รีเซต

4 เทศกาลสงกรานต์ ประเทศเพื่อนบ้าน ในเอเชีย วัฒนธรรมร่วมอาเซียน

4 เทศกาลสงกรานต์ ประเทศเพื่อนบ้าน ในเอเชีย วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
แมวหง่าว
14 เมษายน 2566 ( 13:00 )
34.6K

     เข้าสู่เทศกาลแห่งความชุ่มฉ่ำกันอีกครั้ง กับงานสงกรานต์ ที่เราทุกคนเฝ้ารอคอยกันมานาน เพราะนอกจากจะได้เล่นน้ำกันให้หนำใจแล้ว ยังได้เวลากลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ พ่อแม่พี่น้องพร้อมหน้ากันอีกครั้ง ซึ่งภาพบรรยากาศแห่งความสุขเหล่านี้นอกจากในประเทศไทยแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเราเขาก็มีเล่นน้ำเหมือนกัน!

 

 

เทศกาลสงกรานต์ วัฒนธรรมร่วมแห่งอาเซียน

 

     ประเทศในกลุ่มอุษาคเนย์ที่นับถือศาสนาพุทธนั้นมีการนับวันขึ้นปีใหม่ร่วมกัน แต่เดิมจะเริ่มในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้ายตามปฎิทินจันทรคติ ก่อนจะได้รับความเชื่อมาจากประเทศอินเดีย แล้วเปลี่ยนมาเป็นวันขึ้นปีใหม่ในช่วงเดือน 5 (เดือนเมษายน) นั่นเอง ไปดูกันว่า งานสงกรานต์ใกล้บ้านจะสนุกกันขนาดไหน !

 

เทศกาลโฮลี (Holi) แห่งอินเดีย ต้นฉบับเทศกาลสงกรานต์

 

 

      เทศกาลโฮลี ของอินเดียจัดขึ้นทุกปีช่วงเดือนมีนาคม ตามตำนานเล่าว่าเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระกฤษณะในการปราบอสูรร้ายที่ชื่อว่า “โฮลิกา” ที่นี่จะใช้การสาดสีแทนการสาดน้ำอย่างที่เราคุ้นเคยกัน สีที่ใช้ก็ได้มาจากพืชสมุนไพรตามธรรมชาติที่มีสรรพคุณเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายด้วย

 

Mikadun / Shutterstock.com

 

     สุดท้ายเมื่อความเชื่อนี้เผยแพร่เข้ามาถึงภูมิภาคนี้ ก็เปลี่ยนเป็นการสาดน้ำแทน ด้วยเหตุผลที่เรารู้ๆ กันอยู่ว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศ “ร้อนนน” ที่สุดของปีนั่นเอง นับเป็นการปรับเปลี่ยนประเพณีให้เข้ากับประเทศแถบนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ ทีนี้เราไปดูกันดีกว่า ว่ามีประเทศอะไรบ้างที่เขาเล่นสงกรานต์เหมือนเรา

 

     น้ำ ยังมีความสำคัญในวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้คนแถบนี้จะมองว่าเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิต ภูมิภาคนี้มีทรัพยากรน้ำมากมาย เลยทำให้น้ำเป็นส่วนสำคัญของทั้งการเกษตร และชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น ข้าว เป็นอาหารหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และระบบชลประทานสำหรับนาข้าวจะต้องพึ่งพาน้ำเป็นหลัก และยังมีความหมายเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความสะอาด จึงมีบทบาทสำคัญในพิธีศาสนาต่างๆ ด้วย

===============

 

เทศกาลสงกรานต์ในอาเซียน

 

1. สงกรานต์ลาว

ประเพณีอันดีงามที่ยังคงรักษาไว้ของพี่น้องชาวลาว

 


      เทศกาลสงกรานต์ในประเทศลาวนั้นจัดตั้งแต่วันที่ 14-16 เมษายน หลังประเทศไทย 1 วัน ทั้ง 3 วันนี้จะมีชื่อเรียกต่างกันไป วันแรกเรียก “วันสังขารล่วง” เป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป และรับสิ่งใหม่เข้ามา วันที่สองเรียกว่า “วันเนา” วันแห่งครอบครัว เป็นวันรวมญาติเพื่อบายศรีสู่ขวัญผู้หลักผู้ใหญ่ และวันสุดท้ายเรียก “วันสังขารขึ้น” หรือวันปีใหม่ มีการบายศรีสู่ขวัญอวยพรซึ่งกันและกัน มีการสรงน้ำพระ และการแห่นางสังขาร (เทพีสงกรานต์ของประเทศลาว)

 


Surasak muangsuk / Shutterstock.com

 

      ใครอยากลองไปเที่ยวแนะนำให้ไปงานเทศกาลที่เวียงจันทร์ หรือหลวงพระบาง เพราะมีการจัดงานยิ่งใหญ่ และคับคั่งไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

===============

 

2. เทศกาลตะจาน

สงกรานต์เมียนมาร์

 

sutipond / Shutterstock.com

 

     ตะจาน หรือธินจัน (อังกฤษ: Thingyan) เป็นวัฒนธรรมของชาวพม่าแต่โบราณไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี เล่นสาดน้ำกันเหมือนกับบ้านเรา และถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินสากลด้วย โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ถึง 16 เมษายน ช่วงนี้จะเป็นการเล่นสาดน้ำต้อนรับปีใหม่ และในวันที่ 17 เมษายน จึงจะถือเป็นวันขึ้นปีใหม่

 


amnat30 / Shutterstock.com


      นอกจากการเล่นสนุกสนานแล้ว ก็ยังมีประเพณีบุญ คือ การทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล เช่น การตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป ถือศีลปฏิบัติธรรม ทำความสะอาดวัดหรือศาสนสถาน เป็นต้น

 

===============

 

3. โจลชนัมทเมย

สงกรานต์กัมพูชา

 

Vassamon Anansukkasem / Shutterstock.com

 

     โจลชนัมทเมย (อังกฤษ: Chaul Chnam Thmey) จัดขึ้นในวันที่ 13-15 หรือ 14-16 เมษายน อยู่ในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยว ที่กัมพูชาจะคล้ายๆ กับที่ไทย มีการทำบุญตักบาตร ขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ รวมถึงครอบครัวมารวมตัวกันเพื่อรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่


Vassamon Anansukkasem / Shutterstock.com

===============

 

4. สงกรานต์สิบสองปันนา

สงกรานต์ชาวไทลื้อ

 

kalapangha / Shutterstock.com

     ชาวสิบสองปันนานั้นอาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน ที่นี่จัดงานประมาณวันที่ 13-15 เมษายน จุดเด่นของสงกรานต์ที่นี่ก็คือการแข่งขันเรือมังกร และขบวนเต้นรำนกยูง ทุกๆ ปีมีนักท่องเที่ยวต่างหลั่งไหลไปเยี่ยมชมกันอย่างมากมาย เพราะที่นี่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งแวดล้อมไว้ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญบางบ้านยังพูดภาษาไทยได้ด้วย

kalapangha / Shutterstock.com


====================