รีเซต

เที่ยวหน้าหนาว 15 โครงการหลวง ตามรอยพระบาท เส้นทางของพ่อ

เที่ยวหน้าหนาว 15 โครงการหลวง ตามรอยพระบาท เส้นทางของพ่อ
aichan
3 ธันวาคม 2562 ( 14:00 )
86.2K
4

       โครงการหลวง เป็นหนึ่งในโครงการในพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ค่ะ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 เพื่อช่วยเหลือชาวเขาให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น และนอกจากความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทยเราแล้ว โครงการหลวง ยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่นักท่องเที่ยวนิมยมมาชมความสยงามของธรรมชาติ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงการเกษตรอีกด้วย 

 

เที่ยวหน้าหนาว โครงการหลวง

 

      การท่องเที่ยวในพื้นที่ศูนย์พัฒนาและสถานีวิจัยโครงการหลวง สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ นักท่องเที่ยวจะได้เห็นงานทางด้านส่งเสริมการเกษตรที่สูง ที่ในหลวง ร.9 ได้ทรงวางรากฐานเอาไว้จนประสบความสำเร็จ ได้เรียนรู้และเห็นการทำงานวิจัยของนักวิจัย และเจ้าหน้าที่โครงการหลวงในการ ค้นคว้า พันธุ์ผักและผลไม้ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกในพื้นที่ ได้เห็นและเรียนรู้การพัฒนาส่งเสริมของชาวเขาทำการเพาะปลูกพืชใหม่ๆ ที่สามารถสร้างรายได้ตลอดจนได้เห็นแปลงปลูกพืชผักและผลไม้เมืองหนาวนับร้อยชนิด รวมถึงไม้ดอกที่สวยงามหลากพันธุ์หลากสีสัน

      นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังจะได้สัมผัสกับธรรมชาติที่สวยงามของป่าไม้ ป่าต้นน้ำลำธารที่ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ ทั้งป่าธรรมชาติและป่าที่ได้รับการฟื้นฟูสภาพที่ปลูกขึ้นมาใหม่อย่างอุดมสมบูรณ์ จนปัจจุบันไม่เห็นร่องรอยของป่าเสื่อมโทรมอีกต่อไป

========x========

 

01

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

 

 เที่ยวหน้าหนาว อ่างขาง

 

         สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง” มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้ และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย จากเดิมที่เป็นดอยหัวโล้นแปรสภาพเป็นขุนเขาแห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการวิจัยและพัฒนา พันธุ์ไม้ผลกว่า 12 ชนิด ผักเมืองหนาวกว่า 60 ชนิด และดอกไม้เมืองหนาวกว่า 20 ชนิด

 

Stella_E / Shutterstock.com.JPG

 

       สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีพื้นที่สำหรับวิจัย ทดสอบพันธุ์พืชเขตหนาวจำนวน 1,800 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร มีหมูบ้านชาวเขาบริเวณรอบสถานีฯ เป็นเขตส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวม 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านขอบด้ง บ้านนอแล บ้านหลวง บ้านปางม้า บ้านป่าคา บ้านคุ้ม บ้านผาแดง บ้านถ้ำง๊อบ และบ้านสินชัย  เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าจีนยูนาน ไทใหญ่ มูเซอดำ และปะหล่อง

      ที่นี่มีสภาพภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ย 17.7 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32 องศา ในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุด -3 องศา ในเดือนมกราคมค่ะ

 

ที่เที่ยวในโครงการหลวง

 

 

  • สวนแปดสิบ สวนกลางแจ้งตรงข้ามสโมสรอ่างขางเป็นสวนตกแต่งสวนสไตล์อังกฤษมีดอกไม้ ไม้ประดับปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี ด้านบนยังเป็นลานต้นซากุระญี่ปุ่นจะบานช่วงเดือน ธันวาคม-มกราคม
  • สวนหอม เป็นสวนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ที่มีกลิ่นหอมทั้งในและต่างประเทศ เช่น ต้นหอมหมื่นลี้ มะลิเนปาล ลาเวนเดอร์ ถ้าเดินผ่านสวนจะรู้สึกได้กลิ่นหอมจากพรรณไม้ในสวน

  • สวนบอนไซอ่างขาง จัดแสดงพันธุ์ไม้หลากชนิดยุคแรกเริ่มก่อตั้งสถานีในรูปแบบการปลูกเลี้ยงในกระถางแบบบอนไซ นอกจากนี้ยังมีพืชทนแล้ง พืชกินแมลง และสวนหินธรรมชาติจุดชมวิวภายในสถานี

  • โรงเรือนดอกไม้ เป็นการจัดสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวภายในโรงเรือนมีมุมน้ำตก มุมนั่งเล่นพักผ่อน

  • โรงเรือนกุหลาบตัดดอก รวบรวมกุหลาบชนิดตัดดอกสายพันธุ์ต่าง ๆ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ติดกับโรงเรือนเป็นร้านค้าของที่ระลึก จำหน่ายสินค้าของโครงการหลวงและชุมชน

  • โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผัก จัดตกแต่งด้วยผักเมืองหนาวหลายชนิด พืชสุมนไพรของโครงการหลวงให้ได้ชม

  • แปลงบ๊วย ต้นบ๊วยที่นี่ปลูกตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งโครงการหลวงปัจจุบันแตกกิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาเย็นสบาย นอกจากนี้ยังมีแปลงไม้ผลตามฤดูกาล ภายในสถานีฯ อ่างขางมีแปลงไม้ผลเมืองหนาวหลายอย่างให้ได้ชมตลอดทั้งปี เช่น พี้ช พลับ สาลี กีวี่

 

 

จุดท่องเที่ยวชุมชน

 

  • หมู่บ้านนอแล เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่อง (ดาราอั้ง) ตั้งอยู่ติดกับชายแดนพม่า มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการแต่งการ งานหัตถกรรม สวยงามแปลกตา งานปีใหม่ปะหล่องเดือนเมษายน มีการแสดงฟ้อนนางร้อยเงิน ฟ้อนดาบ

  • หมู่บ้านขอบด้ง เป็นชนเผ่าลาหู่ (มูเซอ) มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีการถักหญ้าอิบูแค เป็นกำไรสีสันสวยงาม ให้นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของฝาก

  • ชุมชนชาวจีนยูนนาน ที่บ้านคุ้ม บ้านหลวง บ้านปางม้า มีร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว ชา สมุนไพร ผลไม้แห้ง เป็นต้น

 

กิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ

  • ปั่นจักรยานชมธรรมชาติ สถานีฯ อ่างขางมีบริการจักรยานเช่าติดต่อได้ที่สโมสรอ่างขาง ปั่นชมแปลงเกษตรภายในสถานี

  • ขี่ล่อชมธรรมชาติ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีการจัดกลุ่มชาวบ้านนำฬ่อมาให้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้ขี่ชมสถานที่บริเวณแปลงต่าง ๆ ผู้สนใจสามารถติดต่อเช่าขี่ฬ่อได้ที่สถานีฯ อ่างขาง

  • เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เส้นทางเดินในแปลงปลูกป่าของสถานีฯ ซึ่งเป็นไม้ที่นำเข้ามาจากประเทศไต้หวัน นักท่องเที่ยวสนใจเดินในเส้นทางของสถานีฯ อ่างขาง สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้ข้อมูลก่อนการเที่ยวชมได้

  • การดูนก ดอยอ่างขางเป็นสถานที่ดูนกที่มีนกหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่จะมีนกอพยพหาดูยากมายังบริเวณสถานีฯ อ่างขางรวมถึงพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งชมรม “ฅนรักษ์นกอ่างขาง” โดยสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีข้อมูลไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจดูนกที่อ่างขาง


ดูรีวิวเต็มๆ ได้ที่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โครงการหลวงแห่งแรกจากพ่อหลวง

========x========

 

02

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์

 

 

       ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึง การทำไร่เลื่อยลอย การปลูกฝิ่นและการตัดไม้ทำลายป่า ตลอดจนป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ต้นน้ำลำธาร ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 มูลนิธิโครงการหลวงได้จัดตั้ง “สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์” บนพื้นที่ 150 ไร่ ขึ้นค่ะ ซึ่งที่นี่จะเป็นสถานีวิจัยอีกแห่งหนึ่งของมูลนิธิโครงการหลวง ที่ดำเนินงานด้านวิจัยค้นคว้าข้อมูล เป็นแนวทางส่งเสริมอาชีพเป็นรายได้ของครอบครัวเกษตรกรนั่นเอง

       สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ มีลักษณะพื้นที่เป็นหุบเขาลาดชัน โดยแนวเขาที่ทอดไปในแนวเขาสันปันน้ำเป็นได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองทิศทาง คือทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซึ่งด้านตะวันออกได้ผันน้ำลงสู่แม่น้ำปิง และด้านตะวันตกได้ผันน้ำลงสู่แม่น้ำแจ่ม อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1, 300 เมตร มีอุณหภูมิเฉลี่ย 21 องศาเซลเซียส

 

ที่เที่ยวภายในโครงการหลวง

 

 

  • สวน 80 พรรษา ซึ่งจัดในปี พ.ศ.2550 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษา และเป็นสถานที่จัดแสดงขึ้นเพื่อรองรับการศึกษาดูงานของผู้มีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับพรรณไม้ดอกเมืองหนาว โดยพรรณไม้ที่อยู่ในสวนเป็นการนำพรรณไม้ดอก ไม้ยืนต้น ที่ได้จากงานวิจัยของนักวิชาการ ที่นำออกมาสาธิต ในรูปแบบของการจัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม ภายในสวนตกแต่งด้วยไม้ดอกเมืองหนาวนานาชนิด

  • สวนหลวงสิริภูมิ เป็นสวนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์เฟิน ภายในมีน้ำตกขนาดเล็กซึ่งเป็นน้ำตกชั้นล่างของน้ำตกสิริภูมิ มีลำธารไหลไปตามบริเวณสวนตลอดปี เป็นแหล่งเก็บรวมรวมเฟินทั้งของไทยและต่างประเทศ ประมาณ 30 สกุล 50 ชนิด จุดเด่นภายในสวน คือ กูดต้น หรือ ทรีเฟิน (Tree Fern) เป็นเฟินขนาดใหญ่และมีลำต้นสูงร่วม 10 เมตร ซึ่งมีประมาณกว่า 10 ชนิด

  • โรงเรือนจัดแสดงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ จัดแสดงดอกไม้ ไม้ประดับชนิดต่างๆ ที่หมุนเวียนไปตามฤดูกาล อาทิเช่น กุหลาบหิน รองเท้านารี ซิมบิเดี้ยม

  • สวนกุหลาบพันปี เป็นสวนที่เกิดจากการศึกษาและขยายพันธุ์กุหลาบพันปีพืชในสกุล Rhododendron จากแหล่งต่างๆ ที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ตามพื้นที่สูง ทั้งในและต่างประเทศเช่น พม่า มาเลเซีย ทิเบต ภายในสวนประกอบไปด้วย กุหลาบพันปีจำนวน 3 สายพันธุ์ คือ Rhododendron, Azalea และ Vireyas

  • โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงเฟิร์น ซึ่งรวบรวมเฟิร์นที่หายากชนิดต่าง ๆ ไว้มากมายหลายชนิด ทั้งของไทย และต่างประเทศ ซึ่งบางชนิดใกล้สูญพันธุ์แล้วเป็นโรงจัดแสดงเฟิร์นที่มีความสำคัญทางด้านพืชสวนและเศรษฐกิจ ซึ่งมีประมาณ 50 สกุล 200 กว่าชนิด และยังมีเฟิร์นรัศมีโชติ ซึ่งเป็นเฟิร์นประจำถิ่นของพื้นที่ ที่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร

  • โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงพืชกินสัตว์ รวบรวมพืชกินสัตว์หรือพืชกินแมลง เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง, พิงกุย ชนิดต่าง ๆ ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศบนพื้นที่สูง

  • โรงเรือนผักไฮโดรโพนิกส์ (Hydroponics) รวบรวมผักเมืองหนาวประเภทสลัด ปลูกโดยวิธีไร้ดิน เน้นผักสลัด 5 ชนิด ของโครงการหลวง อาทิ ผักกาดหวาน กรีนโอ๊ค เรโอ๊ค บัตเตอร์เฮด ฟิลเล่ย์ไอส์เบริ์ก

  • หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง เป็นหน่วยย่อยของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้ดำเนินงานวิจัยพัฒนาและพัฒนาพันธุ์พืชเมืองหนาว ทำให้มีคณะเข้ามาศึกษาดูงานวิจัย ซึ่งได้มีการวิจัยและพัฒนาขึ้น ได้แก่

  • งานวิจัยและสาธิตการผลิตไม้ดอก ได้แก่ กุหลาบ เดเลีย หน้าวัว เจอบีร่า

  • งานวิจัยและสาธิตการผลิตไม้ผลขนาดเล็ก ได้แก่ สตอเบอรี่ ราสพ์เบอรี่ มัลเบอรี่ องุ่น

  • งานวิจัยและสาธิตการผลิตไม้ผลเขตหนาว ได้แก่ พี้ช พลับ อาโวคาโด กีวี่ฟรุ๊ต

 

จุดท่องเที่ยวชุมชน

 

Mont592 / Shutterstock.com

 

  • บ้านแม่กลางหลวง ชุมชนปกาเกอญอที่มีวิถีชีวิต สมถะเรียบง่าย ท่ามกลางธรรมชาติ มีกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ศึกษาดูนก ประจำถิ่นในเส้นทางเดินป่าดอยหัวเสือ เส้นทางดูนกห้วยน้ำขุ่น และเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผาดอก นักท่องเที่ยวนิยมมาชมความสวยงามของนาข้าวขั้นบันได การทำนาข้าวจะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ เดือน ก.ย.-กลางเดือน ต.ค .ช่วงหน้าฝนต้นข้าวจะเริ่มเขียว เคล้าสายหมอกบางๆ ในฤดูฝน ปลายเดือน ต.ค.-ต้นเดือน พ.ย. เป็นช่วงที่ต้นข้าวออกรวงเป็นสีทองเต็มท้องทุ่งเหลืองอร่าม

  • บ้านหนองหล่ม ชุมชนชาวปกาเกอญอที่นี่มีต้นกาแฟประวัติศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2517 ในหลวงเสด็จพระดำเนินด้วยพระบาทเป็นชั่วโมง เพื่อทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียง 2-3 ต้น ทรงมีรับสั่งเองว่าการที่เสด็จไปทำให้ชาวเขานั้นเห็นว่ากาแฟนั้นสำคัญ จึงสนใจปลูก ปัจจุบันบนดอยมีกาแฟมากมายก็เริ่มจากกาแฟ 2-3 ต้นนั่นเอง

 

กิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ

  • เส้นทางเดินชมธรรมชาติสวนบริเวณในสถานีฯ และนักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นชมรอบๆ สถานีและในหมู่บ้านได้

========x========

 

03

ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงหนองหอย

 

 

      ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงหนองหอย ตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำแม่แรมและแม่สา มีพื้นที่ 21.17 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 13,231 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 6 หมู่บ้าน คือ ชาวเขาเผ่าม้ง เผ่าลีซอ คนพื้นเมืองและจีนยูนนาน ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ค่ะ

 

ที่เที่ยวภายในโครงการหลวง

 

 

  • ม่อนแจ่ม เป็นจุดชมวิวบนสันเขาสามารถมองวิวภูเขาได้ 360 องศา สามารถชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและตก ทะเลหมอกช่วงฤดูหนาว มีบริการร้านอาหาร มุมนั่งจิบกาแฟ และชาสมุนไพรสด 7 ชนิด ด้านหน้าทางเข้าม่อนแจ่มมีร้านค้าของที่ระลึกชุมชนจำหน่ายสินค้าผลผลิตตามฤดูกาล งานหัตถกรรมชาวเขา และรถล้อเลื่อนไม้ (ฟอมูล่าม้ง)ให้นักท่องเที่ยวได้ลองขับ

  • สถานีวิจัยพัฒนาพืชผักโครงการหลวง มีผักหลากหลายชนิดหมุนเวียนปลูกตามฤดูกาลเพื่อทำงานวิจัยเก็บข้อมูล เช่น อาติโช๊ค เรดโอ๊ค มะเขือเทศโครงการหลวง พืชสุมนไพร และผักไฮโดรโพนิคส์ปลูกโดยไม่ใช้ดิน

  • แปลงผักแบบขั้นบันได เนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขาลาดชัน ชาวบ้านก็เลยทำแปลงผักแบบขั้นบันไดเพื่อให้ง่ายกับการปลูกผัก ช่วงที่สวยที่สุดจะเป็นกลางฤดูฝนจนถึงกลางฤดูหนาว (สิงหาคม-ธันวาคม) มีผักหลากชนิด เช่น ผักกาดหอมห่อ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี

 

จุดท่องเที่ยวชุมช

 

Jula Store / Shutterstock.com

 

  • ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้ง ที่ยังมีการปักผ้าลวดลายต่างๆ มีการละเล่นต่างๆ เช่น การเป่าแคน โยนลูกช่วง ยิงหน้าไม้ ลูกข่างม้ง แข่งล้อเลื่อนไม้ ช่วงเทศกาลงานปีใหม่ม้งจัดช่วงเดือน ธันวาคม-มกราคม ชาวบ้านจะแต่งกายชุดประจำเผ่าสวยงามมาร่วมกิจกรรม บริเวณลานหมู่บ้าน

  • จุดชมวิวดอยม่อนล่อง มีลักษณะเป็นหน้าผามองไปไกลๆจะเห็นถึงเมืองลำพูนเป็นที่ตั้งของศาลขุนหลวงวิลังคะตามตำนาน

  • แปลงสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน (ออกผลผลิตช่วง ธันวาคม-มีนาคม ) มีหลากหลายแปลงให้นักท่องเที่ยวได้สนุกเพลิดเพลินกับการเก็บ-ชิม สตรอเบอรี่สดๆ ตลอดจนมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสตรอเบอรี่จำหน่าย เช่น น้ำสตรอเอบรี่ สตรอเบอรี่อบแห้ง

  • สวนอีเดน ตั้งอยู่ซ้ายมือก่อนถึงม่อนแจ่ม 1.5 กิโลเมตร เป็นสวนองุ่นไร้เมล็ดของเกษตรกรที่ปลูกในโรงเรือนมีกิจกรรมให้เก็บองุ่นเอง และจำหน่ายองุ่นสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากองุ่น เช่น น้ำองุ่นสด องุ่นอบแห้ง

========x========

 

04

ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงขุนวาง

 

 

       โครงการหลวงขุนวาง ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่มีสภาพพื้นที่ของโครงการส่วนใหญ่ล้อมด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน 29,178 ไร่ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,300–1,400 เมตร มีแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านคือ แม่น้ำขุนวาง ในพื้นที่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง รวมทั้งสิ้น 7 หมู่บ้าน

 

ที่เที่ยวภายในโครงการหลวง

 

 

  • ชมโรงเรือนปลูกดอกเบญจมาศหลากสีสัน ทั้งแบบดอกเดี่ยว ดอกช่อ และดอกลิเซียทัส คาร์เนชั่น ลิลลี่

  • ชมแปลงปลูกชาจีนเบอร์ 12 พันธุ์หยวนจืออู่หลง ดูขั้นตอนการผลิตชาพร้อมชิมชา (ขั้นตอนการผลิตชาอยู่ในโรงผลิตชาซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านขุนแม่วาก)

  • ชมแปลงไม้ผล เช่น องุ่นไร้เมล็ด กีวีฟรู้ท พี้ช พลับ เครปกูสเบอรี่ เสาวรสหวาน สตรอเบอรี่ และบ๊วย

  • ชมแปลงปลูกผักเมืองหนาว เช่น มะเขือเทศดอยคำ บล๊อกโคโลนี ถั่วหวาน ผักกาดหวาน บล๊อคโคลี่ หอมญี่ปุ่น ฯลฯ

  • ชมโรงเรือนสาธิตการปลูกวานิลลา ออกฝักพร้อมเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคม โรงเรือนเห็ดเมืองหนาว เช่น เห็ดโพโตเบลโล เห็ดแชมปิญอง

 

จุดท่องเที่ยวชุมชน

 

amornchaijj / Shutterstock.com

 

  • ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ระยะทาง 2 กม. ชมดอกไม้และพืชผักเมืองหนาว และชมดอกพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งช่วงเดือน ธันวาคม-กุมภาพันธ์

  • ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้งบ้านขุนวาง มีการปักผ้าม้ง และการทำการเกษตร

  • ชมวิถีชีวิตชาวปกาเกอญอ บ้านโป่งน้อย เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมความเป็นอยู่และมีบ้านพักแบบโฮมสเตยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานกรมการท่องเที่ยว จำนวน 5 หลัง บริการแก่นักท่องเที่ยว

  • เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผาดำ ระยะทางจากศูนย์ 2.5 กิโลเมตร มีไกด์ท้องถิ่นนำชม ระหว่างทางไกด์จะอธิบายให้ความรู้เรื่องพืชพรรณไม้ สมุนไพร ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในป่า

  • จุดชมวิวดอยผาแง่ม จุดชมวิวบนหน้าผา ระหว่างทางก็จะมีไกด์ท้องถิ่นให้ความรู้เรื่องพรรณไม้ ช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ จะมีดอกกุหลาบพันปีบานบริเวณลานผาแง่ม

 

กิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ

 

  • ชมและเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูง 2 ชนเผ่าม้งและปกาเกอะญอ รวมทั้งอุดหนุนสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ชม ชิม และเลือกซื้อผลผลิตสดๆ จากแปลงของเกษตรกร

  • เส้นทางเดินชมธรรมชาติดอยผาแง่ม น้ำตกตะเลโพ๊ะ ศึกษาพรรณไม้ป่า และมีจุดชมวิวภูเขาที่สวยงามเดือน ธันวาคม-กุมภาพันธ์ มีดอกกุหลาบพันปีบานที่ยอดดอยผาแง่ม

  • นักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นชมภายในศูนย์และรอบๆ ชุมชนได้

========x========

 

05

ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงปางอุ๋ง

 

 

     ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงปางอุ๋ง ก่อตั้งขึ้นบนพื้นที่ 10 ไร่ ในพ.ศ.2522 เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชให้เพียงพอแก่ความต้องการของคนในท้องถิ่น หาพันธุ์พืชชนิดใหม่ทดแทนฝิ่น ส่งเสริมการทำการเกษตรถาวร เน้นการปลูกไม้ผลเมืองหนาว ปลูกพืชระยะยาว และพัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้มีมาตรฐานทางสังคมที่ดีขึ้นนั่นเองค่ะ

       ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ครอบคลุม 45,930.88 ไร่ 17 หมู่บ้าน คนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้ง และกะเหรี่ยงค่ะ ซึ่งอยู่อาศัยก่อตั้งหมู่บ้านมานานกว่า 50 ปี ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีต้นน้ำสายสำคัญไหลผ่าน คือลำน้ำแม่หยอดและลำน้ำปางเกี๊ยะ อุณหภูมิเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส

 

 

ที่เที่ยวเชิงเกษตร

  • ชมแปลงปลูกมันฝรั่ง แครอท อะโวกาโด
  • ชมแปลงสาธิตกาแฟอาราบิก้า
  • ชมแปลงสาธิตองุ่นไร้เมล็ด
  • ชมแปลงสาธิตพืชผัก เช่น มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ฯลฯ
  • ชมไร่ลิ้นจี่นอกฤดูกาลของเกษตรกรในพื้นที่

 

ที่เที่ยวเชิงวัฒนธรรม

  • ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้ง บ้านม้งที่อยู่รวมกันประมาณร้อยกว่าคนในหลังเดียว
  • การละเล่นของชาวเขา เช่น ลูกข่างไม้ เป่าแคนม้ง โยนลูกช่วง ตีลูกข่าง ล้อเลื่อนไม้ ฯลฯ
  • ปีใหม่ม้ง จัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม
  • ปีใหม่กะเหรี่ยง จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์
  • พิธีกินข้าวใหม่ของชนเผ่ากะเหรี่ยง จัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม

 

 

ที่เที่ยวทางธรรมชาติ

 

  • เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติดอยหมื่อกาโด่ จุดชมวิวสูงจากระดับน้ำทะเล 1,927 เมตร เป็นเส้นทางชมกุหลาบพันปี พรรณไม้ป่า ดูนก เลียงผา และจุดชมวิวทะเลหมอก
  • ชมทุ่งดอกบัวตองที่ดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม อยู่ห่างจากที่ตั้งศูนย์ ประมาณ 40 กิโลเมตร โดยดอกบัวตองจะบานช่วงเดือนพฤศจิกายน
  • น้ำตกปางเกี๊ยะ เป็นน้ำตกขนาดเล็กมีธรรมชาติสวยงาม สามารถเล่นน้ำได้
  • ชมลูกช้างแฝดคู่ที่ 3 ของโลก และคู่ที่ 2 ของประเทศไทย

========x========

 

06

สถานีเกษตรหลวงปางดะ

 

 

      ในปี พ.ศ.2528-2529 มีการจัดตั้งศูนย์ขยายพันธุ์พืชปางดะโครงการหลวงขึ้น จนเมื่อถึงปี พ.ศ.2530 ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเยี่ยมศูนย์ขยายพันธุ์พืชปางดะโครงการหลวงเป็นครั้งแรก หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวงได้ทูลขอพระราชทานชื่อใหม่ว่า “สถานีเกษตรหลวงปางดะ” พร้อมกับได้ขยายพื้นที่เพิ่มเติมรวม 150 ไร่

     ปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงปางดะได้ขยายขอบเขตการปฏิบัติงาน เป็นสถานีวิจัยขยายพันธุ์พืชหลายชนิด นอกจากไม้ผลเมืองหนาว ไม้ดอกเมืองหนาว ไม้ผลเมืองร้อนและกึ่งร้อน ถั่วแขกและไม้ป่าไม้โตเร็ว

 

ที่เที่ยวภายในโครงการหลวง

 

  • แปลงวิจัยทดสอบสาธิตไม้ผล เช่น กีวี่ฟรุ๊ต โลควัท ไม้ผลขนาดเล็ก เช่น มะเดื่อฝรั่ง องุ่นไร้เมล็ด เสาวรส ราสพ์เบอรี่ มัลเบอรี่ และไม้ผลเขตร้อน เช่น อาโวคาโด้ มะม่วง ลิ้นจี่ มะเฟือง

  • แปลงวิจัยทดสอบสาธิตผัก เช่น มะระหัวใจ มันเทศญี่ปุ่น สลัดรวม ถั่วแขก

  • แปลงทดสอบพืชสมุนไพร เช่น จิงจูฉ่าย เลมอนทาร์ม เสจ หญ้าหวาน ชาหอม มิ้นต์

  • แปลงวิจัยทดสอบสาธิตไม้ดอก เช่น ยูโคมิส กอลิโอซ่า เฮลิโคเนีย ดอกกุหลาบสายพันธุ์ต่างๆ

  • แปลงทอดสอบไผ่หวาน ไผ่หยก และพืชนำเข้า เช่น ทับทิมเมล็ดนิ่ม เชอรี่สเปน

 

 

จุดท่องเที่ยวชุมชน

  • น้ำพุร้อนโป่งกว๋าว ที่บ้านโป่งกว๋าว มีน้ำพุร้อนธรรมชาติ ท่ามกลางหุบเขา มีบ่อแช่น้ำแร่ บ้านพัก และลานกางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว

 

กิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ

  • เส้นทางเดินชมสวน แปลงผัก นักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นชมรอบ ๆ บริเวณในสถานีฯ ได้

========x========

 

07

ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงตีนตก

 

 

      โครงการหลวงตีนตก เกิดขึ้นจากในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 300,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ในการก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ด และกาแฟพันธุ์อาราบิก้า

       ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก มีพื้นที่ประมาณ 21,656 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน คือ บ้านป๊อก แม่ลาย บ้านแม่กำปอง และบ้านธารทอง ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 15 องศาเซลเซียส จึงมีอากาศดีตลอดทั้งปีค่ะ

 

ที่เที่ยวภายในโครงการหลวง

 

  • มีมุมนั่งเล่นพักผ่อนริมสายธารน้ำ กิจกรรมให้อาหารปลา

  • ชมสวนกาแฟใต้ร่มเงาต้นไม้ ช่วงเดือนธันวาคม จะเห็นเมล็ดกาแฟสุกสีแดงสด พร้อมเก็บเกี่ยวส่งไปยังโรงงานแปรรูปในศูนย์ ผ่านขั้นตอนกะเทาะเปลือก ตากแห้ง และคั่ว ให้เป็นเมล็ดกาแฟคุณภาพ

  • โรงเรือนกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสหลากสีให้ชื่นชม

 

 

จุดท่องเที่ยวชุมชน

  • หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านแม่กำปอง ชมวิถีชีวิตชาวพื้นเมือง การทำสวนเมี่ยง หมัก-นึ่งเมี่ยงแบบดั้งเดิม และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ สวนสมุนไพร โดยสามารถติดต่อให้ไกด์ท้องถิ่นนำชมหมู่บ้านได้รับรองได้ว่าได้ทั้งความรู้และสนุก นอกจากนี้ยังมีที่พักแบบโฮมสเตย์ที่ได้รับรองมาตรฐาน บริการนักท่องเที่ยว ตลอดจนได้เรียนรู้เรื่องสมุนไพรพื้นถิ่น และชมขั้นตอนการทำหมอนใบชา

  • จุดชมวิวดอยม่อนล้าน ชมธรรมชาติป่าไม้ ต้นกฤษณา กล้วยไม้ป่า และจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งบานและทะเลหมอก ช่วงฤดูหนาว และเส้นทางนี้ยังเชื่อมไปถึงอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จ.ลำปาง

  • โบสถ์กลางน้ำ ในเชียงใหม่มี 2 แห่งคือที่ อ.แม่แจ่ม และที่วัดแม่กำปอง (วัดคันธาพฤกษา)

  • ยังมีวิหารที่ทำด้วยไม้สักทอง แกะสลักลวดลายวิจิตรงดงาม เป็นงานสถาปัตยกรรมที่สำคัญของชุมชน เป็นโบสถ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ทางศาสนา โดยปลูกไว้กลางน้ำและมีน้ำเป็นใบเสมา

 

กิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ

  • นักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นชมธรรมชาติตามเส้นทางลัดเลาะไปตามแนวเขา

========x========

 

08

ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงปังค่า

 

 

      โครงการหลวงปังค่าขึ้น ส่งเสริมให้ปลูกไม้ผลเมืองหนาว มีพื้นที่ 22,505 ไร่ ประกอบด้วยชาวเขาเผ่าเย้า และม้ง ลักษณะภูมิประเทศ เป็นเนินเขาและภูเขาสูง มีลำน้ำสายสำคัญ คือ ลำน้ำแม่คะ และลำน้ำเงิน

 

ที่เที่ยวภายในโครงการหลวง

  • ชมแปลงสาธิตการปลูกผักในโรงเรือน ได้แก่ พริกหวาน มะเขือเทศโทมัส คะน้อยอด คะน้าฮ่องกง เบบี้ฮ่องเต้ แปลงสาธิตการปลูกไม้ผล ได้แก่ เสาวรสหวาน แมคคาดีเมีย อะโวคาโด มะม่วงนวลคำ เคปกูสเบอรรี่

 

Yuttana Joe / Shutterstock.com

 

จุดท่องเที่ยวชุมชน

  • ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าเมี่ยน (เย้า) ที่บ้านปางค่าใต้ มีการฉลองปีใหม่เย้าตรงกับช่วงตรุษจีน ชาวบ้านจะแต่งกายชุดประจำเผ่า สวมเครื่องประดับเงินงดงามร่วมชุมนุมกัน มีการนำพาสปอร์ตที่ยาวที่สุดในโลก สมัยราชวงศ์กวางสีมาให้ชม ปัจจุบันมีการพิมพ์พาสปอร์ตจำลองไว้ที่อาคารวัฒนธรรมชุมชน

  • ชมวิถีชีวิตชนเผ่าม้งที่บ้านสิบสองพัฒนา

  • วนอุทยานภูลังกา เป็นภูเขาสูงชันอยู่ใน เทือกเขาสันปันน้ำ วางตัวอยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 900-1,720 เมตร มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง โดยสถานที่ท่องเที่ยววนอุทยานภูลังกาแห่งแรกที่คุณไม่ควรพลาดไปเยือน คือ “ภูเทวดา” เป็นยอดดอยที่สวยงาม ยอดดอยภูลังกา ภูนม ทุ่งดอกโคลงเคลง ลานหินล้านปี ป่าก่อโบราณ เป็นจุดชมทะเลเมฆหมอก ดวงอาทิตย์ขึ้นลงและดอกไม้ป่าสวยงาม โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว

========x========

 

09

ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงวัดจันทร์

 

 

      โครงการหลวงวัดจันทร์ มีพื้น 153,592 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 19 หมู่บ้าน และพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 หมู่บ้าน คนในพื้นที่เป็นชาวเขาเผ่าปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) และมีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ป่าสนและป่าเต็งรังขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ 

      จุดเด่นสำคัญของ อำเภอกัลยาณิวัฒนา คือ ที่นี่มีป่าสนธรรมชาติอันกว้างใหญ่กว่าแสนไร่ ถือเป็นป่าสนผืนใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ป่าสนแห่งนี้นักท่องเที่ยวจะรู้จักกันดีค่ะ นั่นก็คือ “ป่าสนวัดจันทร์” หรือ “ป่าสนบ้านวัดจันทร์” เพราะเป็นที่เที่ยวถ่ายรูปสวยๆ ในเชียงใหม่อีกแห่งที่ต้องไม่พลาด!

 

ที่เที่ยวภายในโครงการหลวง

 

  • ป่าสนธรรมชาติอายุกว่าร้อยปีบริเวณที่รอบๆ ศูนย์ฯ

  • แปลงสาธิตผัก แปลงผักของเกษตรกร เช่น ฟักทองมินิ ผักกาดขาว ซุกินี่ ไม้ผลเมืองหนาวตามฤดูกาล เช่น พลับ พลัมพีช

 

จุดท่องเที่ยวชุมชน

 

 

  • วัดจันทร์ เป็นวัดเก่าแก่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาได้กว่า 300 ปีแล้ว ซึ่งชื่อของวัดจันทร์ บ้านจันทร์นั้น ตามตำนานเชื่อว่ามาจากชื่อของ “นายจันทร์” (ตำนานหนึ่งว่าเป็นคนจากล้านนา อีกตำนานหนึ่งว่าเป็นคนพื้นที่ที่นี่) วัดจันทร์เป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุวัดจันทร์สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน ขณะที่วิหารของที่นี่นับว่าดูแปลกจากวิหารทั่วๆ ไป หลายคนเรียกวิหารหลังนี้ว่า “วิหารแว่นตาดำ” หรือ “วิหารเรย์แบน” เพราะเมืองมองจากด้านหน้าแล้วดูคล้ายมีแว่นตาขนาดใหญ่ สวมอยู่ ชมวิถีชีวิตชาวปกาเกอญอที่บ้านหล่อชอ

  • อ่างเก็บน้ำห้วยอ้อกรมชลประทานชมภูมิทัศน์โดยรอยป่าสนสวยงาม

  • น้ำตกห้วยฮ่อม ลักษณะเป็นกิ่วน้ำ ต้นกำเนิดลำน้ำแม่แจ่มและลำน้ำปาย

  • เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าสนวัดจันทร์ ผืนดินแห่งนี้ชาวกะเหรี่ยง มูเสคี (หมายถึงต้นน้ำแม่แจ่ม) ได้อาศัยมานับร้อยปีพวกเขาช่วยกันดูแลป่าอย่างดีตามธรรมเนียมกะเหรี่ยง เมื่อมีเด็กเกิดใหม่จะนำสะดือของเด็กไปผู้ไว้กับต้นไม้ กำหนดว่าเป็นต้นไม้ของครอบครัว ใครจะมาตัดไม่ได้ สนที่นี่เป็นสนเขาทั้งสองใบและสามใบ ขึ้นในเฉพาะที่สูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล

  • บ้านห้วยฮ่อม เครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนหล่อชอ เกิดจากการรวมตัวกัน 3 หมู่บ้าน คือ ห้วยฮ่อม บ้านดอยตุง และบ้านห้วยครก เป็นชนเผ่าปกาเกอญอ มีเรื่องราวชุมชนที่อยู่คู่กับธรรมชาติมีวิถีชีวิต อาหารการกินแบบดั้งเดิม ประเพณี วัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา เปิดให้นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน ทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านและมีโฮมสเตย์

 

 

กิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ

  • เดินป่าศึกษาธรรมชาติป่าสนวัดจันทร์สองใบสนสามใบ ป่าไผ่หกที่มีลำใหญ่ชาวบ้านนิยมมาสร้างบ้าน

  • การปั่นจักรยานสูดอากาศบริสุทธิ์รอบๆ ชุมชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมกับชาวเขา

========x========

 

10

ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม

 

 

       ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้ารับหมู่บานพระบาทห้วยต้มอยู่ในการดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง มีพื้นที่ประมาณ 24,631 ไร่ 9 หมู่บ้าน โดย 8 หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บริโภคอาหารมังสาวิรัติ ได้แก่ กะเหรี่ยงโปว์และกะเหรี่ยงสะกอ

 

ที่เที่ยวภายในโครงการหลวง

  • แปลงสาธิตการปลูกมะม่วง ช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน และเสาวรส มีผลผลิตตลอดปี

  • การปลูกองุ่นในโรงเรือน เดือน พฤษภาคม และ เดือนพฤศจิกายน แปลงปลูกผักตามฤดูกาล ได้แก่ มะระหยก มะระขาว พริกเม็กซิกันเผ็ด คะน้ายอด และการปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรือน

 

จุดท่องเที่ยวชุมชน

  • การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บริเวณวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ได้แก่ พระฐานที่ประทับพระสรีระทิพย์ของหลวงปู่ครูบาชัยวงศาพัฒนา รอยพระพุทธบาท น้ำบ่อทิพย์ ใจบ้าน พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย

  • ชมวิถีชีวิตชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ที่บ้านพระบาทห้วยต้ม การแต่งกายชุดพื้นบ้านปกาเกอะญอ เป็นชุดผ้าทอที่ทอด้วยกี่เอว และทอเป็นชุดยาวมีลวดลายที่สวยงามตามความถนัด แล้วตกแต่งด้วยพู่ให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นชุดสำหรับคนที่แต่งงานแล้วก็จะใส่ชุดแบบเป็นเสื้อครึ่งท่อนแล้วมีผ้าถุง ถ้าเป็นเด็กผู้ชายจะใส่กางเกงและใส่เสื้อสีแดงครึ่งท่อน บ้านน้ำบ่อน้อย ที่มีเอกลักษณ์เรียบง่ายชาวบ้านมีภูมิปัญญาการทำสร้อยจากกะลามะพร้าว

  • ประเพณีเปลี่ยนผ้าหลวงปู่ครูบาชัยยะวงษาพัฒนา ทุกวันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี จะมีพิธีเปลี่ยนผ้าให้กับหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาและทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน พิธีกรรมจะเริ่ม ตั้งแต่ วันที่ 15 -17 พฤษภาคมของทุกปี โดยพิธีเริ่มมาตั้งปี 2544 จนถึงปัจจุบัน

 

 

  • การทำบุญทอดกฐิน เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ จัดขึ้นหลังจากออกพรรษาของทุกปี โดยจะมีการทำต้นไทยทาน (ต่าบุ๊เด่อ ** ภาษากะเหรี่ยง) ขนาดใหญ่ที่สวยงามตามประเพณีของชนเผ่าปกาเกอญอ และนอกจากนั้นก็จะเป็นต้นไทยทานสำหรับห้อยแขวนเครื่องไทยทานที่ชาวบ้านร่วมกันนำมาทำบุญ ในวันแต่งดาและต้นเงิน ในตอนเช้าจะมีพิธีทำบุญตักบาตร ช่วงบ่ายชาวบ้านจะแต่งชุดประจำเผ่าอันสวยงามเข้าร่วมขบวน โดยมีพุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศ เข้าร่วมขบวนแห่ตุงธง ผ้าห่มองค์พระธาตุ และต้นไทยทานชาวปกาเกอญอจะเป็นผู้แบกหาม จากวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ไปตามถนนรอบหมู่บ้าน ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร และในบริเวณวัดมีการจัดโรงทานตลอดทั้งวัน เป็นอันเสร็จพิธี

  • การทำบุญตักบาตรทุกวันพระ ทุกวันพระจะมีการทำบุญตักบาตร และชุมชนแต่งกายชุดชนเผ่าอย่างพร้อมเพรียงในการเข้าวัด กิจกรรมใส่บาตร จะเริ่มเวลา 06.00-07.00 วิธีการทำบุญใส่บาตรของชาวบ้าน อาหารที่ใส่บาตรจะเป็นพืชผักผลไม้สดและอาหารเจ โดยทำการใส่บาตร ณ ศาลาตักบาตรวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ท่านที่ไม่ได้เตรียมอาหารเจ สามารถเลือกซื้อพืชผักผลไม้สด จากตลาดท้องถิ่นในทุกวันพระบริเวณหน้าวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

 

กิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ

  • การสรงน้ำพระธาตุ จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 (ประมาณเดือนมิถุนายน) ของทุกปี เป็นการขอขมารอยพระพุทธบาทและครูบาทุกพระองค์ ตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร และเวลา 13.00 น. จะทำพิธีสรงน้ำรอยพระพุทธบาท โดยจะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่ในรางไม้ไผ่ให้ไหลลงรอยพระพุทธบาทและสรงน้ำรูปปั้นจำลองพระเกจิอาจารย์ ส่วนชาวบ้านก็จะตักเอาน้ำจากรอยพระพุทธบาทและน้ำที่ได้จากการสรงครูบาทุกพระองค์ นำไปพรมศีรษะเป็นน้ำพระพุทธมนต์และนำกลับบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว

  • ทำบุญตักบาตร ไหว้พระและเวียนเทียน ในวันสำคัญ เช่น วันพระ เข้าพรรษา ออกพรรษา ทำบุญทอดกฐิน

  • เปลี่ยนผ้าครูบา ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม และพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย

  • ชมการสร้างบ้านแบบโบราณและวิถีชีวิต ณ บ้านโบราณน้ำบ่อน้อย เรียนรู้งานด้านหัตถกรรม การปลูกฝ้าย ปั่นฝ้าย การย้อมสี การทอผ้า และการจักสานไม้ไผ่ กิจกรรมนำชมหรือแนะนำการท่องเที่ยว และกิจกรรมการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นประวัติชุมชน การตั้งถิ่นฐาน (ให้ข้อมูลชุมชนโดย มัคคุเทศก์ท้องถิ่น)

========x========

 

11

ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงม่อนเงาะ

 

 

       ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงม่อนเงาะ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง มีพื้นที่ 17 หมู่บ้าน 52,670 ไร่ ประกอบด้วยคนพื้นเมืองและเผ่าม้ง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาและภูเขาสลับซับซ้อน อุณหภูมิเฉลี่ย 24 องศาเซลเซียส อากาศดีตลอดปี

 

ที่เที่ยวภายในโครงการหลวง

  • แปลงส่งเสริมไม้ดอกศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ได้แก่ แปลงปลูกดอกซิมบิเดี้ยม กล้วยไม้รองเท้านารี กล้วยไม้ฟ้ามุ้ย ไม้ใบวานิลลา บ้านสามสบ บ้านเมืองก๋าย บ้านม่อนเงาะ

  • แปลงส่งเสริมปลูกพืชผัก ได้แก่ ฟักทองญี่ปุ่น หอมญี่ปุ่น กระเทียมต้น กะหล่ำหัวใจ บ้านผาหมอน (กิ่วป่าหอบ)

  • แปลงปลูกชาจีน กาแฟ บ้านปงตอง บ้านออบ บ้านก๋ายน้อย และบ้านเมืองก๋าย

  • แปลงปลูกไม้ผล บ้านกิ่วป่าหอบ บ้านม่อนเงาะ บ้านเมืองก๋าย บ้านออบ บ้านเหล่า-ห้วยน้ำเย็น และบ้านสบก๋าย

 

 

จุดท่องเที่ยวชุมชน

 

  • หมู่บ้านเหล่าพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว ชมวิถีชีวิตชาวพื้นเมือง การเก็บใบมี่ยง หมักเมี่ยง แบบภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม เพราะคนเหนือที่สูบบุหรี่ขี้โยจะกินเมี่ยงเพื่อลดความฉุนของยาสูบ จนกลายเป็นธรรมเนียมในสมัยก่อน เวลาไปเยี่ยมบ้านใครจะมีถาดเมี่ยงไว้ต้อนรับ

  • จุดชมวิวดอยม่อนเงาะ จากลานจอดรถเดินเท้าไปอีก 300 เมตรก็จะพบกับวิวสวยงามของชั้นเขาแบบ 360 องศา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,400 เมตรเป็นจุดชมวิวพระอาทิพย์ขึ้น-ตก วิวทะเลหมอกที่สวยงาม หน้าผามีหินงอกออกมาลักษณะคล้ายนางเงือก ชาวบ้านเรียกกันว่าเงือกผา

  • หมู่บ้านม้งม่อนเงาะ ชมอดีตบ้านชาวเขาเผ่าม้งที่มีผมยาวที่สุดในโลก ได้บันทึกในกินเนสบุ๊ค ด้วยความยาว 5 เมตร สาเหตุที่ต้องไว้ผมยาวเพราะว่าเคยตัดผมแล้วทำให้เจ็บป่วย จึงไว้ผมยาวตลอด

  • ไร่ชาสวนลุงเดช เกษตรกรดีเด่นที่ปลูกชาจีนและทำการเกษตรแบบผสมผสาน เรียนรู้ขั้นตอนการปลูกชา ชิมชา

  • หมู่บ้านสบก๋าย หมู่บ้านท่ามกลางป่าเขาสายน้ำ เป็นจุดล่องแพยาง แพไม้ไผ่ในลำน้ำแม่แตงชมวิวธรรมชาติป่าเขาลัดเลาะโขดหิน ระยะทาง 4 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ติดต่อล่องแพได้ที่ 08-9433-7880

 

 

กิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ

  • เดินชมธรรมชาติเส้นทางศึกษาธรรมชาติต่างๆ มีไกด์ท้องถิ่นพานำชม
  • การปั่นจักยานโดยนักท่องเที่ยวนำจักรยานมาปั่นได้ผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ทางขึ้นลงเนินเป็นการออกกำลังกาย
  • ล่องแพที่บ้านสบก๋าย

========x========

 

12

ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงผาตั้ง

 

 

       เดิมเป็นหน่วยย่อยของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง แล้วแยกออกมาก่อตั้งเป็น ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงผาตั้ง เดือนเมษายน พ.ศ. 2550 บริเวณหมู่บ้านผาตั้ง บนเทือกดอยผาหม่น แนวแบ่งเขตไทยกับลาว มีพื้นที่6,471 ไร่ ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน 

 

 

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

  • ชมแปลงผลสดของศูนย์ฯ และเกษตรกร เช่น บล็อคโคลี แรดิชชิโอ ถั่วลันเตาหวาน กะหล่ำม่วง ฯลฯ
  • ชมแปลงไม้ผล เช่น พีช พลับ บ๊วย เคปกูสเบอร์รี่ ฯลฯ
  • ศูนย์ส่งเสริมเกษตรที่สูงดอยผาหม่น ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของเชียงรายเพราะมีการปลูกดอกไม้เมืองหนาวสวยๆ ให้ชมอย่าง ทิวลิป และลิลลี่

 

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

  • ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้ง จีนยูนนาน เย้า
  • ประเพณีปีใหม่ม้ง
  • ประเพณีตรุษจีนของเย้าและจีนยูนนาน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

 

 

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

  • ดอยผาตั้ง สูงจากระดับน้ำทะเล 1,800 เมตร เป็นจุดชมวิว ไทย-ลาว เป็นที่ชมทะเลหมอก และช่วงเดือนมกราคมจะมีต้นนางพญาเสือโคร่ง (ซากุระดอย) สีชมพูบานเต็มต้นตลอดสองข้างทาง

  • จุดชมวิวผาบ่อง (ประตูสยาม) โพรงหน้าผาเป็นรูขนาดใหญ่ นักท่องเที่ยวสามารถเดินผ่านไปได้ ซึ่งจะเห็นวิวที่ราบและเทือกเขาของประเทศลาว

========x========

 

13

ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงขุนแปะ

 

 

        ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงขุนแปะ ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2527 เพื่อช่วยเหลือชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง ให้ได้รับการดูแลในด้านสาธารณูปโภคที่เพียงพอ ลดปัญหาการบุกรุกป่าทำไร่เลื่อนลอย และขจัดปัญหาการปลูกฝิ่น ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านจำนวน 14 หมู่บ้าน

 

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

  • ชมแปลงส่งเสริมผลผลิต เช่น พลับ อะโวกาโด ดอกไฮเดรนเยีย สมุนไพร และพืชไร่
  • ชมนาขั้นบันไดของชาวกะเหรี่ยง เป็นที่กว้างลดหลั่นตามความสูง

 

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

  • ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้งและกะเหรี่ยง การละเล่นช่วงเทศกาล
  • ปีใหม่ม้ง
  • การทอผ้าของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวเขา การปักลวดลายและเครื่องประดับ
  • การนวดสมุนไพรของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง

 

 

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

  • น้ำตกขุนแปะ เป็นที่พักผ่อนเล่นน้ำ มีธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จึงได้รับฉายาว่า น้ำตกแห่งแสงสว่าง

  • น้ำตกห้วยขี้เหล็ก อยู่ในป่าลึก เป็นแหล่งอาศัยของตัวซาลามานเดอร์ และเขียดแลวที่หายาก

  • ถ้ำป่ากล้วย ตั้งอยู่เหนือน้ำตกขุนแปะ บริเวณรอบๆ เป็นป่าโปร่ง มีทิวทัศน์สวยงาม

  • เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ เส้นทางโครงการหลวงขุนแปะ-ผาขาว และเส้นทางโครงการหลวงขุนแปะ-ดอยอมติง นำเที่ยวชมโดยไกด์ท้องถิ่นเป็นชาวบ้านที่มีความชำนาญเส้นทาง
  • ผาขาว ผาแตก เป็นผาจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม

========x========

 

14

ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงแม่โถ

 

 

      ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ ตั้งอยู่บนภูเขาสลับซับซ้อนทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ มีพื้นที่ 53,433.59 ไร่ ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน ในอำเภอฮอดและอำเภอแม่แจ่ม และมีอุณหภูมิเฉลี่ย 19.5 องศาเซลเซียส อากาศดี

 

ที่เที่ยวภายในโครงการหลวง

  • แปลงสาธิตผัก เช่น คอสสลัด เบบี้คอส โอ๊คลีฟเขียว ที่ปลูกในโรงเรือนไม้ไผ่ ไม้ผล เช่น อาโวคาโด ไม้ดอก เช่น อัลสโตมีเรีย และสมุนไพร ตามฤดูกาล

  • ศูนย์เรียนรู้สหกรณ์สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่โถ จำกัด และสถานที่ภายในศูนย์

 

 

จุดท่องเที่ยวชุมชน

  • น้ำตกแม่แอบ มีความสูงประมาณ 30 เมตร ห่างจากที่ทำการศูนย์ 1 กิโลเมตร
  • จุดชมวิว 360 ดอยแม่โถ

 

กิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ

  • เดินป่าศึกษาธรรมชาติ พืชพรรณและน้ำตก ศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชาวเขา ประเพณีของชาวกะเหรี่ยง ประเพณีมัดมือ การละเล่น และการแต่งกายด้วยชุดชมเผ่าที่สวยงาม บ้านแม่โถ ชาวบ้านมีการทอผ้าปกาเกญอที่มีลวดลายสวยงาม

========x========

 

15

ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงแม่ลาน้อย

 

 

      ในปี พ.ศ. 2523 ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงแม่ลาน้อย ได้ก่อตั้งขึ้น โดยใช้พื้นที่บ้านดงเป็นที่ทำการ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยทอดพระเนตรเห็นพื้นที่แล้ว ประกอบกับเป็นที่ตั้งของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (สมเด็จย่าฯ ทรงก่อตั้งขึ้นในนามของสมาคมศิษย์เก่าสิริราชพยาบาล เมื่อปี พ.ศ. 2516) ซึ่งเป็นศูนย์กลางพัฒนาการศึกษาแก่เยาวชนในท้องถิ่น มีพื้นที่ 57,368 ไร่ ครอบคลุม 14 หมู่บ้าน ประกอบด้วยชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่าลั๊วะ

 

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

 

  • ชมแปลงกาแฟอาราบิก้า พร้อมชิมกาแฟสดรสดีผลิตภัณฑ์คุณภาพจากบ้านห้วยห้อม สวนกาแฟที่ได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร ส่งจำหน่ายให้กับโครงการหลวง และสตาร์บัคส์

  • ชมวิวความสวยงามของนาข้าวแบบขั้นบันได ระหว่างทางก่อนถึงศูนย์

  • ชมการทอผ้าขนแกะของกลุ่มแม่บ้านห้วยห้อม มีทั้งผ้าทอขนแกะล้วน และผ้าทอขนแกะผสมฝ้ายที่ย้อมสีจากธรรมชาติ ติดต่อ นางมะลิวรรณ นักรบไพร 08-9555-3900

 

 

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

  • ชมวัฒนธรรมและประเพณีการไหว้ผีหมู่บ้าน จัดในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี

  • พิธีกรรมเซ่นไหว้เจ้าที่เพื่อการเกษตรให้ผลผลิตที่ดี จะเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยว

  • การเรียกขวัญและผูกด้ายขวัญ พิธีนี้กระทำขึ้นในหลายโอกาส อาทิ ขึ้นปีใหม่ แต่งงาน รับขวัญเด็กแรกเกิด

 

 

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

 

  • น้ำตกทีราชันย์ น้ำตกขนาดกลาง สูง 3 ชั้น ระยะทางห่างจากศูนย์ฯ 6 กิโลเมตร

  • น้ำตกในเขตบ้านดงใหม่ สูง 5 ชั้น หนทางค่อนข้างลำบากจึงควรติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อน

  • น้ำตกทีลอเล สูง 5 ชั้น ระยะทางจากศูนย์ฯ 15 กิโลเมตร เดินเท้าต่ออีก 3 กิโลเมตร เหมาะสำหรับการเดินชมธรรมชาติ พรรณไม้ป่า

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และภาพจาก ท่องเที่ยวโครงการหลวง