Tower of Silence สถานที่ทำพิธีศพศาสนาโซโรอัสเตอร์ จักรวรรดิเปอร์เซีย
ถึงยามที่คนในครอบครัวเราจากไป ส่วนใหญ่ก็คงจะประกอบพิธีกรรมให้เรียบร้อยเป็นการร่ำลาครั้งสุดท้าย ส่วนจะวิธีไหนก็ตามแต่วัฒนธรรม หรือความเชื่อของที่นั้นๆ ครั้งนี้เราจะพาไปรู้จักกับสถานที่จัดพิธีศพอีกวิธีหนึ่งในประเทศอินเดีย และอิหร่าน (ในอดีต) ที่ปล่อยให้ธรรมชาติเป็นผู้จัดการกับ "ร่าง" ไปเอง นั่นคือการนำไปที่ หอคอยแห่งความเงียบ (Tower of Silence) สถานที่ทิ้งศพคนตาย ที่เต็มไปด้วยซากมากมายหลายร้อยร่าง จนไม่มีใครอยากเข้าไปในนั้น
เรื่องราวใกล้เคียงกันนี้ก็มีในอินโดนีเซียเหมือนกัน ลองเข้าไปอ่านได้ก่อนที่ > หมู่บ้านผีซอมบี้ มีอยู่จริงที่อินโดนีเซีย ใจไม่กล้าพออย่าดูคนเดียว
ศาสนา โซโรอัสเตอร์ ที่มาของ Tower of Silence
ศาสนาโซโรอัสเตอร์นั้น จะเรียกว่าเป็นศาสนาโบราณเลยก็ไม่ผิดนัก เริ่มต้นในประเทศอิหร่าน ประมาณ 117 ปีก่อนพุทธศักราช นับถือพระเจ้าสูงสุดเพียงพระองค์เดียว โดยพระองค์สามารถแบ่งเป็น 2 ภาคได้ คือพระเจ้าแห่งความดีงาม อาหุระ มาซดะ (Ahura mazda) และพระเจ้าแห่งความชั่วร้าย อังกระ มันยุ (Angra Mainyu) จึงมาพร้อมความเชื่อว่าทุกสิ่งบนโลกนี้ย่อมมีคู่ตรงข้ามเสมอ เช่น ความดี-ความชั่ว ดำ-ขาว สว่าง-มืด เป็นต้น
M Selcuk Oner / Shutterstock.com
โซโรอัสเตอร์เป็นศาสนาสำคัญของจักรวรรดิเปอร์เซียมานาน บางครั้งผู้คนจะเรียกศาสนานี้ว่า ศาสนาบูชาไฟ เพราะพวกเขาจะจุดไฟให้ติดไว้ตลอดเวลาไม่ให้ดับ ด้วยความที่ไฟเป็นสัญลักษณ์แห่งความสว่าง ความสะอาด ความรู้ และความดี กระทั่งกลุ่มชาวเปอร์เซียที่นับถือศาสนานี้อพยพเข้ามายังอินเดีย จึงนำแนวความเชื่อนี้ติดเข้ามาด้วย และถูกเรียกว่าชาว "ปาร์ซี" แทน ซึ่งพวกเขาก็เข้ามาใช้ชีวิต และปรับตัวจนเข้ากับสังคมอินเดียมาอย่างยาวนาน
ที่มาของพิธีศพ
ตามธรรมเนียมของชาวปาร์ซีแล้ว เมื่อมีคนตายจะไม่เผาศพ ไม่ฝังสู่ผืนดิน และไม่นำไปลอยน้ำ เพราะถือว่าทั้ง 3 อย่าง คือแผ่นดิน น้ำ และไฟมีความบริสุทธิ์ จะทำให้เป็นมลทินโดยคนตายไม่ได้ และการปล่อยศพไว้นานๆ ก็จะทำให้ศพถูกวิญญาณร้าย หรือ แนซูแดวา เข้าสิงสู่ และทำให้ทุกสิ่งที่มันเข้าไปสิงปนเปื้อน จึงต้องสร้างสถานที่เฉพาะขึ้นมา เรียกว่า "แดฆแมฮ์" (dakhma) หรือ "หอคอยแห่งความเงียบ" ขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ทำพิธีศพตามความเชื่อ คือปล่อยให้นกแร้ง นกกา และสัตว์ย่อยสลายซากอื่นๆ มาจิกกินจนเหลือเพียงโครงกระดูก
โครงสร้าง และลักษณะของแดฆแมฮ์
หอคอยแห่งความเงียบนั้นถูกสร้างขึ้นเป็นวงกลมคล้ายอัฒจรรย์ สูงขึ้นจากพื้นราวๆ 5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางราว 92 เมตร มีทางเข้า-ออกทางเดียว และให้เข้าเฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ภายในแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 วงแหวน วงแหวนนอกสุดไว้วางศพผู้ชาย วงแหวนตรงกลางไว้วางศพผู้หญิง วงแหวนชั้นในสุดไว้วางศพเด็ก เมื่อนำศพไปไว้ในบริเวณนั้นแล้ว จะต้องถอดเสื้อผ้าศพออกแล้วนำไปทำลาย
เมื่อแร้งกา และหนอนแมลงจัดการศพจนเหลือเพียงกระดูกแล้ว กระดูกก็จะถูกนำมาทิ้งกองรวมกันในบริเวณพื้นที่ตรงกลางแดฆแมฮ์ ที่เรียกว่า "บันดาร์" ปล่อยให้ตากแดด และลมกระทั่งแห้งสนิท ก็จะถูกนำไปทิ้งลงในช่องที่มีอยู่ทั้ง 4 ด้านในแดฆแมฮ์ ในนั้นจะมีทรายหินละเอียดไว้กรองความสกปรก เมื่อฝนตกลงมากระดูกเหล่านี้ก็จะเน่าเปื่อย และถูกชะล้างผสมกับดินนอกหอคอยเป็นอันจบสิ้นกระบวนการ
หอคอยแห่งความเงียบที่มุมไบ ประเทศอินเดีย
สำหรับแดฆแมฮ์ที่ยังคงสภาพดีอยู่จนถึงปัจจุบัน ก็คือที่ มาลาบาร์ ฮิลล์ ที่สร้างขึ้นช่วงศตวรรษที่ 20 ชาวปาร์ซีใช้งานที่นี่มากว่า 300 ปีแล้ว แม้ปัจจุบันจำนวนชาวปาร์ซีที่ทำพิธีศพที่นี่จะน้อยลงไปมาก แต่นกแร้งมีน้อยลงเช่นกัน นั่นจึงเกิดปัญหาว่าอาจต้องใช้เวลานานถึง 8 สัปดาห์กว่าที่นกจะจัดการศพได้หมด (แต่ก่อนเพียงชั่วโมงเดียว) สาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของเมือง และร่างกายมนุษย์ที่มีการตกค้างของยาลดอัดเสบซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวนกแร้ง
By PP Yoonus, CC BY-SA 3.0
ปัจจุบันทางการอินเดียก็พยายามยามเข้ามาดูแล วางแผนเพาะพันธุ์นกแร้งเพื่อให้พวกมันกลับมาทำหน้าที่เหมือนเดิม และเพื่อป้องกันโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นหากศพถูกทิ้งไว้นานเกิน ซึ่งเมื่อก่อนที่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นอยู่ห่างไกลชุมชนมาก และยังไม่เป็นปัญหาเท่าทุกวันนี้
Tower of Silence ในที่อื่นๆ
By Diego Delso, CC BY-SA 4.0
สำหรับหอคอยแห่งความเงียบที่มีชื่อเสียงที่สุด และเก่าแก่ที่สุดในโลก จะอยู่ที่เมือง Yazd ประเทศอิหร่าน ซึ่งที่นี่ก็ถูกทิ้งร้างไปนานแล้ว เพราะทางการออกกฎหมายห้ามใช้งานมาในปี 1970 ด้วยเหตุผลด้านสุขอนามัยนั่นเอง ซึ่งทุกวันนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินขึ้นไปชมโบราณสถานแห่งนี้ได้อยู่
Yazd Tower of Silence
- ที่ตั้ง : Yazd Province, Yazd, بلوار شهیدان اشرف, Iran
- พิกัด : https://goo.gl/maps/oDJPera66VpbAZcy9
===============