5 พค. วันเด็กแห่งชาติ ของญี่ปุ่น เทศกาลโคโดโมะโนฮิ และฮินะมัตสึริ
เชื่อว่าตอนยังเด็ก เราทุกคนจะเฝ้ารอให้คุณพ่อคุณแม่ พาไปเที่ยวในวันเสาร์ที่ 2 ของทุกปี เพราะเป็นวันเด็ก จะได้เข้าไปเที่ยวเล่น ดูของที่ไม่ได้หาดูได้ทุกวัน แล้วสงสัยกันไหมครับ ว่าที่ประเทศอื่นเขามีงานวันเด็กอย่างเราหรือเปล่า วันนี้จะพาคุณไปชมภาพเทศกาลวันเด็กที่ประเทศญี่ปุ่น รับรองว่าน่าสนุกไม่แพ้กัน
ที่ญี่ปุ่นจะมีเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับเด็กๆ โดยตรง 2 เทศกาลด้วยกัน คือวันเด็กผู้ชาย(Kodomo-no-hi) วันที่ 5 พฤษภาคม และวันเด็กผู้หญิง (Hina-matsuri) วันที่ 3 มีนาคมของทุกปี แต่ของวันเด็กผู้หญิงจะไม่ใช่วันหยุดราชการ (น่าน้อยใจจริงๆ)
Kodomonohi วันเด็กผู้ชาย
เริ่มจากวันเด็กผู้ชายกัน (ปัจจุบันกลายเป็น วันเด็กแห่งชาติ แล้วรวมทั้งชาย และหญิง) สิ่งที่หลายคนเคยเห็นบ่อยๆ ในหนังสือการ์ตูนก็คือ ธงรูปปลาคาร์ฟ (Koi no bori) ที่จะถูกนำมาประดับตามบ้านในวันนี้ เพราะเชื่อว่าปลาคาร์ฟจำนวนมากต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก ว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปยังต้นน้ำเพื่อวางไข่ แต่มีปลาจำนวนน้อยนิดที่จะอดทนและแข็งแรงพอที่จะว่ายไปสู่จุดหมายปลายทางได้ ลูกผู้ชายเองก็ควรมีใจสู้ความยากลำบากในชีวิต เช่นเดียวกับปลาคาร์ฟว่ายทวนน้ำนั่นเอง
ธงปลาคาร์ฟแต่ละตัวหมายถึงจำนวนเด็กในบ้าน แต่บางบ้านก็ประดับตามจำนวนคนในบ้านทั้งหมดไล่เรียงกันมา ตั้งแต่ปลาคาร์ฟตัวพ่อที่อยู่บนสุด ตัวแม่อยู่ถัดลงมาก็จะเล็กลงมาหน่อย ที่เหลือก็หมายถึงลูกๆ ในบ้านนั่นเอง
นอกจากประดับธงปลาคาร์ฟแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือการตั้งโต๊ะบูชาตุ๊กตานักรบญี่ปุ่น (Gogatsu ningyo) ที่จะตั้งบูชาไว้ประมาณหนึ่งเดือน ก่อนหน้าวันงานในวันที่ 5 พฤษภาคม เพื่อเป็นการให้เด็กๆ ระลึกถึงนักรบผู้กล้าในอดีต เนื่องจากในยุคซามูไร เด็กอายุ 14 – 15 ปี ก็ต้องออกไปทำสงครามแล้ว
สำหรับของหวานที่จะให้เด็กๆ รับประทานกันในวันนี้ก็คือคาชิวา โมจิ (Kashiwa-mochi) โมจิไส้ถั่วแดงที่ห่อด้วยใบโอ๊ค และขนมชิมากิ (Chimaki ) เป็นขนมที่ทำมาจากข้าวเหนียว ยัดใส้ถั่วแดง และห่อด้านนอกด้วยใบไผ่ ซึ่งโอ๊คและไผ่หมายถึงความแข็งแรงและการประสบความสำเร็จในชีวิต
Hina Matsuri วันเด็กผู้หญิง
Juan Salmoral Franco / Shutterstock.com
เทศกาลวันเด็กผู้หญิงจะมีการตกแต่งตุ๊กตาญี่ปุ่นที่สวยงามหลายตัวบนชั้นวางที่ตั้งอยู่ภายในบ้าน ตามความเชื่อที่ว่าจะทำให้ลูกสาวมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุข ปกติจะมีทั้งหมด 7 ชั้น รอบๆ ชั้นประดับด้วยเครื่องบูชาต่างๆ เช่น ดอกพีช ข้าว เค้ก และเค้กที่ทำจากข้าวรูปร่างคล้ายเพชร ซึ่งเรียกว่าฮิชิโมจิ (hishimochi) รวมไปถึงสาเกขาว และจิราชิซูชิ (chirashi sushi)
ตุ๊กตาที่จะต้องนำมาวางในชั้นคือ ตุ๊กตาเจ้าชายโอไดริ-ซามะ (Odairi-sama) และเจ้าหญิงโอฮินะ-ซามะ (Ohina-sama) ซึ่งตุ๊กตาทั้งสองตัวนี้ จะถูกวางไว้บนสุดของชั้นวาง รายล้อมไปด้วยข้าราชบริพาร และเครื่องตกแต่งชิ้นเล็กๆ โดยฉากหลังของชั้นจะประดับด้วยฉากที่เป็นสีทอง ให้เหมือนกับคฤหาสน์จำลอง จำนวนตุ๊กตา จำนวนชั้น และการแต่งองค์ทรงเครื่องตุ๊กตานั้นในยุคก่อนก็เป็นสิ่งบ่งบอกฐานะเจ้าของบ้านเหมือนกัน หากเป็นชาวบ้านธรรมดาก็จะใช้วัสดุง่ายๆ เช่นไม้หรือกระดาษมาทำ หากเป็นบ้านเข้าขุนมูลนายก็จะใช้วัสดุอย่างดี ใช้ผ้าไหมมาตัดเป็นกิโมโนเต็มยศ
ทั้งสองเทศกาลนี้เริ่มทำกันมาตั้งแต่สมัยเอโดะ จนกระทั่งปี 1948 ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดให้วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเด็ก และเป็นวันหยุดราชการ จึงทำให้ชาวญี่ปุ่นมีวันหยุดติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอยู่ในช่วง Golden Week สัปดาห์ของการพักผ่อนของทุกปีนั้นเอง ทำให้ชาวญี่ปุ่นได้หยุดยาวกันตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน ซึ่งเป็นวันคล้าย วันประสูติของจกรพรรดิโชวะ ปัจจุบันเรียกว่า วันมิโดริหรือวันสีเขียว เพื่อรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ต้นไม้ ถัดมาคือวันหยุดวันที่ 3 พฤษภาคม ที่เป็นวัน รัฐธรรมนูญ ต่อมาเป็นวันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันหยุดประชาชาติ และ 5 พฤษภาคม นี้ ก็เป็นวันเด็กแห่งชาติ นั่นเอง