รีเซต

ศรัณย์ บุญประเสิรฐ...AEC ถึงตอนนี้เรารู้อะไรเกี่ยวกับ (ประเทศ) เพื่อนบ้านบ้าง?

ศรัณย์ บุญประเสิรฐ...AEC ถึงตอนนี้เรารู้อะไรเกี่ยวกับ (ประเทศ) เพื่อนบ้านบ้าง?
23 มกราคม 2556 ( 10:18 )
9.9K

     

    

บ่ายแก่ของวันทำงานวันสุดท้ายปลายสัปดาห์ที่แล้ว สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ ได้จัดเปิดตัวหนังสือ  “ท่องแดนอาเซียน”  อย่างเป็นทางการ  (หมายเหตุ ท่านสามารถอ่านรายละเอียดรีวิวหนังสือได้ที่ลิงค์ 2 เล่มสนุกพาตะลุยอาเซียนเพียงพลิกหน้ากระดาษ นำเที่ยวโดยอักษรจากนักเดินทางมืออาชีพ”  http://travel.truelife.com/detail/2196115 ) ที่ร้านกาแฟสุดเก๋ Coffee Model ประดิพัทธ์


โดยในงานนี้ ที่น่าสนใจยิ่ง คือการเปิดวงเสวนา ในหัวข้อ “ความจริงอาเซียน : มองอดีต ผ่านปัจจุบัน เพื่อร่วมกันสร้างมิตรภาพยั่งยืน” ผ่านมุมมองของนักเดินทาง… “ศรัณย์ บุญประเสริฐ”  นักเขียนผู้ชำนาญการอุษาคเนย์ เจ้าของคู่มือนำเที่ยว “หลวงพระบาง” และ “นครวัด นครธม”- ผู้เขียนเรื่อง “บรูไน : บ้านเมือง น้ำมัน ทองคำ และผู้คน”  ร่วมด้วย “ปารวี ไพบูลย์ยิ่ง” นักเขียน ผู้เขียนเรื่อง “เมืองหลากอารมณ์ที่มาเลเซีย”  , “ปิยะลักษณ์ นาคะโยธิน” เจ้าของเรื่อง “จากมาเลเซียถึงปาลาวัน”   ที่มาพร้อมกับ “ประสาน อิงคนันท์” โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการ “คนค้นคน” และ กลศ เอี่ยมอรุณ หัวหน้ากองบรรณาธิการสารคดี สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์…

 

    ในวงเสวนานี้ มีความน่าสนใจยิ่งในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติของวิทยากรรับเชิญต่อหนังสือท่องแดนอาเซียน ในฐานะนักเขียนและผู้จัดทำโดยตรง และในฐานะของนักเดินทางผู้เชี่ยวชาญภูมิภาคแถบนี้ จนเอาไม่ได้ที่จะนำมาแบ่งปันให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงทัศนคติและมุมมองอันน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งครับ

    แม้ไม่ได้เที่ยวครบทุกประเทศที่เป็นภาคีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่นักเขียนผู้เข้าร่วมวงเสวนานี้ก็ไปเยือนมาในระดับที่ “เกือบจะครบ” ดังนั้นภาพที่แต่ละคนพบเห็นและนำมาถ่ายทอด เปรียบเทียบ ล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่เชื่อว่า น่าจะถูกใจและเป็นเรื่องในความสนใจของบรรดาคอนักเดินทางทั้งหลาย

    และแม้จะรับผิดชอบเขียนเรื่องราวการเดินทางในประเทศมาเลเซีย แต่ “พี่แก้ว” ปารวี ไพบูลย์ยิ่ง กลับแสดงความประทับใจเมื่อครั้งเธอไปเยือนประเทศพม่า โดยเฉพาะในแง่มุมของความมีไมตรีจิตที่คนพม่ามีต่อคนไทย ที่มีมากเหนือความคาดหมาย ซึ่งต่างจากคนไทยที่มองคนพม่าด้วยสายตาที่สวมแว่นที่เรียกว่า “อคติในเชิงประวัติศาสตร์”

    “ประทับใจมาก คนพม่าส่วนใหญ่เท่าที่พบ มีน้ำใจต่อชาวไทยมาก ซึ่งต่างกับคนไทยส่วนใหญ่ที่มองคนพม่า กระทั่งเวลากลับดึกๆ เปลี่ยวๆ จากซูเปอร์มาเก็ตก็ไม่ได้รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เป็นประเทศที่ค่อนข้างจะเฟรนด์ลี่เลยทีเดียว และที่ประทับใจเป็นพิเศษคือความเป็นพุทธศาสนิกชนของพม่า ศาสนาพุทธของคนพม่าไม่ได้เป็นเพียงศาสนา แต่เป็นวิถีชีวิต การสักการะ ความเคารพ ความเชื่อ ความศรัทธา กลมกลืนเป็นวิถีชีวิตของเขาไปแล้ว ในขณะที่คนไทยบางคนไปไหว้ชเวดากองแล้วมองว่านี่คือทองอยุธยา แต่คนพม่ากราบไหว้ บูชา เคารพนับถือแบบธรรมชาติมาก เด็กเล็กๆ มาถึงก้มกราบสวดอิติปิโสได้ คนที่นี่เวลามาไหว้ชเวดากองจะเงียบและไม่รบกวนคนอื่น ไม่ว่าจะคนพม่าหรือนักท่องเที่ยว บรรยากาศการกราบไหว้หรือนั่งสมาธิเรียบลื่นไหลเป็นธรรมชาติ ไม่ได้เหมือนเป็นเพียงศาสนา แต่นี่คือวิถีพุทธแบบพม่า ที่อยู่ในวิถีชีวิตของเขา”

   

 

  

 

ในขณะที่นักเขียนผู้รับผิดชอบเขียนเรื่องประเทศที่ไม่ค่อยจะเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวไทยนักอย่าง “ฟิลิปปินส์” – พี่เปี๊ยก “ปิยะลักษณ์ นาคะโยธิน” เปิดความความฉงนฉงายของตัวเองอย่างไม่ปิดบังว่า ฟิลิปปินส์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าเที่ยว ทว่าค่อนข้างจะเป็นประเทศที่ “ตกสำรวจ” ของบรรดาบริษัททัวร์ที่ไม่ค่อยมีที่ไหนปักหมุดจุดหมายปลายทางที่ดินแดน ตากาล็อกนี้

 

 “โดยมากคนส่วนใหญ่จะมองว่ามะนิลาเป็นเมืองวุ่นวาย ฟิลิปปินส์ดูจะไม่ค่อยปลอดภัย คนไม่ค่อยเที่ยวฟิลิปปินส์ บริษัททัวร์ไม่ค่อยจัดทริปไปสักเท่าไหร่ แต่พอไปสัมผัสจริงๆ คิดว่าเราควรแยกแยะการรับรู้ข่าวสารให้มากขึ้น เพราะจริงๆ คนฟิลิปปินส์เป็นมิตรกับคนไทย ตลอดทางที่ไปได้รับน้ำใจและการต้อนรับเป็นอย่างดี ในหนังสือท่องแดนอาเซียนเขียนเรื่องปาลาวัน ปาลาวันเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดเกาะหนึ่งของฟิลิปปินส์ โดยธรรมชาติเกาะของเขาก็ไม่ต่างจากบ้านเรามาก แต่ที่น่าทึ่งคือ คนบ้านเขาเที่ยวปาลาวันกันมานาน นักท่องเที่ยวจากหลายประเทศก็ไปเที่ยว อาจจะพอๆ กับที่เราเปิดกระบี่ ภูเก็ต สมุย เป็นเมืองท่องเที่ยวต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่เขาอนุรักษ์เอาไว้ได้ดีมาก สวยมาก สะอาดมาก ต้นไม้เขียวครึ้มไปทั้งเกาะ อันนี้ต่างหากที่เราควรเรียนรู้ว่าเขารักษาของเขาไว้ได้อย่างไร”

    อย่างไรก็ตาม นักเขียนสาวร่างเล็กสุดทะมัดทะแมงคนนี้ ยังได้ให้ข้อคิดดีๆ เอาไว้ด้วยว่า…สำหรับเธอแล้ว การเดินทางคือการลดอัตตาตัวเอง หลายครั้งที่เรามักจะสถาปนาเราและประเทศเพื่อนบ้านให้เป็น “พี่น้อง” แต่ปัญหามันอยู่ที่ “ใครจะเป็นพี่ ใครจะเป็นน้อง” แต่การเดินทางสอนให้รู้ว่า…”เราควรจะเป็นเพื่อนกันดีกว่า”

 

 

 

    ในขณะที่พี่ศรัณย์ บุญประเสิรฐ ให้ความเห็นไว้อย่างน่าคิดตามว่า การรับรู้ต่อประเทศเพื่อนบ้าน จากการรับสื่อต่างๆ เป็นการรับข้อมูลเพียงด้านเดียว แต่ถ้าหากจะต้องการเรียนรู้ให้ลึกซึ้ง…สองขาต้องเดินทางไปเยือน เพื่อให้สองตาของเรามองเห็นของจริง และให้หัวใจได้สัมผัสเองถึงจะรู้ได้อย่างแจ่มแจ้งลึกซึ้ง

 

    “ประวัติศาสตร์เองก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสียทั้งหมด ไม่มีใครรู้เห็นหรือเกิดทันเหตุการณ์ในยุคก่อนกันสักคน จะให้รู้ให้เห็นจริงต้องเดินทางไปเห็นเอง ไปสัมผัสเอง ที่สำคัญอีกสองปี ประเทศภาคีก็จะเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์และเป็นทางการแล้ว แต่ผมว่าขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านรู้เรามากกว่าที่เรารู้เขา หลายประเทศตามแฟชั่นไทย ตามค่านิยมไทย ฟังเพลงไทย ดูโทรทัศน์ไทย แต่เรารู้เขาน้อยมาก ตอนนี้พม่าเรียนภาษาไทยกันเยอะ เรียนให้ทราบนิดว่าเวลาไปพม่า ควรระมัดระวังเวลาพูดอะไรสักนิด เพราะส่วนใหญ่เขาเริ่มจะฟังภาษาไทยกันได้เยอะ เป็นเช่นนี้แล้วอยากจะตั้งคำถามเหมือนกัน จะเข้า AEC แล้ว เรารู้อะไรเกี่ยวกับเขาบ้าง?”

 

 


  

 

 และปิดท้ายเอาไว้อย่างคมคายทีเดียว จากปากคำของนักเขียนผู้ชำนาญการอุษาคเนย์รายนี้ ที่ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า AEC จะสำเร็จได้คือเราต้องรู้จักประเทศเพื่อนบ้านอย่างถ่องแท้และไว้เนื่อเชื่อใจเพื่อนบ้าน ซึ่งการจะไว้ใจประเทศเพื่อนบ้านได้ก็ต้องมาจากการรู้จักแบบรู้เขารู้เขาอย่างลึกซึ้ง

 

    “จะค้าขายกับเขาแบบปลอดกำแพงภาษีตามนโยบาย AEC แต่ถ้าไม่รู้จัก ไม่ไว้ใจ หันหลังให้ก็หลังพรุน ปัญหาคือเขารู้เราเยอะ แต่เราไม่รู้เขา…เรารู้อะไรเขาบ้าง ประเทศเพื่อนบ้านเห็นไทยพัฒนา ล้ำสมัย ก็ตามแฟชั่นไทย ดูละครไทย เกมส์โชว์ไทย หนังไทย ฟังเพลงไทย เรียนภาษาไทย ทำให้เขารู้เรามาก ในขณะที่เราบางส่วนมองว่าเราเดินไปได้เร็วกว่า ก็ไม่ได้เรียนรู้เขา คนไทยติดรากตัวเองมา 70-80 ปี บอกว่าเมืองไทยเมืองพุทธ แต่ผมถูกถามบ่อยมากเวลาไปชเวดากองว่านี่ทองอยุธยาใช่ไหม ในขณะที่วิถีพุทธอยู่ในวิถีเรียบง่ายของคนพม่า บอกว่าเมืองไทยเป็นเมืองยิ้ม แลนด์ออฟสไมล์ ยิ้มแบบนี้มีเฉพาะคนไทยเท่านั้น หรือวัฒนธรรมไทย ประเพณีไทย ความเป็นไทย แต่จริงๆ แล้ว แปลกไหมครับ คนลาวเขายังนุ่งซิ่น โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเขายังใช้ซิ่นเป็นเครื่องแบบ มีบ้างที่นุ่งกางเกงอย่างไทย แต่การนุ่งซิ่นอันเป็นชุดประจำชาติยังคงเป็นที่นิยมและนุ่งอย่างแพร่หลาย คนในประเทศที่นับถือมุสลิมอย่างบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ยังคงแต่งชุดประจำชาติเขาเป็นปกติ คนเวียดนามใส่อ๋าวหญ่ายออกจากบ้านได้ หรือแม้กระทั่งคนญี่ปุ่นเองขนาดเขาถูกฝรั่งเอาเรือปืนมาปิดน่านน้ำบังคับให้เปิดประเทศ พอเขาพ้นช่วงนั้นมาได้เขาก็กลับไปใส่กิโมโน การใส่กิโมโนบ้านเขาเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเด็กไทยใส่ชุดไทยออกจากบ้าน กลายเป็นว่า หนูจะไปงานแฟนซีที่ไหน เป็นอย่างนั้นไป เราอาจจะเป็นประเทศเดียวในแถบนี้ก็ได้ ที่ไม่ได้เสียเอกราช ไม่ได้เป็นเมืองขึ้น ไม่ได้ถูกบังคับ แต่เรายินดีและเต็มใจที่จะเปิดเองในแง่นี้” พี่ศรัณย์ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดต่อ