รีเซต

มหากุมภะ เมลา แรงศรัทธาแห่งอินเดีย พิธีอาบน้ำล้างบาป ที่จุดบรรจบ 3 สายน้ำศักดิ์สิทธิ์

มหากุมภะ เมลา แรงศรัทธาแห่งอินเดีย พิธีอาบน้ำล้างบาป ที่จุดบรรจบ 3 สายน้ำศักดิ์สิทธิ์
27 กุมภาพันธ์ 2562 ( 10:00 )
20.7K
1

     ด้วยความศรัทธาอันเข้มข้น และสีสันอันแปลกตาชวนให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกอยากไปเห็นด้วยตาตัวเองซักครั้ง สำหรับวัฒนธรรมความเชื่อของชาวฮินดู…พิธี มหากุมภะ เมลา ประเทศอินเดีย 

 

 

     โดยพิธีกรรมในเดือนแรกของปีนี้ เป็นพิธีใหญ่ที่รวบรวมชาวฮินดูจำนวนหลายล้าน ให้มาร่วมอยู่ ณ จุดๆ เดียวกัน คือที่สถานที่ที่เรียกว่า “สังคัม”  ซึ่งเป็นสถานที่ที่แม่น้ำศักดิ์สิทธ์สำคัญ 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา และแม่น้ำสรัสวดี ซึ่งจุดดังกล่าว อยู่ในเมืองอัลลาฮาบัด รัฐอุตตรประเทศของอินเดีย  แต่หากมองด้วยตาเปล่า จะสามารถมองเห็นแม่น้ำเพียง 2 สาย คือ สายแรกเท่านั้น  ส่วนแม่น้ำสรัสวดีมองไม่เห็น แต่เป็นความเชื่อของชาวอินเดีย ที่กล่าวกันว่าไหลมาจากใต้ดินแล้วมาผุดขึ้นที่นี่ โดยว่ากันว่า แม่น้ำสรัสวดีนี้ มีถิ่นกำเนิดที่เมืองราชคฤห์ รัฐพิหารในปัจจุบัน และแม่น้ำ 3 สายอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ก็ไหลมาบรรจบกันตรงนี้…จุดที่ถูกเรียกขานว่า “สังคัม” ที่ถือเป็นบริเวณมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์

 

     เป็นเทศกาลการอาบน้ำของชาวฮินดู “มหากุมภะ เมลา”  (Maha Kumbh Mela Festival) จะจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมต่อกับกุมภาพันธ์เป็นพิธีอาบน้ำล้างบาปตามความเชื่อของชาวฮินดูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยพิธีที่เพิ่งจะเริ่มขึ้น อันเป็นพิธีในปีพ.ศ.2562 นี้ มีสื่อต่างประเทศหลายสำนัก รายงานว่า มีการคาดการณ์ว่าจะมีชาวฮินดูเข้าร่วมงานมากกว่า 1.3 พันล้านคนเลยทีเดียว

 

GRIGORIS SIAMIDIS / Shutterstock.com

 

     โดยตั้งแต่ช่วงรุ่งสางของวันที่ 15 ม.ค. ได้มีนักบวชฮินดูจำนวนมาก ต่างถือดาบและตรีศูลอันเป็นสัญลักษณ์ตามความเชื่อทางศาสนา วิ่งลงไปชำระล้างร่างกายในสายน้ำอันเย็บเฉียบของแม่น้ำคงคาซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของเทศกาลอาบน้ำล้างบาปนี้

 

Joydeep Mitra / Shutterstock.com 

 

     สำหรับชาวอินเดียทั่วไป มหากุมภะเมลา ถือเป็นเทศกาลสำคัญที่ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงจะได้สวดมนต์ขอพรและเดินทางไปแสวงบุญร่วมกัน โดยต่างเต็มใจเผชิญความยากลำบากไม่ว่าจะเป็นการเบียดเสียดกับฝูงชน เสียงตะคอกของตำรวจนับพันนายคอยที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในพิธี รวมถึงสภาพอากาศที่หนาวจัดในเดือนมกราคม เพื่อให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีชำระล้างบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์

 

yukihipo / Shutterstock.com

 

     “มหากุมภะ เมลา” มีที่มาจากความเชื่อที่ว่า ขณะที่เทวดาและอสูรแย่งชิงน้ำอมฤตซึ่งได้จากการกวนเกษียรสมุทรนั้น น้ำอมฤตได้กระเด็นตกลงมายังสถานที่ 4 แห่งบนโลกมนุษย์ ได้แก่ อัลลาฮาบัด, นาสิก, อุชเชนี และหริทวาร

 

chetansoni / Shutterstock.com

 

     เทศกาลมหากุมภะ เมลานี้ ถือว่าเป็นการรวมตัวของชาวฮินดูที่มากและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีจุดหมายเป็นอันเดียวกันคือการได้อาบน้ำในเวลาและสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

 

     เทศกาลมหากุมภะ เมลา เป็นนิยายปรัมปราที่ฝังแน่นจนเกิดเป็นความเชื่อของชาวฮินดูมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ หากดูตามรูปศัพท์แล้ว “กุมภะ” แปลว่า หม้อ เหยือก หรือโกศ สำหรับบรรจุน้ำ ส่วน “เมลา” แปลว่า เทศกาล หรือนิทรรศการ แปลรวม ๆ กันเอาเนื้อความก็คือ เทศกาลการอาบน้ำ (Bathing Festival) จริงๆ แล้วเทศกาลการอาบน้ำนี้มีช่วงหรือระยะเวลาแตกต่างกันออกไปคือ

1. ทุก ๆ 1 ปี เรียกว่า มาฆ์ เมลา (Magh Mela)
2. ทุก ๆ 6 ปี เรียกว่า อาร์ทะ กุมภะ (Ardha Kumbh)
3. ทุก ๆ 12 ปี เรียกว่า กุมภะ เมลา (Kumbh Mela)

 

GRIGORIS SIAMIDIS / Shutterstock.com

 

     โดยจัดทำขึ้น 4 ที่คือ

1. เมืองหริดวาร์ รัฐอุตตรัลจัล (Uttaranchal) หรือ อุตตรขัณฑ์
2. เมืองปรยาค เมืองอัลลาฮาบาด รัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh)
3. เมืองนาสิก แม่น้ำศิประ รัฐมหาราษฎร์ (Maharashata)
4. เมืองอุชเชนี

 

      
     พิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ในเมืองอัลลาฮาบัด รัฐอุตตรประเทศ จะจัดขึ้นเป็นประจำทุก 12 ปี ขณะที่เมืองอื่นๆ ในอินเดียก็มีการจัดพิธีอาบน้ำล้างบาปทุกๆ 3 ปี การจัดแต่ละครั้งจะกินเวลายาวนานถึง 8 สัปดาห์

====================