับ เช่น นอร์เวย์ เดนมาร์ค ฟินแลนด์ เอสโตเนีย อิตาลี โปแลนด์ โปรตุเกส สเปน และสหรัฐอเมริกาบางพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งแต่ละแห่งก็อาจมีพิธีกรรม และวิธีฉลองที่แตกต่างกันออกไปบ้าง แต่โดยรวมๆ แล้วก็เพื่อต้อนรับการมาถึงของวันครีษมายันเหมือนกันครับ

 

 

     โดยสรุปแล้ว เทศกาลนี้ก็เป็นงานเฉลิมฉลอง บวกกับงานรวมญาตินั่นเองครับ โดยไม่ได้มีเรื่องน่ากลัวที่เกี่ยวกับลัทธิอะไรแต่อย่างใด จะมีที่ใกล้เคียงอยู่บ้างในบ้างพื้นที่ ที่เขาจะมีการก่อกองไฟร่วมด้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเผาแม่มด และขับไล่วิญญาณชั่วร้ายนั่นเอง รู้อย่างนี้แล้ว ใครอยากเดินทางไปร่วมงานก็ไปได้อย่างสบายใจแล้วล่ะนะ