วังสวนผักกาด พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ใจกลางเมืองหลวง
นั่งรถผ่านไปบนถนนศรีอยุธยาสะดุดตากับประตูรั้วที่มีป้ายติดไว้ว่า “พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด” เสียทุกครั้งไป แว่บแรกในใจคิดว่า “เอ๊ะ…ภายในรั้วนั้นคงปลูกผักกาดไว้เป็นสวนแน่ๆ” เลยกลับไปค้นหาข้อมูล จึงได้ความรู้มาว่า….
วังสวนผักกาด เป็นที่พำนักของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร (เทวกุล) โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับในช่วงสุดสัปดาห์
หอเขียนลายรดน้ำ
เรือนหลังนี้เดิมอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่า เป็นตำหนักของเจ้านาย สร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ภายหลังได้รื้อไปปลูกไว้ที่ วัดบ้านกลิ้ง อยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับ อำเภอบางปะอิน เดิมมีอยู่ด้วยกัน ๒ หลัง คือ หอไตร เป็นห้องมีระเบียงรอบ และหอเขียน เป็นศาลาไม้มีฝา ๓ ด้าน ทุกฝามีภาพลายรดน้ำประกอบเต็มทุกฝา ต่อมาเนื่องจากอาคารทรุดโทรมลงมาก ชาวบ้านจึงได้รื้อ แล้วรวมเอาไม้ปลูกขึ้นใหม่เป็นหลังเดียว แต่เนื่องจาก ภาพลายรดน้ำได้จางไปมากแล้ว การประกอบจึงไม่ได้เรียงตามลำดับเนื้อเรื่อง
ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2495 วังสวนผักกาดแห่งนี้ได้เปิดประตูต้อนรับบุคคลภายนอกให้เข้าชมความงดงามภายในวังได้ ในขณะที่ท่านเจ้าของยังคงใช้เป็นที่พำนักอยู่ หลังจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต สิ้นพระชนม์ ในปีพ.ศ.2502 หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร พระชายา ได้มอบวังสวนผักกาดให้อยู่ในความดูแลของ มูลนิธิจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ และเปิดเป็น “พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เมื่อรู้ถึงประวัติคร่าวๆดังกล่าวแล้ว จึงไม่รอช้า รีบไปยลให้เห็นกับตาตัวเองในทันใด สำหรับการเดินทางไปวังสวนผักกาดนั้นสะดวกสบาย ดั่งที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าตั้งอยู่บนถนนศรีอยุธยา เนื่องจากวังอยู่ติดริมถนนเลย จึงมองเห็นได้ง่าย อย่างไรก็ตามหากไม่อยากเสียอารมณ์เพราะการจราจรติดขัด แนะนำให้เดินทางด้วย BTS ลงสถานีพญาไท ออกทางออกที่ 4 ลงบันได เดินเลียบทางขวาตรงมาเรื่อยๆประมาณ 5 นาทีก็ถึงแล้วค่ะ
ค่าเข้าชมราคาสำหรับคนไทย 50 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท ขอฝากไว้นิดนึงค่ะ ว่าทางวังไม่อนุญาตให้นำกระเป๋าเข้าไป ต้องฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ค่ะ
พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดตั้งอยู่บนพื้นที่ 6 ไร่ ประกอบไปด้วยเรือนไทย 8 หลัง ซึ่งแต่ละเรือนจะมีทางเชื่อมเดินถึงกันได้ ดังนั้นเริ่มต้นขึ้นชมตั้งแต่เรือนหลังที่ 1ไล่ไปตามลำดับได้เลย
ในเรือนไทยแต่ละหลังจะจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ รวมถึงพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง, พิพิธภัณฑ์โขน และ ห้องศิลปนิทรรศมารศีซึ่งจัดแสดงอยู่ในศิลปาคารจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ด้วยค่ะ
เรือนไทยหลังที่ 1 จัดแสดงพระรูปของราชวงศ์ไทย ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๕ และเครื่องดนตรีไทยของทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ได้แก่ กลองโบราณขนาดใหญ่จำนวน ๖ ใบ ซอสามสาย และระนาดเอก เป็นต้น ส่วนชั้นบนนั้น มีพระพุทธรูป สมัยอู่ทองของไทย อินเดียคันธราฐ และพม่า โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ ประติมากรรมสมัยต่าง ๆ เช่น เทวรูปศิลาพระอุมา เทวรูปอรรธนารี เป็นต้น
เรือนไทยหลังที่ 2 ส่วนใหญ่เก็บเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของ เสด็จในกรมฯ และ “คุณท่าน” ด้านนอก จัดแสดงสัปคับ ตู้พระไตรปิฎก ลายรดน้ำสมัยอยุธยา บนฝาผนังติดตาลปัตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชสกุลบริพัตร งาช้างแกะสลักลายไทย พานประดับมุก ตะลุ่มประดับมุก ตลับงาช้าง เป็นต้น
ที่แขวนเปลของหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
เรือนไทยหลังที่ 3 จัดแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ได้แก่ ภาชนะเบญจรงค์ เครื่องถมเงินและถมทอง
เรือนไทยหลังที่ 4 เป็นหอพระอยู่ทางทิศตะวันตก หน้าหอพระมีบานประตูมุกสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ภายในห้องพระ มีพระพุทธรูปสำริดสมัยต่างๆ เช่น สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี และสุโขทัย และมีพระบทเกี่ยวกับพุทธประวัติ ใต้เรือนไทยหมู่นี้ คือ “ถ้ำอาลีบาบา” เป็นห้องที่เก็บรวบรวม ตัวอย่างหินสวยงามแปลกๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เรือนไทยหลังที่ 5 จัดแสดงเครื่องแก้วลายทอง เครื่องเงิน ซึ่งทูลกระหม่อมบริพัตรฯ และ เสด็จในกรมฯ ทรงสะสมไว้ นอกจากนี้ ยังมีตุ๊กตาสังคโลกดินปั้น เหรียญกษาปณ์สมัยต่างๆ ทั้งของไทย และต่างประเทศจำนวนมาก
เรือนไทยหลังที่ 6 จัดแสดงภาชนะต่างๆ ทั้งภาชนะดินเผาสมัยโบราณ เครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย เครื่องลายครามจีน และตุ๊กตาดินเผาต่างๆ เป็นต้น
เรือนไทยหลังที่ 7 จัดแสดงบริบทของโขนเรื่องรามเกียรติ์ในด้านศิลปกรรมแขนงต่างๆ ได้แก่ การแสดง จิตรกรรมประติมากรรม วรรณกรรมและวรรณคดี นำเสนอด้วย กองทัพตุ๊กตา ตอนศึกกุมภกรรณที่เคลื่อนกองทัพโรมรัน ทำสงคราม ตุ๊กตาดินปั้น หัวโขนขนาดเท่าจริง หุ่นละครเล็ก ซึ่งล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นงานหัตถกรรมของช่างไทยทั้งฝีมือชาวบ้าน
เรือนไทยหลัง 8 ชั้นบนจัดแสดงโบราณวัตถุยุคบ้านเชียง ได้แก่ ภาชนะดินเผาเขียนสี กำไลสำริด หัวขวาน ลูกปัดต่างๆ เป็นต้น ชั้นล่างของเรือนจัดแสดงตัวอย่างหิน เปลือกหอย และซากสัตว์โบราณขนาดเล็กที่อยู่ในหินฟอสซิล
ข้อควรระวัง ในการขึ้นชมเรือนนั้น ต้องถอดรองเท้า โดยทางวังได้จัดเตรียมถุงพลาสติกให้เราใส่รองเท้าหิ้วไปด้วยค่ะ และที่นี่ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปภายในแต่ละห้องนะคะ เราสามารถถ่ายรูปได้แค่บริเวณภายนอกตัวเรือนเท่านั้นค่ะ
ตึกใบหยกสูงตระหง่านมองผ่านจากภายในวังสวนผักกาด
วันหยุดสุดสัปดาห์ ในเวลาอันจำกัด ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน แวะมาเที่ยวชมความงามที่อัดแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์ซึ่งเด่นตระหง่านอยู่ใจกลางเมืองหลวงแบบนี้ก็ดีเหมือนกันนะคะ
ที่อยู่ : พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด 352-354 วังสวนผักกาด ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา : 09.00 -16.00 น.
ค่าเข้าชม : คนไทย 50 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : 0 2245 4934 , 0 2246 1775-6 ต่อ 229
วิธีเดินทาง : BTS สถานีพญาไท ใช้ทางออกที่ 4 เดินเลียบทางขวามือ ตรงไปยังถนนศรีอยุธยา ประมาณ 5 นาที
สายรถประจำทางที่ผ่าน : 14, 17, 63, 72, 74, 77, ปอ.13, ปอ.33, ปอ.72
ที่มาข้อมูล : http://www.suanpakkad.com/
ติดตาม travel.truelife.com ได้อีกช่องทางที่
ทุกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาหาร และสุขภาพ คลิกที่ http://travel.truelife.com