รีเซต

10 วิธีเอาตัวรอด เมื่อเจอ ช้างป่า ต้องทำยังไง วิธีปฏิบัติเมื่อพบช้างป่า

10 วิธีเอาตัวรอด เมื่อเจอ ช้างป่า ต้องทำยังไง วิธีปฏิบัติเมื่อพบช้างป่า
เอิงเอย
2 มกราคม 2567 ( 10:57 )
29K
8

      เวลาเราไปท่องเที่ยวตาม อุทยานแห่งชาติ ต่างๆ จึงมักจะเจอกับสัตว์ป่าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ลิง เม่น กวาง และ ช้างป่า เราจึงมี วิธีเอาตัวรอด เมื่อเจอ ช้างป่า วิธีปฏิบัติเมื่อพบช้างป่า มาบอกกันค่ะ ไปเที่ยว เจอช้าง ต้องทำไง จะขับรถไปต่อหรือหยุด วันนี้เรามีมาฝากกันค่ะ

 

วิธีปฏิบัติเมื่อเจอช้างป่า เจอช้างป่า ต้องทำไง

อารมณ์ของช้าง

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนค่ะว่า ช้างอยู่ในอารมณ์ไหน ?

      ช้างอารมณ์ดี : หูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่ง และใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา ปกติช้างจะวิ่งไล่ผู้รบกวนเป็นระยะทางสั้นๆ เพียง 2-3 ครั้ง หากวิ่งตามผู้รบกวนไม่ทันก็จะเลิกวิ่งไล่ไปเอง และช้างอารมณ์ดีจะไม่ทำร้าย ถึงรถจะวิ่งเข้ามาใกล้ก็ตาม

      ช้างอารมณ์ไม่ดี : หูจะตั้งกาง ไม่สะบัดหาง งวงจะนิ่งแข็ง และอยู่นิ่งจ้องมองมาทางเรา เหมือนจะพุ่งเข้าชาร์จ แต่หากช้างโกรธ หรือไม่ไว้ใจสิ่งใด เช่น ช้างแม่ลูกอ่อน อาจตรงเข้าทำร้ายผู้รบกวนได้ถึงแม้จะอยู่ในระยะไกล 

 

jack-sooksan / Shutterstock.com

 

วิธีเอาตัวรอดเมื่อเจอช้างป่า 

 

       1. หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 30 เมตร หากช้างเดินเข้าหา ให้เคลื่อนรถหนี รอจนกว่าช้างจะหลบจากถนน จึงเคลื่อนรถผ่านไป

       2. อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธ และตรงเข้ามาหาเราได้

       3. งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจ และตรงเข้ามาทำร้ายได้

       4. ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที

       5. หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก

 

เจอช้างป่า ต้องทำยังไง วิธีปฏิบัติเมื่อพบช้างป่า

 

       6. เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติ หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟสูง แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์ และปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อยๆ เคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด

       หมายเหตุ ไฟสูงเปิดได้ ในกรณีที่เราอยู่ห่างจากช้างป่ามากกว่า 50 เมตรขึ้นไป เพราะจะทำให้ช้างรู้ตัวว่ามีรถมา ไม่ตกใจ และเดินหลบเข้าข้างทาง ถ้าเปิดไฟสูงระยะใกล้กว่านี้แสงจะแยงตา ช้างตกใจได้

      7. ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายแทนรถของคุณได้

 

jack-sooksan / Shutterstock.com

 

      8. ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้ เพราะอาจทำให้คุณวิ่งหนีขึ้นรถไม่ทัน ควรระลึกอยู่เสมอๆ ว่า โดยทั่วไปช้างมักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือโขลง ขณะที่คุณเจอช้างเพียงตัวเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีช้างตัวอื่นๆ อยู่ในบริเวณนั้น โขลงช้างอาจจะกระจายกันหากินอยู่ในบริเวณป่าข้างๆ ทางนั้นก็เป็นได้

      9. ประสาทสัมผัสของช้าง ที่ดีที่สุดคือ หู จมูก และตา ถ้าดับเครื่องยนต์ ช้างจะเข้าใกล้เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น นั่นคือการดม ดู และสัมผัส ซึ่งนั่นหมายถึง ช้างเข้ามาหาคุณแล้ว เค้าแค่แตะๆ แต่ด้วยกำลังมหาศาล รถคุณก็บาดเจ็บได้

      10. สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง เมื่อรถจอดเรียงกันบนถนน ไม่ว่าคันที่อยู่ใกล้ช้างหรืออยู่ไกลช้าง ก็ล้วนเป็นผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น ดังนั้นหากรถคันหน้าเปิดไฟถอย รถคันข้างหลังถัดไปก็ต้องถอยรถอย่างมีสติ 

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช