รวมวิธีแก้ร้องเท้ากัด ปัญหาเล็กๆ ชวนทรมาน
หนึ่งในปัญหาชวนรำคาญที่ส่งผลให้ทรมานเป็นอย่างยิ่งอย่างหนึ่งของนักเดินทาง ที่มักจะถูกมองข้าม ทำให้เวลาเกิดปัญหาขึ้นจริงๆ แล้ว กลายเป็นเรื่องใหญ่ไปเลยครับ…นั่นก็คือเรื่อง รองเท้ากัด นั่นเองครับ เชื่อว่าแทบทุกคนคงเคยลิ้มรสความเจ็บปวดจากการโดนรองเท้ากัดกันมาแล้วใช่ไหมครับ แล้วนึกภาพเวลาที่คุณกำลังเดินทาง กำลังเที่ยวอยู่ดีๆ เจ้ารองเท้าก็ดันทรยศกัดหมับเอาเข้าที่เท้าคุณ…เจ็บจนดูไม่จืดเลยทีเดียวครับ โดยเฉพาะคุณๆ ที่เป็นนักเดินทางสไตล์แบคแพค ที่มักจะจัดของไปให้น้อยที่สุดเพื่อประหยัดเนื้อที่และน้ำหนักของเป้หลัง หรือคุณๆ ที่กำลังเที่ยวอยู่ในที่ที่ไม่มีร้านขายรองเท้าสำรอง
ส่วนใหญ่ก็มักจะทู่ซี้ใส่ต่อไป แต่วันนี้ผมมีคำแนะนำมาฝาก วิธีแก้รองเท้ากัด ครับ
1. ถ้าเลือกได้ ทริปที่คุณจะไป ควรใช้รองเท้าที่เคยใส่แล้ว อย่าเลือกรองเท้าใหม่
2. แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องใช้รองเท้าใหม่ในการเดินทาง ควรเตรียมรองเท้าให้พร้อม คือทาวาสลีนหรือโลชั่นทั่วภายในรองเท้าเพื่อให้รองเท้านิ่มขึ้น
3. ถ้าจะซื้อรองเท้าใหม่ ควรไปซื้อตอนเย็นๆ เพราะเท้าถูกใช้เดินมาทั้งวัน เลือดไหลเวียนไปที่เท้าจนเท้าขยาย ถ้าคุณเลือกตอนเช้า เท้ายังไม่ขยาย อาจจะเอามาสวมอีกทีตอนเย็นแล้วรู้สึกคับ
4. ก่อนเดินทาง ควร ตับเล็บเท้าให้สั้นแล้วตะไบให้โค้งมน เล็บยาว ๆ อาจเข้าไปทิ่มในหัวรองเท้าเกิดรอยแตกจากแรงกดและทำให้นิ้วข้างเคียงเป็นแผลได้
5. ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนที่โดนรองเท้ากัดบ่อยๆ ให้เตรียมติดพลาสเตอร์ตรงด้านในรองเท้าช่วงที่ติดอยู่กับส้นเท้าเพื่อกันเอาไว้ก่อนในกรณีที่เกิดการเสียดสีมาก ๆ ก็อาจทำให้เกิดแผลพุพองได้ (ควรมีพลาสเตอร์สำรองติดไปเผื่อด้วย)
6. ใช้ตะไบขัดหนังด้าน ๆ ทางด้านนอกของนิ้วหัวแม่เท้า เพราะหนังด้าน ๆ นูน ๆ นั้นอาจทำให้เกิดแรงกด เมื่อสวมรองเท้าจนรู้สึกไม่สบายหรือทำให้นิ้วเท้าดูผิดรูปได้
7. ถ้าคุณรู้ตัวว่าเท้าส่วนไหนจะเกิดการเสียดสีกับรองเท้าก็ควรป้องกันไว้ซะก่อนด้วยการติดแผ่นกันรองเท้ากัดหรือพลาสเตอร์ไว้ในบริเวณนั้น
แต่ถ้าเกิดโชคร้าย ไม่ได้เตรียมการอะไรก่อนไปเที่ยว บังเอิ๊ญญญญ…ญ รองเท้ากัดระหว่างเที่ยว…ทำยังไงดีล่ะ?
1. ถ้ามีถุงเท้าให้เอาถุงเท้ามาใส่ ช่วยลดการเสียดสีได้เยอะ
2. ถ้าไม่มีถุงเท้าลองหาอุปกรณ์ช่วยเพื่อลดการเสียดสี แล้วเอามาทาถูๆ ตรงรองเท้าบริเวณที่มันกัด เช่น วาสลีน ออยล์ โลชั่น
3. กรณีคุณผู้ชาย หากไม่พกอุปกรณ์บำรุงผิว ถ้ามี “เทียนไข” ก็ใช้ได้ครับ เอาเทียนไขถูๆ ตรงรองเท้าบริเวณที่มันกัดคุณ ก็พอจะประทะประทังไปได้เหมือนกัน
4. แต่ถ้าเป็นรองเท้าที่ค่อนข้างขี้เหร่และไม่แพงมาก พร้อมจะสละเพื่อความสบายของเท้าได้ หาอะไรหนักๆ มาทุบให้น่วมครับ มันจะนิ่มขึ้น แล้วกัดคุณน้อยลง
5. ถ้าเป็นผ้าใบที่คุณคิดว่ายอมให้มันเสียรูปเพื่อแลกกับการเดินสบาย แนะนำให้ใส่เหยียบส้นครับ
6. แต่ถ้าใส่จนเกิดพองเป็นตุ่มน้ำ ถ้าคุณยังต้องเดินทางอีกไกล แนะให้หาเข็มสะอาดลนไฟแล้วเจาะเอาน้ำออกครับ แต่ “ห้าม” แกะออกมา ให้เจาะเอาน้ำออกให้ตุ่มน้ำยุบเฉยๆ ครับ จากนั้นเอาพลาสเตอร์แปะไว้ครับ จนถึงที่พักแล้วแกะพลาสเตอร์ออก หลังอาบน้ำอาบท่าเสร็จ หาเบตาดีนหยอด อย่าแกะหนังออกนะครับถ้าคุณต้องสวมรองเท้าแล้วเดินทางต่อ เพราะแผลมันแห้งไม่ทัน เอายาหยอดในรูที่เจาะ แล้วเปิดแผลไว้จนเช้าครับ ให้แผลแห้งให้ได้มากที่สุด แต่พอตอนเช้า ต้องสวมรองเท้าและเดินทางต่อ ให้แปะพลาสเตอร์เหมือนเดิมครับ ทำสลับไปในกรณีคุณเดินทางหลายวัน จนกว่าแผลจะแห้ง วิธีนี้จะเจ็บน้อยที่สุด ถ้าปุบปับลอกหนังออกมาเลย รุ่งขึ้นใส่รองเท้า สีไปสีมา พลาสเตอร์หลุด น้ำตาร่วงแน่ครับ
แนะนำให้เตรียมอุปกรณ์จำพวกพลาสเตอร์กับชุดทำแผลติดไปทุกครั้งทุกทริปนะครับ แล้ววาสลีนหรือโลชั่นก็ช่วยได้มากกว่าการให้ความชุ่มชื้น มีติดกระเป๋าไว้ ยังไงก็ได้ใช้ครับ
ขอให้ทริปหน้าเป็นทริปที่สนุกและเดินสบายของคุณครับ
ติดตาม travel.truelife.com อีกช่องทางที่
ทุกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาหาร และที่พัก คลิกที่ http://travel.truelife.com