รีเซต

พระนารายณ์ราชนิเวศน์ วังนารายณ์ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ที่ประทับสุดท้าย องค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระนารายณ์ราชนิเวศน์ วังนารายณ์ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ที่ประทับสุดท้าย องค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เอิงเอย
9 เมษายน 2561 ( 06:43 )
28.8K

     หากย้อนกลับไปยังสมัยกรุงศรีอยุธยาในช่วงรัชสมัยของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วนั้น ต้องบอกว่าเป็นดั่งยุคทองที่รุ่งเรืองมากๆ ทั้งด้านการค้าขาย สัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตก ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ รวมไปถึง เมืองละโว้ ที่ถูกทิ้งร้างมานานนับหลายร้อยปีก็กลับมามีความสำคัญอีกครั้ง แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองรองจากกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียวค่ะ วันนี้เราจะพาย้อนเวลา เจาะอดีต มาที่ วังนารายณ์ หรือ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี กัน เพื่อทำความรู้จักเรื่องราวความเป็นมาของที่นี่ ประวัติศาสตร์ และการชิงพระราชอำนาจของพระเพทราชา

 


      พระนารายณ์ราชนิเวศน์ หรือ วังนารายณ์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2209 เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมืองนั่นเอง นอกจากนี้พระองค์ทรงประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้ประมาณ 8-9 เดือนในช่วงปลายรัชกาลก่อนที่พระองค์จะสวรรคต

พระราชพงศาวดารกรุงสยาม บันทึกไว้ว่า
“...เมืองลพบุรีและพระนครศรีอยุธยาเป็นมหาบรมสุข สนุกมั่งคั่ง พรั่งพร้อมด้วยพลช้างพลม้า พลานิกรทวยหาญล้วนแกล้วกล้าสามารถ ปราศจากอริราชไพรีมิได้มาย่ำยีบีฑา ระอาพระเดชานุภาพกฤษฎาธิการ และโดยยุติธรรมโบราณราชบรมกษัตริย์สืบมา ฟ้าฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ธัญญาหารก็บริบูรณทั่วนิคมชนบท...”


     ภายในพระราชวังแบ่งออกเป็น 3 เขตด้วยกัน คือ เขตพระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน ซึ่งมีพระที่นั่งที่สำคัญมากมาย เช่น

     พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2209 เป็นพระที่นั่งท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกรับคณะราชทูตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

     พระที่นั่งจันทรพิศาล ตามบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า เป็นหอประชุมองคมนตรีสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2401 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นใหม่บริเวณที่เดิมเป็นพระที่นั่งสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ใช้เป็นท้องพระโรงด้านหน้ามีมุขเด็จสำหรับออกให้ข้าราชการเฝ้า

     พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน เป็นพระที่นั่งที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระองค์ทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ด้วย


     ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา และฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ บันทึกเหตุการณ์สวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไว้ว่า

     “พระปีย์คนนี้เป็นบุตรขุนไกรสิทธิศักดิ์ชาวบ้านแก่น ทรงพระกรุณาเอามาเลี้ยงไว้ในพระราชวังแต่ยังเยาว์ ให้มีนางนมพี่เลี้ยงประดุจลูกหลวง และพระปีย์มีพรรณสัณฐานต่ำเตี้ย ทรงพระกรุณาเรียกว่า อ้ายเตี้ย และพระปีย์กอรปด้วยสวามิภักดิ์นอนอยู่ปลายฝ่าพระบาท คอยปฏิบัติพยุงพระองค์ลุกนั่งอยู่

      ครั้นรุ่งเพลาเช้าพระปีย์ลุกออกมาบ้วนปากล้างหน้า ณ ประตูกำแพงแก้ว จึงหลวงสรศักดิ์ผู้สำเร็จราชการ ณ ที่มหาอุปราชสั่งให้ขุนพิพิธรักษาชาวที่ผลักพระปีย์ตกลงไปจากประตูกำแพงแก้ว และพระปีย์ร้องขึ้นได้คำเดียวว่า ทูลกระหม่อมแก้วช่วยด้วย พอขาดคำลง คนทั้งหลายก็กุมเอาตัวพระปีย์ไปประหารชีวิตตาย


      ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังเรื่องพระปีย์ร้องขึ้นมาดังนั้น ก็ตกพระทัย ความอาลัยในพระปีย์ ดำรัสว่า ใครทำอะไรกับอ้ายเตี้ยเล่า และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สวรรคตในเพลาวันนั้น เป็นวันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๓ ค่ำ ศักราช ๑๐๔๔ ปีจอ จัตวาศก”

       สาเหตุสวรรคตในที่นี้จึงเกิดจากความ “ตกพระทัย ความอาลัยในพระปีย์” ทำให้พระอาการประชวรทรุดลงและสวรรคต ซึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงให้เชิงอรรถเกี่ยวกับวันสวรรคตว่า

      “ปีที่สมเด็จพระนารายณ์สวรรคต ตามที่จดไว้ในหนังสือพงศาวดารนี้ผิด ที่จริงอีก ๖ ปี จึงสวรรคตเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๐๕๐ ตรงกับวันที่ ๑๑ กรกฎาคม คริสตศักราช ๑๖๘๗”

        วันที่สวรรคตเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า คือวันที่ ๑๑ กรกฎาคม และปีสวรรคตที่ถูกต้อง คือคริสต์ศักราช ๑๖๘๘ (พ.ศ. ๒๒๓๑) ส่วนเวลานั้นจะเห็นได้ว่ายังมีต่างๆ กันไป


     นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลของ การชิงพระราชอำนาจโดยพระเพทราชา ซึ่งมี “คำให้การ” ว่า “มีการผสมยาพิษลงในพระโอสถที่ถวายพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีส่วนอย่างยิ่งในการเร่งให้สวรรคต” เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเริ่มพระอาการประชวรประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ต่อมาไม่สามารถว่าราชการได้ ออกพระเพทราชาเริ่มมีบทบาทในการว่าราชการ และออกญาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ถูกกีดกันให้เข้าเฝ้าได้น้อยลง

      ออกพระเพทราชา และออกหลวงสรศักดิ์ออกอุบายเข้าพวกกับทั้งออกพระปีย์และพระอนุชาทั้งสองพระองค์โดยสัญญาว่าจะสนับสนุนให้ขึ้นครองราชย์หลังพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ต่อมาออกพระปีย์รู้ว่าถูกหลอกลวงจึงเข้าสารภาพต่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์รู้ว่าความแตกจึงเข้ายึดวังในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม


      พระปีย์ถูกจับและถูกประหารชีวิตเป็นคนแรก ออกพระฤทธิกำแหงหรือออกญาวิชาเยนทร์ถูกจับกุมและทรมานอยู่ระยะหนึ่งแล้วจึงถูกประหารชีวิตวันที่ ๕ มิถุนายน จากนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสิ้นพระชนม์วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ต่อมาพระอนุชาทั้งสองพระองค์ถูกหลอกให้ออกจากอยุธยามาละโว้และถูกจับประหารชีวิต เมื่อกำจัดเชื้อพระวงศ์แล้วพระเพทราชาขึ้นครองราชสมบัติ

      ยังมีหนังสือหลายเล่ม รวมถึงพงศาวดารฉบับอื่นๆ ทั้ง พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) หนังสือภาษาอังกฤษชื่อ Witnesses to a Revolution : Siam 1688 แปลได้ว่า “พยานในเหตุการณ์ปฏิวัติแห่งกรุงสยาม ค.ศ. ๑๖๘๘” และอื่นๆ ที่บันทึกเรื่องราวครั้งนี้แตกต่างกันไป แต่เรื่องราวในประวัติศาสตร์นั้น แท้จริงเป็นอย่างไร คงไม่สามารถระบุเหตุที่แน่ชัดได้


     ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระนารายณ์ราชนิเวศน์ถูกทิ้งร้าง จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์โปรดให้บูรณะพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2399 และพระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์"

      นอกจากนี้ยังมีอาคารสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่เขตพระราชฐานชั้นนอก ที่น่าสนใจมากมาย ทั้ง อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก หมู่ตึกพระคลังศุภรัตน์ หรือหมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง ตึกพระเจ้าเหา ตึกเลี้ยงต้อนรับแขกเมือง และโรงช้างหลวง ซึ่งปัจจุบันก็ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมความสวยงาม และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ รวมถึงมีพิพิธภัณฑ์รวบรวมของเก่าต่างๆ ที่ขุดค้นพบอยู่ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์

 

 

ที่เที่ยวลพบุรี ที่น่าสนใจอื่นๆ

นั่งรถไฟเที่ยว ลพบุรี กับ 7 ที่เที่ยว เมืองละโว้
แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์

บุกบ้าน ฟอลคอน บ้านวิชาเยนทร์ ลพบุรี
บ้านหลวงรับราชทูตแห่งกรุงศรีอยุธยา

 

 

อัพเดทที่พักสุดชิลล์ ที่เที่ยวสุดมันส์ ที่กินสุดฮิป

ติดตาม travel.trueid.net ได้ที่

Facebook
Add friend ที่ ID : @TrueID

และ แอปพลิเคชั่น

TrueID Application