เยี่ยมบ้านพ่อ สวนจิตรลดา วังของกษัตริย์ผู้พอเพียง ที่สุดในโลก
เมื่อเอ่ย วัง ในความรู้สึกของใครหลายๆ คนคงนึกภาพถึงปราสาท หรือคฤหาสถ์ใหญ่โตโอ่อ่า ประดับประดาด้วยเฟอร์นิเจอร์หรูหราราคาแพง แต่หากคุณได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมวัง สวนจิตรลดา หรือชื่อเป็นทางการว่า พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ล่ะก็ จะรู้ว่าที่นี่เป็นวังที่ไม่เหมือนที่ใดในโลกแน่นอน เพราะมีทั้งโรงสีข้าว โรงงานผลิตนม บ่อเลี้ยงปลานิล ฯลฯ และโครงการอื่นๆ ที่เราไม่คิดว่าจะพบในรั้วในวัง
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณรอบพระตำหนักมีการขุดคูและทำกำแพงรั้วเหล็กโดยรอบ มีประตู 4 ทิศ พระราชทานชื่อตามสวนจิตรลดาของพระอินทร์และท้าวโลกบาล คือ พระอินทร์อยู่ชม พระยมอยู่คุ้น พระวิรุณอยู่เจน และพระกุเวรอยู่เฝ้า
วังสวนจิตรลดา นอกจากจะเป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แล้ว ยังเป็นสถานที่ทดลองโครงการทดลองส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร เป็นศูนย์วิจัยพัฒนาแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร (ที่เรารู้จักกันดีก็เช่นนมอัดเม็ด หรือน้ำผึ้งหลอดสวนจิตรนั่นเอง) และอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร และคนที่สนใจ เป็นไปตามพระราชดำริในเรื่องของ “เศรษฐกิจพอเพียง” อย่างแท้จริง
สำหรับผู้เข้าชมทั่วไปที่อยากจะเข้ามาชมหรือศึกษาดูงาน จะต้องติดต่อกับทางงานนำชมโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาก่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแจ้งรายละเอียดให้เรา ทั้งหมดนี้จะต้องนัดหมายล่วงหน้า และทำหนังสือขอเข้าชมให้เรียบร้อย เมื่อถึงวันจริงแล้ว แนะนำว่าให้นัดพบหมู่คณะกันที่วัดเบญจมบพิตรก่อน แล้วค่อยเดินมาพร้อมๆ กันไปทางประตู พระยมอยู่คุ้น จะเป็นการดีกว่า เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งทางวิทยากรจะรอรับเราอยู่แล้ว หลังจากนั้นก็จะได้เดินเยี่ยมชมไปทีละจุด จุดที่สำคัญก็ได้แก่
– โรงเลี้ยงโคนม ทั้งหมดจะเป็นวัวเพศเมียเพื่อเอาไว้รีดน้ำนมโดยเฉพาะ น้ำนมดิบที่ได้ก็จะนำไปเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตต่อไป ทั้งนมพาสเจอร์ไรส์ นมยูเอชที นมผง เนย โยเกิร์ต และที่สำคัญ นมผงอัดเม็ด ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง ซึ่งเราก็จะได้เห็นถึงขั้นตอนการทำแบบใกล้ๆ เลยทีเดียว
– นาข้าวทดลอง เป็นที่ที่ใช้ศึกษา และปรับปรุงพันธุ์ข้าวต่างๆ ข้าวจากที่นี่ยังนำไปใช้สำหรับงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันพืชมงคลอีกด้วย ข้าวที่ได้ก็จะนำต่อไปยังโรงสี นำบรรจุถุง ส่วนที่เหลือไม่ว่าจะเป็นรำ แกลบ ก็ไม่มีการทิ้งให้สูญเปล่า นำไปผสมอาหารสัตว์ รวมถึงผลิตถ่านแกลบที่มีคุณภาพดีอีกด้วย
– บ่อเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลานิล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเพาะเลี้ยงด้วยพระองค์เองด้วยจำนวนเริ่มต้น 50 ตัว ตั้งพระทัยให้ประชาชนสามารถเลี้ยงได้ เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก
– ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลม บ้านพลังงานแสงอาทิตย์
– โรงกระดาษสา
– โรงน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์ โรงผลิตภัณฑ์อบแห้งต่างๆ
– โรงเพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทอง ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสูง ที่สำคัญยังมีผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบสาหร่ายเกลียวทองที่อร่อยมาก
– โรงผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง รับน้ำผึ้งจากเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกลำไย ให้น้ำหวานรสชาติดี
– โครงการไบโอดีเซล โครงการแก๊สโซฮอล์ จากขั้นตอนการผลิตตรงนี้ยังได้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมาก ทั้งสบู่ แชมพู น้ำหอม ฯลฯ ไม่มีการทิ้งสิ่งใดอย่างสูญเปล่าเช่นกัน
ข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากโครงการส่วนพระองค์ฯ เท่านั้น ยังมีจุดน่าสนใจอีกมากมายภายในวังสวนจิตรลดา อย่างพิพิธภัณฑ์โรงช้างต้น ที่มีการจัดแสดงข้อมูลของช้างสำคัญๆ ในแต่ละรัชกาล (ซึ่งแต่ก่อนที่นี่ก็เป็นโรงเลี้ยงช้างจริงมาก่อน)
โรงหล่อเทียนหลวง สำหรับหล่อเทียนไว้ใช้ในงานพระราชพิธีต่างๆ หรือใครที่เยี่ยมชมที่นี่แล้วอยากลองซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ กลับไปลองที่บ้านก็จะได้แวะที่ร้านจัดจำหน่าย ก่อนจะออกจากวังสวนจิตรด้วย แน่นอนว่านมอัดเม็ด และนมข้นหลอดที่หายากแสนยากก็ซื้อได้ที่นี่เหมือนกัน แต่อาจมีการจำกัดจำนวนต่อท่าน แล้วแต่โควต้าในช่วงนั้นด้วย
ทุกวันนี้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดามีผู้เข้าศึกษาดูงานกันทุกเพศทุกวัย ผู้ที่สนใจอยากเข้ามาศึกษาดูงานสามารถเข้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยจะรับไม่เกินวันละ 200 คน ต้องทำการติดต่อล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน สามารถติดต่อได้ที่ งานนำชมโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา หมายเลขโทรศัพท์ 0-2282-8200 จากนั้นจึงทำหนังสือขออนุญาตมาที่ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อรอหนังสือตอบกลับ
โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
ที่ตั้ง : อยู่ในพระราชวังดุสิต แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กทม.
โทร : 0-2282-8200
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
ตามรอยพระบาท โครงการหลวง
9 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานของพ่อ เพื่อชาวไทยทุกคน
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โครงการหลวงแห่งแรก
อัพเดทที่พักสุดชิลล์ ที่เที่ยวสุดมันส์ ที่กินสุดฮิป
ติดตาม travel.trueid.net ได้ที่
และ แอปพลิเคชั่น
TrueID Application | Add friend ที่ ID : @TrueID |
---|